5 เช็คลิสต์สุขภาพสำหรับสาวๆ วัย 30

ที่มา : แนวหน้า


5 เช็คลิสต์สุขภาพสำหรับสาวๆ วัย 30 thaihealth


แฟ้มภาพ


5 ข้อมูลเช็คลิสต์สุขภาพสำหรับสาวๆ โดยเฉพาะที่เริ่มเข้าสู่วัยเลข 3 ควรจะมีแนวทางการตรวจเช็คสุขภาพกันอย่างไรบ้าง มีโรคอะไรบ้างที่ควรระวังและตรวจดูกันอย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบได้เร็ว ก็อาจจะสามารถรักษาได้ง่ายกว่า และมีโอกาสหายขาดได้


1.การตรวจเลือด-ตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจสุขภาพมาตรฐาน ทั้งการตรวจ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เพื่อดู ความผิดปกติของค่าต่างๆ ทั้งเป็นข้อบ่งชี้ของ อาการของโรคหลายๆ โรค ทั้ง ธาลัสซีเมีย ลิวคีเมีย ภาวะดีซ่าน โรคที่เกี่ยวกับตับ โรคที่เกี่ยวกับไต ไขมันในเลือด เบาหวาน ไทรอยด์ รวมถึงโรคติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส


2.การตรวจความผิดปกติของเต้านม หรือการตรวจมะเร็งเต้านม เพื่อหาความผิดปกติในระยะแรกเริ่ม เพราะการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน มีการเกี่ยวข้องกับสารเคมีกันมากขึ้น โดยเฉพาะในอาหารซึ่งมักจะมีฮอร์โมนในปริมาณที่สูง ไม่ว่าจะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของหมู หรือไก่ รวมถึงการใช้ยาในสัตว์ต่างๆ เมื่อได้รับสารเคมี และฮอร์โมนเหล่านี้เข้าไปในร่างกายแล้ว ก็อาจส่งผล ไปกระตุ้นเซลล์ให้เติบโตผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ สาวๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป จึงควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ และอาจใช้การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) หรืออัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งค่ะ


3.การตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV โดยส่วนใหญ่ไวรัสนี้จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น สาวๆ ทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ต่างก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทุกคนค่ะ ทุกวันนี้พบว่าโรคนี้ เกิดขึ้นในกลุ่มสาวๆ ที่มีอายุเฉลี่ยต่ำลงกว่าเดิม เนื่องจากมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น การตรวจ มะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่ม สามารถทำได้โดย วิธี แปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อหาการติดเชื้อไวรัส HPV สำหรับข้อแนะนำสาวๆ นอกเหนือจากการตรวจแล้ว แนะนำว่าควรป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉีดวัคซีนด้วยค่ะ


4.การตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก เนื่องจาก 20% ของสาวๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการกระดูกพรุน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย ก็เพราะโดยทั่วไปแล้ว เมื่อสาวๆ ถึงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะไม่มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen Hormone) ซึ่งเป็นตัวควบคุมการดูดซึมแคลเซียม (Calcium) เข้าสู่ร่างกาย ประกอบกับธรรมชาติที่มวลกระดูกของ ผู้หญิงจะน้อยกว่าผู้ชาย จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้สาวๆ ในวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองจึงมักจะมีปัญหาสุขภาพกระดูก และข้อมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน และกระดูกบาง สาวๆ จึงควรตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง


5.การตรวจหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือดเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุด โดยเฉพาะเป็นโรคที่ไม่มีอาการเบื้องต้นเป็นข้อบ่งชี้ มีสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค ได้แก่ คอเลสเตอรอลสูง เป็นโรค เบาหวานเรื้อรัง ความอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย รวมถึงการสูบบุหรี่อีกด้วย การตรวจหัวใจ และหลอดเลือดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

Shares:
QR Code :
QR Code