7 วิธี ป้องกันโรคติดต่อในฤดูหนาว
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เผยจังหวัดที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเตือนภัยหนาว มีรายงานอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อในฤดูหนาวสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้สรุปสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคติดต่อในฤดูหนาว ช่วงเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2556 พบว่า 1) ผู้ป่วยโรคสุกใส จำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2555 และ 5 จังหวัดที่ประกาศพื้นที่ภัยหนาว (ร้อยละ 14) มีอัตราป่วยปี พ.ศ. 2556 สูงกว่าปี 2555, 2) ผู้ป่วยโรคหัด ปี 2556 มีจำนวนลดลงร้อยละ 60 จากปี 2555 แต่ 8 จังหวัดที่ประกาศภัยหนาว (ร้อยละ 23) อัตราป่วยในปี 2556 สูงกว่า ปี 2555, 3) ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ปี 2556 มีรายงานผู้ป่วยลดลงร้อยละ 10 จากปี 2555 แต่ 18 จังหวัดที่ประกาศภัยหนาว (ร้อยละ 41) จำนวนผู้ป่วยปี 2556 สูงกว่า ปี 2555, 4) โรคไข้หวัดใหญ่ ในปี 2556 จังหวัดที่ประกาศภัยหนาว 6 จังหวัด มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด 10 ลำดับแรก,5) โรคปอดบวม จังหวัดส่วนใหญ่ที่ประกาศภัยหนาวเป็นจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด 10 ลำดับแรก
จากการติดตามสถานการณ์ของโรคของกรมควบคุมโรค และการประกาศพื้นที่ประสบภัยหนาวของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า ความหนาวเย็นของอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการแพร่กระจายของโรค อย่างไรก็ดี มีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สุขอนามัยส่วนบุคคล การไอจามปิดปากปิดจมูก และในบางโรค การได้รับวัคซีนป้องกันก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจ็บป่วย และในปี 2557 นี้ คาดว่าผู้ป่วยโรคติดต่อที่เฝ้าระวังในฤดูหนาวจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะในหลายพื้นที่มีอาการหนาวเย็นมากกว่าปีที่ผ่านมาและช่วงระยะเวลานาน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า “การป้องกันการเจ็บป่วยในฤดูหนาว ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้ 1) การรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงาน เช่น แป้ง และไขมัน อาหารที่รับประทานต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง อาหารค้างมื้อต้องอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน 2) ไอจามปิดปากปิดจมูก ถ้ามีอาการหวัด เช่น มีน้ำมูก ไอ จาม มาก ควรสวมหน้ากากป้องกันโรค เพื่อลดการแพร่เชื้อโรคไปยังผู้อื่น 3) หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทาน ก่อนการประกอบอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม 4) ออกกำลังอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น 5) หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศหนาวเย็น และรักษาความอบอุ่นของร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมทั้งผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะทางจิต และคนเร่ร่อนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยฯ 6) หาเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เพียงพอ ให้รักษาความอบอุ่นลำตัวและคอ สวมหลายๆ ชั้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น 7) หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การผิงไฟในที่อับ ไม่มีอาการถ่ายเท และไม่นำเด็กเล็กเข้าใกล้ควันไฟหรือห่มผ้าคลุมศีรษะเด็กอ่อนปิดจมูกและปากเพราะจะทำให้เสียชีวิตได้
“ในผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้นานเกิน 2 วัน กินยาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น มีอาการเจ็บหน้าอกเวลาไอ หายใจหอบเหนื่อยรีบไปพบแพทย์ทันที ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติม
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข