6 ความเสี่ยง ของครอบครัวในเขตเมือง
สิ่งที่เรามักจะเห็นกันอย่างคุ้นตาเมื่อ เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้า คือการตามมาของชุมชนเมือง แต่น้อยนักที่ยังคงขาดการวางแผนรับมือต่อการปรับตัวของความเจริญเติบโตดังกล่าว จนนำมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง
ประเทศไทยนับว่ามีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยไม่มีท่าทีว่าจะหยุดนิ่งหรือชะลอตัวแต่อย่างใด และสิ่งที่มักจะเห็นอย่างคุ้นตาเมื่อสิ่งเหล่านี้เจริญขึ้น นั่นคือการขยายตัวของความเป็นชุมชนเมือง แต่สิ่งที่เราไม่ได้เตรียมการ หรือวางแผนรับมือคือ คนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ภาวะของชุมชนในเขตเมือง ก่อให้เกิดปัญหาและการจัดการครอบครัวที่ดีได้น้อยลง “การศึกษาครอบครัวไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ปี 2557” จึงนับว่าเป็นโครงการที่สามารถบ่งชี้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้น
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) อธิบายถึงการศึกษาครอบครัวในเขตเมืองว่า “โครงการศึกษาครอบครัวไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ปี 2557” ของ 4 องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับครอบครัว ทั้งด้านสุขภาวะ สังคม ผู้สูงอายุ ได้แก่ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย, สภาพัฒน์ และ สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) โดยได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างครอบครัวไทยในเขตเมืองกว่า 2,040 ครอบครัว ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2557- เมษายน 2558 โดยสนใจศึกษาเรื่องหลักคิดและการเรียนรู้ ซึ่งมีกรอบหลักคิดของครอบครัว สัมพันธภาพครอบครัว การพัฒนาสมาชิกในครอบครัวในแต่ละวัย และการส่งเสริมครอบครัวด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน
นางสุภาวดี ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาพบว่า สาระที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดมีอยู่ 6 ประเด็น ซึ่งประเด็นแรก คือ ด้านบทบาทหน้าที่ พบว่ามีความไม่รู้และไม่เข้าใจหน้าที่ของตนเอง 1ใน3 ยอมรับว่าไม่แน่ใจว่าจะดูแลสมาชิกในครอบครัวได้ถูกต้องและเหมาะสม 20% และไม่มีการวางเป้าหมายของครอบครัว ในส่วนที่วางเป้าหมาย 80% นอกจากนี้ยังพบว่า 60% วางเป้าหมายเพียงเรื่องการทำมาหากิน แต่ไม่มีการวางเป้าหมายชีวิตและการดูแลกัน ซึ่งปัจจัยของปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทำให้ไม่รู้บทบาทครอบครัวของตนเอง
นางสุภาวดี ให้ข้อมูลต่อในประเด็นที่ 2 คือ ด้านสัมพันธภาพ พบว่ามีภาวะต่างคนต่างอยู่ 20% สะท้อนให้เห็นว่ามีการช่วยเหลือกันน้อยลงจนถึงขั้นไม่ช่วยเหลือกันเลย อีก 22% ไม่มีที่ระบายหรือปรึกษาเรื่องครอบครัว 40% ไม่เล่าเรื่องที่ตนเองพบอยู่ให้ครอบครัวฟัง 33% บอกว่า ครอบครัวไม่ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา ส่วน34% ด่าทอหยาบคาย ทำร้ายร่างกายและละเลยทอดทิ้ง อีก 11% ทำร้ายร่างกายตนเองและสมาชิกในครอบครัว และ 24% บอกว่าถ้ามีศูนย์หรือพื้นที่ที่เข้าใจให้คำปรึกษา สัมพันธภาพในครอบครัวน่าจะดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ ประเด็นที่ 3 คือ ด้านการจัดการเวลาโดยพบว่า 60% ที่ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัวสะท้อนว่าไม่มีเวลา ซึ่งส่งผลต่อสัมพันธภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่บอกว่าเวลากินข้าวเป็นช่วงที่จะได้พบหน้ากันมากที่สุด
นางสุภาวดี ให้ข้อมูลเสริมถึงประเด็นที่ 4 คือ ด้านการเงิน พบว่า 65% รู้เรื่องการบริหารจัดการเงินปานกลางถึงน้อยมาก 50% ของรายรับคนในเมืองน้อยกว่าหรือเท่ากับรายจ่าย 30% ไม่มีการออมเงิน 50% ที่มีเงินออมไม่มั่นใจว่าเงินออมจะเพียงพอ และ 7% บอกว่าเงินออมไม่พอแน่นอนหากเกิดวิกฤติ นอกจากนั้นยังพบว่า 65% มีหนี้สิน 31% เป็นหนี้เรื่องการใช้จ่าย โดย 20% ไม่มั่นใจว่าจะใช้หนี้หมด อีก1% ยืนยันว่าใช้หนี้ไม่หมดแน่นอน ซึ่ง 22% มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย แต่ไม่ค่อยเห็นประโยชน์ ดังนั้นการให้โอกาสการเรียนรู้การจัดการเงินจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพลวัตของการเงินที่รวดเร็ว ยิ่งจำเป็นต้องมีความรู้ในการตั้งสติเพื่อบริหารจัดการเงินของตนเองให้มีประสิทธิภาพ
นางสุภาวดี กล่าวถึงประเด็นที่ 5 คือ ด้านสุขภาวะของคนเมืองพบว่า 78% ให้คำตอบว่าตนเองใส่ใจระวังยาเสพติด แต่พบว่า 70% ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ 20% ติดสารเสพติดอื่นๆ 80% เล่นการพนันและเสี่ยงโชคทุกรูปแบบ 10% ยอมรับว่ามีการจัดการความเครียดได้น้อยมากและไม่ได้เลย ส่วนอีก 30% ยืนยันว่าเห็นคนมีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนของตนเอง และ ประเด็นสุดท้ายคือ ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โดย73% ดูแลผู้สูงอายุได้เหมาะสม เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในครอบครัว 50% มีความกังวลว่าผู้สูงอายุจะเหงาเพราะไม่มีเวลาดูแล 24% ไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุ 27% กังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ และ 14% กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันของผู้สูงอายุ
“อยากให้มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนใกล้บ้านที่สามารถนำผู้สูงอายุไปฝากแบบไปเช้าเย็นกลับได้ รวมถึงศูนย์ให้คำปรึกษาในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะอยากเข้าใจว่าจะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร” เป็นข้อเสนอแนะจากกลุ่มตัวอย่างของครอบครัว ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) สะท้อนให้ฟัง
อย่างไรก็ตามหากคนเรามีสติ รู้จักใส่ใจ ตระหนักถึงแนวทางในการแก้ปัญหา และเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็สามารถผ่านพ้นไปได้ นอกจากนั้นการดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจให้แข็งแรงก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเสริมกระบวนการคิดต่อการแก้ปัญหาอีกด้วย
เรื่องโดย แพรวพรรณ สุริวงศ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต