7 สถาบันการแพทย์เปิดคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ 6 สถาบันการแพทย์และการศึกษาชั้นนำ จัดทำโครงการวิจัยแบบบูรณาการเฉลิมพระเกียรติพระชันษา 5 รอบ “โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย”


7 สถาบันการแพทย์เปิดคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ thaihealth


ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย กล่าวว่า โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้บริการส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชนคนไทยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ร่วมกับ 6 สถาบันการแพทย์ ได้แก่ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสตรวจคัดกรองวิเคราะห์การทำงานและประสิทธิภาพของสมองด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด โดยมีเป้าหมายคือการบูรณาการองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงเป็นเครื่องตรวจที่สามารถวัดค่าได้


เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลภาพสมอง และรหัสพันธุกรรมขนาดใหญ่ในคนไทยที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดโรค และการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ พร้อมกับค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางด้านโภชนาการที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ อันจะนำไปสู่การค้นหานวัตกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนชีวิตของผู้ที่กำลังจะเกิดโรคทางความจำและสมองเสื่อม และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ที่เริ่มมีหรือมีอาการแล้วอีกทั้งยังชะลอโรคได้ โดยนำความรู้ต่างๆ มาเป็นมาตรฐานในการส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม และเตรียมพร้อมรับมือสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุไทยห่างไกลโรคอัลไซเมอร์


ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์ทางอายุรกรรมและระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า “อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหลักของโรคสมองเสื่อม ซึ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในคนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ต่ำกว่า 600,000 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 100,000 รายต่อปี ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะเป็น อัลไซเมอร์ประมาณ 5-8 % และเมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไปจะพบประมาณ 50%


โครงการนี้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ทั้งในด้านพันธุกรรมและด้านองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาการชะลอโรค โดยจะให้บริการตรวจวินิจฉัยด้านต่างๆ ตั้งแต่การประเมินภาวะสมองเสื่อมจากแบบทดสอบ เจาะเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ประเมินสุขภาพขั้นพื้นฐาน และการตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของสมองด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูง ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยสมองด้วยเครื่องสร้างภาพสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Brain MR Imaging) การตรวจวินิจฉัยประเมินการสะสมของโปรตีนในสมองด้วยเครื่องเพท-ซีที สแกน (PET-CT Scan) การตรวจค้นหารหัสพันธุกรรมในคนไทยด้วยเครื่องอ่านรหัสพันธุกรรมสมัยใหม่ (Next Generation Sequencing Technology) ซึ่งเป็นการตรวจทางชีวเคมีและพันธุกรรมขั้นสูงที่สัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม ให้กับประชาชนคนไทยอายุระหว่าง 55-85 ปี ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อนที่จะมีอาการ และกลุ่มที่มีอาการระยะแรกเริ่มแล้วของโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะอัลไซเมอร์ โดยสามารถบอกแนวโน้มความรุนแรงของโรคว่ามีมากน้อยเพียงใด


ขณะเดียวกันก็มีการตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยต่างๆ เช่น อาหาร หรือปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีผลในการชะลอโรคสมองเสื่อม และประเมินการตอบสนอง โดยใช้วิธีการหาดัชนีชีวภาพในสมองด้วยวิธีต่างๆ อาทิ จากภาพรังสีวินิจฉัย จากการตรวจเลือด จากข้อมูลการตอบสนองในระดับพันธุกรรม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้จะนำมาพัฒนาให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสังคมไทย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม รวมไปถึงดูแลรักษาตนเองและการลดภาระของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุของประเทศ


สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 55-85 ปี สามารถเข้าร่วม “โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย” โดยลงทะเบียน และทำแบบประเมินตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นด้วยตนเองได้ที่ www.ad.cra.ac.th หรือโทร.02-5766601-5 (ในวันและเวลาราชการ)ตั้งแต่วันนี้-31 มกราคม 2561 ซึ่งผู้ที่ผ่านการพิจารณาเข้าร่วมโครงการจะได้รับการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของสมองด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code