7 เมษายน 53 วันอนามัยโลก
วันเริ่มต้นสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง
วันนี้ (30 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวเนื่องในวันอนามัยโลกปี 2553 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วได้กลายเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ของโลก ปัจจุบันพบว่า ประชากรทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีมากกว่าร้อยละ 50 หรือประมาณ 3,300 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 67 หรือประมาณ 5,000 ล้านคน ในปี พ.ศ.2573 สำหรับประเทศไทยพบว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประมาณร้อยละ 36 ของประชากรทั้งประเทศหรือประมาณ 22 ล้านคน โดยคาดว่า ในปี พ.ศ.2563 หรืออีก 10 ปี ข้างหน้าประชากรในเขตเมืองจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นร้อยละ 38 หรือประมาณ 25 ล้านคน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งประกอบอาชีพของประชากรจากชนบทเข้าสู่เมืองซึ่งมีมากถึงร้อยละ 31.13 (ข้อมูลปี พ.ศ.2543)
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ความเป็นเมืองยังทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมัยใหม่ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อที่เป็นโรคเรื้อรัง เพราะการดำเนินชีวิตในสังคมเมืองทำให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ขาดการออกกำลังกาย บริโภคอาหาร ที่ไม่มีประโยชน์ก่อให้เกิดโรคอ้วน และโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไมเกรน และโรคเครียด เป็นต้น นอกจากนี้ รายงานของหน่วยงานด้านที่อยู่อาศัยขององค์การสหประชาชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลก (joint. unabitat-who report) ยังได้มีการนำเสนอข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เชื่อมโยงความเป็นเมืองกับสุขภาพทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคว่า
ยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวยและปราศจากการวางแผนจัดการเมืองคนจนในเมืองจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจากจากโรคไม่ติดต่อชนิดเรื้อรังและโรคติดต่อหลายชนิด เช่น วัณโรค และโรคเอดส์ เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสุขภาพ รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความรุนแรงในสถานการณ์แวดล้อมแบบเมือง แนวโน้มนี้มีความชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมืองสามารถกำหนดผลต่อสุขภาพของประชาชนในเขตเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำกับการสุขาภิบาล คุณภาพอากาศ คุณภาพชีวิตและการทำงาน การเข้าถึงบริการและทรัพยากรอื่นๆ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ การเลือกซื้อ เลือกบริโภคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาดังกล่าว และถือเป็นความท้าทายทางสุขภาพที่สัมพันธ์กับการเป็นเมือง ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการวางแผนด้านนโยบาย จึงได้กำหนดให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนเขตเมือง เป็นนโยบายด้านสาธารณสุขเพื่อเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเขตเมือง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ประกอบกับในปี 2553 นี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความเป็นเมืองกับสุขภาพ และได้มีเป้าหมายเพื่อการรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับเมืองต่างๆ ทั่วโลก มีการจัดการเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ส่งเสริมให้ทั้งเมืองและบุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการขับเคลื่อนการจัดการเมือง เป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อการเรียนรู้สำหรับบุคคลและเมืองต่างๆ ทั่วโลก “ความเป็นเมืองกับสุขภาพ” จึงถูกคัดเลือกให้เป็นแนวทางการดำเนินงาน
สำหรับวันอนามัยโลก ประจำปี 2553 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7 เมษายน นี้ ภายใต้หัวข้อ “ความเป็นเมือง : ความท้าทายของการสาธารณสุขเป็นการเริ่มต้นประกาศถึงความจำเป็นในการนำเรื่องการจัดการเมืองเข้าสู่นโยบายสาธารณะ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนเขตเมืองเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพผลกระทบจากความเป็นเมือง ซึ่งจะใช้กิจกรรม “1,000 เมือง 1,000 ชีวิต” เป็นเครื่องมือรณรงค์ และสนับสนุนให้เมือง บุคคล และภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องในเรื่องสุขภาพ มีเป้าหมายระดับโลกเพื่อการพัฒนาเมืองต่างๆ ทั่วโลกสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยประเทศไทยได้เน้นการพัฒนาภายใต้ 4 เรื่องหลักสำคัญ คือ 1) ความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพในเขตเมือง 2) ส่งเสริมสุขภาพชีวิตคนเมือง 3) พัฒนาภูมิทัศน์ใน เขตเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียว และ 4) ยกระดับสภาพแวดล้อมชุมชนแออัดในเขตเมืองให้ดีขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้ประชุมและเห็นชอบร่วมกันที่จะใช้โอกาสของการรณรงค์ เนื่องใน วันอนามัยโลก ปี 2553 นี้ เป็นการกระตุ้นกระแสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเขตเมืองในระดับประเทศ โดยใช้กิจกรรม “1,000 เมือง 1,000 ชีวิต พิทักษ์คุณภาพชีวิตคนเมือง” มาเป็นตัวกระตุ้นเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการจัดการเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเทศบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และสรรหาเมืองดีเด่นเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ปัจจุบันมีเทศบาลสมัครเข้ามาแล้วกว่า 51 แห่ง
โดยความเป็นเมืองดีเด่นต้องครอบคลุมใน 6 มิติ ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านวัฒนธรรม 3) ด้านการศึกษา 4) ด้านสิ่งแวดล้อม 5) ด้านสาธารณสุข และ 6) ด้านสังคม ซึ่งเมืองดีเด่นที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นตัวแทนของประเทศไทยเสนอผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาประเทศ ในเวทีเวิลด์เอ็กซ์โป (world expo, shanghai) ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2553 พร้อมทั้งนำเสนอผลงานความสำเร็จในที่ประชุมระดับโลก (global forum) ซึ่งจะจัดที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน 2553 ส่วนเมืองที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจะได้รับการสรรหาและได้รับการเผยแพร่ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเมืองต่างๆ ภายในประเทศต่อไป
“ทั้งนี้ การรณรงค์ “1,000 เมือง” ถือเป็นการสนับสนุนให้เทศบาลทุกแห่งทั่วประเทศที่มีการดำเนินงานเมืองน่าอยู่มาอย่างต่อเนื่องได้มีเวทีแสดงผลงานความสำเร็จในด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของประชาชน ส่วนการรณรงค์ “1,000 ชีวิต” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พลเมืองเสนอตัวอย่างของผู้พิทักษ์สุขภาพชุมชนเมืองที่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพคนเมือง โดย กิจกรรม “1,000 เมือง 1,000 ชีวิต” ยังเป็นปฏิญญาร่วมกันในการสร้างความร่วมมือเพื่อให้ประชาชนในเขตเมืองได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย เอื้อต่อการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ส่งเสริมให้เมืองทุกเมืองทั่วโลกเติบโตเป็นเมืองน่าอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ astvผู้จัดการ
update : 31-03-53
อัพเดทเนื้อหา:ณัฏฐ์ ตุ้มภู่