6 ปี โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ จาก “ในหลวง ร. ๙”

ที่มา :  MGR Online


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


6 ปี โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ จาก “ในหลวง ร. ๙”  thaihealth


แฟ้มภาพ


6 ปี โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ จาก “ในหลวง ร. ๙” ช่วยผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวทั่วประเทศกว่า 1.9 แสนคน ได้รับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ลดปัญหาโภชนาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย


นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกระแสพระราชดำรัสของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ความว่า “เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้รวมพลังดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตั้งแต่ปี 2548 มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันเทียมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต่อมาในปี 2551 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดให้บริการใส่ฟันเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้น ในปี 2554 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับ สปสช. ดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมเพิ่มขึ้น ทั้งบริการใส่ฟันเทียมบางส่วนและใส่ฟันเทียมทั้งปาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป


ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 6 ปี ระหว่างปี 2554 – 2559 มีผู้เข้ารับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก จำนวน 243,208 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 191,836 คน จากข้อมูลนี้เห็นได้ว่า ในจำนวนผู้รับการใส่ฟันทั้งหมดมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่รับการใส่ฟันเทียมเกินกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นไปตามเป้าหมายโครงการที่วางไว้


ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ในช่วงการดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปี 2558 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. จึงได้จัดทำ “โครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน” เพื่อขยายการบริการใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ภายใต้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 1,610 คน โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการต่อเนื่อง ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้ารับบริการในคณะทันตแพทยศาสตร์ที่ร่วมโครงการได้


สำหรับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย ที่ร่วมโครงการฟันเทียมพระราชทานฯ ได้แก่ 1.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.คณะทันตแพทยศาสตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 5.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 6.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 8.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 9.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนภาพรวมการบริการฟันเทียมผู้สูงอายุในปี 2559 ทั้งในส่วนโครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโครงการฟันเทียมพระราชทานฯ ที่ได้ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย โดยกำหนดเป้าหมายการบริการไว้ที่จำนวน 35,000 คน ปรากฏว่า มีผู้เข้ารับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากถึง 33,850 คน หรือร้อยละ 96.71 เทียบเท่ากับเป้าหมายบริการที่ตั้งไว้ ไม่เพียงแต่สะท้อนความสำเร็จการดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในประเทศ เนื่องจากปัญหาสุขภาพในช่องปากโดยเฉพาะการสูญเสียฟันจนไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ในผู้สูงอายุ


 “ความสำเร็จบริการใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุ เป็นผลมาจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทานฯ ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้” รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code