6 ปัจจัยสู่คุณภาพชีวิตที่ดี

ชู 6 ปัจจัยแก้ไขปัญหาสังคม เพื่อสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ครอบคลุมรวมด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน อาชีพ และรายได้


ชู 6 ปัจจัยสู่คุณภาพชีวิตที่ดี thaihealth


แฟ้มภาพ


ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รางวัลพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ด้านการสาธารณสุข เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต อาจารย์ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับรางวัลจากผลงานสำคัญคือ ได้ประเมินปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การป้องกันโรค และการสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของคนอย่างยั่งยืน และทำเป็นข้อเสนอแนวทางแก้ไขด้วยหลักปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อคุณภาพ (Social Determinants of Health) จำนวน 6 ด้านด้วยกัน


คือ 1.เด็กทุกคนเกิดมาต้องมีต้นทุนชีวิตที่ดี 2.ทำให้เด็ก หนุ่มสาว และผู้ใหญ่บรรลุศักยภาพสูงสุดของตน ซึ่งมากกว่าแค่การศึกษา 3.ให้ทุกคนได้รับการว่าจ้างทำงานที่ดี 4.ทุกคนมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดี 5.ให้มีชุมชน พื้นที่ เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพหรือสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต 6.ส่งเสริมระบบกิจกรรมป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ


แนวทางแก้ปัญหาสุขภาพนั้นครอบคลุมรวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน อาชีพ และรายได้ ซึ่งแนวทางนี้ คือเรื่องของสุขภาวะ ซึ่งเริ่มมีการใช้ในอังกฤษก่อนขยายไปทั่วยุโรป และองค์การอนามัยโลก ก็นำมาใช้จนแพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยแม้แต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ทำงานในแนวทางดังกล่าวเช่นกัน การทำงานสร้างเสริมสุขภาพเป็นเรื่องของสุขภาวะ (Well Being) ที่กว้างกว่าแค่เรื่องสุขภาพ (Health) การทำงานจึงไม่แปลกที่จะมีการสนับสนุนหรือร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่นอกเหนือจากแค่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องสินค้าสุขภาพ เป็นต้น


"แนวทางแก้ปัญหาทั้ง 6 ด้านมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน จะเลือกทำเรื่องสำคัญเพียงแค่ 1-2 ด้านไม่ได้ แต่ต้องทำทั้ง 6 ด้านพร้อมๆ กัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน สสส.ในการกำหนดประเด็นที่จะทำงาน ซึ่งต้องวางแผนในระยะยาวทั้ง 5 ปี 10 ปี ว่าจะแก้เรื่องใดก่อน" ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code