60 สถาบัน ขานรับรณรงค์ “รับน้องสร้างสรรค์”

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


60 สถาบัน ขานรับรณรงค์


สสส.จับมือ 60 สถาบันการศึกษา รณรงค์รับน้องสร้างสรรค์ ชูแนวคิด "รับเพื่อนใหม่ เคารพสิทธิ…มิตรภาพ" หวังกระตุ้นนักศึกษารับน้องเคารพ-ให้เกียรติ-หยุดละเมิดสิทธิ ขณะที่อดีตเด็กอาชีวะเปิดใจ เคยถูกรับน้องรุนแรง และสืบทอดรุ่นสู่รุ่น


วันที่ 24 ก.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนและตัวแทนนักศึกษาในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสุขจาก 60 สถาบันการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดรณรงค์รับน้องสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ “รับเพื่อนใหม่ เคารพสิทธิ…มิตรภาพ” เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มนักศึกษาจัดกิจกรรมรับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ เคารพให้เกียรติและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ทำผิดกฎหมาย พร้อมทั้งเปิดตัว เพจ “เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ” รับเรื่องราวร้องเรียนกิจกรรมรับน้องใหม่ที่มีการกระทำไม่เหมาะสม และทีมกฎหมายให้ความช่วยเหลือ โดยภายในงานกลุ่มเยาวชนได้ประกาศเจตนารมณ์ สนับสนุนให้นักศึกษาทุกสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จัดกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ ที่เคารพสิทธิและสร้างมิตรภาพได้อย่างแท้จริง


นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส. กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญสู่การรับน้องใหม่ที่สร้างสรรค์ ให้เห็นพลังและคุณค่า เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามัคคี เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ห่างไกลจากเหล้า ยาเสพติด การพนัน อบายมุขทุกรูปแบบ เป็นการถอยห่างจากระบบอำนาจนิยม ที่เคยนำไปสู่ความอับอาย หรือบาดเจ็บและสูญเสีย การใช้คำว่า “รับเพื่อนใหม่” แทนคำว่า “รับน้องใหม่” คงต้องการสะท้อนความเสมอภาค ลดการกดทับในเชิงอำนาจจากความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ซึ่งมีนัยสำคัญมากต่อกิจกรรมนี้


60 สถาบัน ขานรับรณรงค์


"ข่าวคราวความสูญเสียจากกิจกรรมรับน้องใหม่ บ่อยครั้งที่เลยเถิดไปถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต คำถามสำคัญคือเราจะยินยอมให้ความไม่ถูกต้อง ยังคงอยู่อย่างเป็นปกติเช่นนี้ หรือจะร่วมกันยืนหยัดและปฏิเสธความไม่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับเจตนาของกิจกรรมวันนี้ คือการรับเพื่อนใหม่ ต้องเคารพสิทธิและมุ่งสู่มิตรภาพอย่างแท้จริง โดยมีการอธิบายหลักการสำคัญที่ควรยึดมั่นไว้อย่างน่าสนใจว่า 1.ต้องเคารพให้เกียรติกัน 2.ต้องสนุก กระตุกให้คิดและสร้างสรรค์ 3.ต้องไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ 4. ต้องมีความปลอดภัย และ 5.ต้องปลอดจากอบายมุขทุกชนิด" นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว


นายกีรติ ปั้นมณี เลขาธิการกลุ่ม ANTI SOTUS กล่าวว่า ความรุนแรงในการรับน้องและกระบวนการยุติธรรมที่สาวไปไม่ถึงตัวผู้กระทำความผิด เป็นเรื่องที่สถาบันมักปิดข่าว ไม่ให้เผยแพร่ออกสู่พื้นที่สาธารณะ โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้เกิดจากการเชื่อมโยงของ 5 ภาคส่วน ได้แก่ 1. ตัวมหาวิทยาลัยหรือสถาบัน 2. บุคลากรในสถาบัน 3. นักศึกษาทั่วไป(รุ่นพี่) 4. ผู้นำนักศึกษา และ 5. นักศึกษา ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ให้เผยแพร่สู่พื้นที่สาธารณะ คือ สถาบันพยายามที่จะปิดข่าว โดยมีบุคลากรในสถาบันเป็นผู้ดำเนินการปิดข่าว ในขณะที่นักศึกษาทั่วไป (รุ่นพี่) และผู้นำนักศึกษาที่ทำการรับน้องของสถาบัน คนกลุ่มนี้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลากรในสถาบัน เพราะ เพราะถ้าหากสถาบันมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต้องอาศัยนักศึกษานี้ในการเกณฑ์คนเข้ามาช่วยทำกิจรรมของสถาบัน ส่วนตัวนักศึกษาเอง เมื่อเกิดเรื่องขึ้นก็ไม่อยากเอาความกับรุ่นพี่ จึงสรุปได้ว่า บุคลากรและสถาบันมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าว จึงมีความพยายามที่จะไกล่เกลี่ยหรือปิดข่าวเมื่อเกิดเรื่องขึ้นมา


60 สถาบัน ขานรับรณรงค์


“ผมมองว่า สถาบันไม่ควรจะเห็นแก่ชื่อเสียงด้วยการปิดข่าว แต่ควรจะเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและควรเป็นหน่วยงานที่จะช่วยหาตัวผู้กระทำความผิด หรือช่วยเหลือผู้เสียหายในการฟ้องร้อง ซึ่งเท่ากับเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ และอีกสาเหตุหนึ่งที่เราไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ เพราะมีความคิดว่าไม่อยากเอาเรื่องให้เด็กเสียอนาคต หรือหากจะเอาเรื่องกระบวนการทางกฎหมายก็ล่าช้าและมีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเกิดเหตุรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการ ผู้เสียหายก็ไม่อยากดำเนินคดี” นายกีรติ กล่าว


นายกีรติ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาสถาบันจะต้องแสดงความจุดยืนที่ชัดเจน อย่ามัวแต่จะปกปิดเพราะกลัวเสียชื่อเสียง ต้องมีความจริงใจแก้ปัญหา ไม่ควรปล่อยปะละเลยกับค่านิยมวัฒนธรรมการรับน้องที่ไม่ดี เพราะหากเพิกเฉยเท่ากับเป็นการเพาะบ่มจนยากต่อการควบคุม และยังฝากถึงสื่อมวลชนช่วยนำเสนอข่าวในกระบวนการทำงานหรือการสืบหาผู้กระทำความผิดให้ได้โดยเร็วขึ้นอีกด้วย


ด้าน นายเอ (นามสมมติ) ตัวแทนเยาวชนที่เคยผ่านการรับน้องระบบอำนาจนิยมใช้ความรุนแรง กล่าวว่า อดีตเคยเรียนอาชีวะศึกษา ปี 1 ที่สถาบันแห่งหนึ่ง ก่อนที่รุ่นพี่จะจัดกิจกรรมรับน้องที่ต่างจังหวัดรุ่นพี่จะทำการเทรนรับน้องเกือบทุกวันเพื่อล้างสมองและปลูกฝังความคิดให้กับรุ่นน้อง เช่น พูดกล่อมให้รักสถาบัน และให้เกลียดสถาบันครู่อริ ส่วนวิธีปฏิบัติ รุ่นพี่จะทำการเตะหน้าอกรุ่นน้อง และให้กินไข่ดิบ รวมถึงอาหารแปลก ๆ ที่ไม่เคยกิน เมื่อถึงวันจริง รุ่นพี่ใช้วิธีรับน้องเช่นเดียวกับการเทรนแต่จะรุนแรงขึ้น เช่น ดื่มเหล้าแทนน้ำ ให้ยืนดิ่งล้มให้หน้าอกกระแทกพื้น หรือแม้กระทั่งใช้เท้าเตะหน้า หรือใช้มือตบหน้า แกล้งนำน้ำทะเลมาต้มข้าวให้กิน นำกะปิมาแทนยาสีฟัน ทั้งนี้หลังจากผ่านการรับน้อง ก่อนกลับรุ่นพี่จะนำเหล็กรูปสัญลักษณ์บางอย่างมารนไฟเพื่อจี้หัวไหล่รุ่นน้องที่ผ่านการรับน้อง เหมือนเป็นการทำสัญลักษณ์ของรุ่น ส่วนคนที่ไม่เข้ารับการรับน้องหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่เอาระบบ ก็จะถูกรุ่นพี่บีบให้ออกจากสถาบันด้วยวิธีต่าง ๆ ทำให้ไม่มีจุดยืน จนสุดท้ายต้องลาออกเพราะอยู่ไม่ได้


60 สถาบัน ขานรับรณรงค์


นายเอ กล่าวต่อว่า ความรู้สึกตอนโดนรับน้องไม่ได้รู้สึกอะไรมากเพราะคิดว่าต้องทำเพื่อให้ได้มีสิทธิ์เรียนที่สถาบัน ต่อมาเมื่อขึ้นปี 2 กลายเป็นรุ่นพี่ที่ต้องมารับน้องบ้าง ตนและรุ่นพี่คนอื่น ๆ ยังคงใช้วิธีรับน้องแบบเดิม เหมือนเป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่ตนจะเลี่ยงการทำร้ายร่างกายรุ่นน้องเพราะรู้สึกสงสาร จากนั้นไม่นานผมก็ก่อคดี จนต้องเข้ามาอยู่สถานพินิจ และได้โอกาสเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ที่นี่สอนให้รู้จักเรื่องสิทธิมนุษยชน การเคารพในเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น เราไม่มีสิทธิไปทำร้ายร่างกายใคร และมีกิจกรรมที่กระตุ้นให้เรามีความคิด มีเหตุมีผล ควบคุมอารมณ์ จนผมเข้าใจและตกผลึกมากพอ อยากฝากไปถึงรุ่นพี่ที่ยังใช้ความรุนแรงและใช้อำนาจ ว่าให้หยุดเถอะอย่าทำอะไรที่ไร้เหตุผล ขาดสติหรือลืมตัวเพื่อให้คนอื่นยอมรับ ต้องเปิดตามองว่าคุณไม่ได้จมอยู่กับจุดจุดนี้ทั้งชีวิตอีกไม่นานคุณก็เรียนจบไปใช้ชีวิตนอกสถาบัน ท้ายนี้ผมอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปสอดส่องและสลายการเทรนรุ่นน้องที่ไม่สร้างสรรค์เพราะผมมองว่าถ้ารุ่นน้องไม่ถูกปลูกฝังความคิดทุกวันจะทำให้ระบบรับน้องรุนแรงล่มไปเอง ที่สำคัญอยากให้ไปทำความเข้าใจกับชมรมศิษย์เก่าของแต่ละสถาบัน เพราะคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลมากกับน้อง” นายเอ กล่าว


สำหรับคำประกาศเจตนารมณ์ โดยเครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ และตัวแทนนักศึกษาในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสุขจาก 60 สถาบันการศึกษา ได้ประกาศเจตนารมณ์การจัดกิจกรรมรับน้องอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้สโลแกน “รับเพื่อนใหม่ เคารพสิทธิ มิตรภาพ” ยึดมั่นในหลักการสำคัญดังนี้ 1.จะปรับรูปแบบการรับเพื่อนใหม่ให้เป็นกิจกรรมเชิงบวกและสร้างสรรค์ให้มากขึ้น 2.จะไม่ใช้ความรุนแรงทั้งร่างกาย และวาจาลดคุณค่าความเป็นมนุษย์และละเมิดสิทธิ 3.จะแสวหาแนวทาง รูปแบบกิจกรรมการรับเพื่อนใหม่ที่สื่อให้เห็นถึงคุณค่าในตนเอง เคารพตนเอง เห็นคุณค่าของผู้อื่น และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 4.จะไม่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน ยาเสพติด อบายมุขทุกชนิดเข้ามาเกี่ยวข้องในกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ 5.ไม่เพิกเฉยต่อความไม่ถูกต้อง และการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น โดยจะร่วมกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องและแจ้งเหตุ

Shares:
QR Code :
QR Code