6 สัญญาณของการติดเกม
ที่มา : คู่มือดูแลจิตใจตัวเองในสถานการณ์โควิด ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เเฟ้มภาพ
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ให้คำนิยามการติดเกมไว้ว่า หมายถึง รูปแบบการเล่นเกมไม่ว่าจะออนไลน์หรือไม่ก็ได้ โดยเป็นการเล่นอย่างซ้ำ ๆ และต่อเนื่องที่มีลักษณะต่อไปนี้ คือ ไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมของตนได้ ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมากกว่ากิจกรรม งานอดิเรก หรือกิจวัตร ประจำวันต่าง ๆ และยังคงเล่นเกมหรือเล่นมากขึ้น ทั้งที่การเล่นเกมนั้นก่อให้เกิดผลเสียกับตนเอง
การเล่นเกมนั้นจะจัดว่าเป็นความผิดปกติเมื่อการเล่นเกมส่งผลกระทบด้านลบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม การเรียน การทำงาน หรือหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญอื่น ๆ ของบุคคลนั้น และเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน วันนี้เราอยากชวนผู้คลั่งไคล้การเล่นเกมให้กลับมาทบทวนและสังเกตว่า มีสัญญาณของการติดเกมแล้วหรือยัง
6 สัญญาณของการติดเกม
1. อารมณ์เสีย ขี้หงุดหงิด
คนที่เล่นเกมมาก ๆ จะส่งผลต่อการอดทนรอคอย การยับยั้งชั่งใจ ทำให้เมื่อไม่ได้ดั่งใจ จะมีปัญหาการแสดงออกและการจัดการอารมณ์ด้านลบตามมาได้ ในขณะเดียวกันเมื่อถูกห้าม หรือมีสิ่งอื่นมาขัดจังหวะการเล่นเกม จะรู้สึกไม่พึงพอใจ บางรายถึงขั้นลงไม้ลงมือกับสิ่งของ หรือบุคคลที่อยู่รอบข้าง
2. หมกมุ่น เล่นจนไม่เป็นอันทำอะไร
อยากให้ลองนึกว่า ในแต่ละวันใช้เวลากับการคิดถึงเกม หรือใช้เวลากับการเล่นเกมมากเท่าไร หากสำรวจแล้วพบว่า เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับเรื่องเกม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘จะกินจะนอนก็มีแต่เรื่องเกม’ เล่นเกมจนไม่เป็นอันทำอะไร ถือเป็นอาการที่บ่งบอกว่าเข้าข่ายการหมกมุ่น
3. ความสุขลดลง
คนที่เล่นเกมมาก ๆ บางรายมักเล่าว่า ยิ่งเล่นเกมยิ่งรู้สึกไม่มีความสุข แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรให้มีความสุข บางรายเล่าว่า เล่นเยอะ แต่ ‘ไม่ฟิน’ เท่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าโรคติดเกมสัมพันธ์กับความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ในผู้ป่วยบางรายอีกด้วย
4. ยังเล่นไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เริ่มเกิดปัญหา
ปัญหาที่เกิดแสดงออกมาได้หลากหลาย เช่น ไม่กิน ไม่นอน ไม่ทำงาน หากมีอาการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการติดเกมเริ่มมีระดับความรุนแรงที่มากขึ้น เพราะถึงแม้จะต้องอยู่บ้าน ก็ยังต้องทำกิจวัตรต่าง ๆ ตามปกติ หน้าที่การงานหรือการเรียนยังคงต้องรับผิดชอบ เเต่บุคคลที่เป็นโรคติดเกมจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้น และเอาเวลาต่าง ๆ มาใช้ในการเล่นเกมแทน
5. มีอาการทางร่างกาย
อาการปวดตามที่ต่าง ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ตาแห้ง ตาพร่ามัว อาการเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับโรคติดเกม ในบางรายการติดเกมสัมพันธ์กับอาการนอนไม่หลับได้อีกด้วย
6. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
ผู้ปกครองอาจจะสังเกตว่าเกิดปัญหานี้ในบุตรหลานของท่านหรือไม่ โดยเป็นลักษณะพฤติกรรมด้านลบ เช่น ดื้อ พูดจาไม่สุภาพ โกหก แยกตัว เก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว ในผู้ใหญ่ก็มีอาการลักษณะเดียวกัน ซึ่งต้องอาศัยคนใกล้ชิดเป็นผู้สังเกต
ทั้งนี้ หากผู้ปกครองที่สนใจสงสัยว่าเด็กเป็นโรคติดเกมหรือไม่ สามารถทำแบบทดสอบการติดเกม (Game Addiction Screening Test: GAST) ได้ที่ www.healthygamer.net