5 สิ่งบนฉลากอาหาร ที่รู้แล้วปลอดภัย

ที่มา : SOOK Magazine No.64


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


5 สิ่งบนฉลากอาหาร ที่รู้แล้วปลอดภัย thaihealth


ปัจจุบันมีอาหารเพื่อสุขภาพวางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดมากมายหลายชนิด เราจะทราบถึงคุณสมบัติของอาหารเพื่อสุขภาพได้จากการอ่านฉลากอาหารบนผลิตภัณฑ์ ว่าให้ประโยชน์และโทษต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ทั้งนี้มีศัพท์ทางวิชาการบางคำที่เราพบได้บ่อย แต่ยังไม่เข้าใจความหมายอย่างถูกต้อง


1. Antioxidant สารต้านอนุมูลอิสระ


เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยสารดังกล่าวจะช่วยปกป้องเซลล์ภายในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ (ได้แก่ มลพิษภายนอก อาหารการกิน การเผาผลาญอาหาร ในร่างกายหรือจากการรับประทานยา) สารต้านอนุมูลอิสระหารับประทานได้ง่ายจากผักและผลไม้หลากสี เช่น แครอท มะเขือเทศ แอปเปิล และผลไม้ตระกูลเบอร์รี ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามิน (วิตามินอีและวิตามินซี) ดังนั้น การรับประทานผักและผลไม้ให้มีความหลากหลายไม่จำเจก็จะทำให้ร่างกายเราได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน เกลือแร่และใยอาหารเป็นของแถมได้อย่างครบถ้วน


2. Omega 3 โอเมก้า 3


เป็นกรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ต้องรับประทานจากอาหารเท่านั้น อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 เป็นอาหารจำพวกปลาทะเล, น้ำมันปลา, น้ำมันถั่วเหลือง และเมล็ดแฟล็ก เป็นต้น โอเมก้า 3 มีความจำเป็นต่อโครงสร้างเซลล์ทำให้ผนังเซลล์มีความยืดหยุ่น ลดภาวะการอักเสบของร่างกายและสามารถควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้อีกด้วย ทั้งนี้การรับประทานอาหารเสริมโอเมก้า 3 ในผู้ป่วยควรอยู่ภายใต้คำแนะนําของแพทย์ เนื่องจากโอเมก้า 3 ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดทำให้เลือดแข็งตัวช้าอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัดหรือผู้ที่ทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด


3. Probiotic โพรไบโอติก


นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตที่เรากินกันเป็นประจำมีส่วนผสมของ Probiotic ซึ่งเป็นชื่อจริงของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตชนิดดี มีส่วนช่วยในระบบขับถ่ายของเรา รักษาสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ในบางครั้งที่เราเจ็บป่วยแล้วมักรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น อาจทำให้แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ถูกกำจัดไป และทำให้ร่างกายไม่สบายได้ การรับประทาน Probiotic จะสามารถช่วยเติมแบคทีเรียที่ดีให้กับร่างกายและทำให้ลำไส้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง


4. Sugar Free ปราศจากน้ำตาล


หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่เติมน้ำตาล หรือมีน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดยสามารถพบทั่วไปบนฉลากลูกอมหมากฝรั่งหรือน้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวอาจมีการเติมสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น Xylitol (ไซลิทอล), Aspatame(แอสปาแตม) เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้ให้พลังงานน้อยมากจนอาจถือว่าไม่ให้พลังงานได้เลย จึงอาจเป็นทางออกให้กับคนที่ติดหวานแต่ไม่อยากได้พลังงานเพิ่ม มีงานวิจัยของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ทั้งในกลุ่มที่ใส่น้ำตาลและในกลุ่มที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล พบว่าเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง และโรคความจำเสื่อมได้ ดังนั้น การรับประทานแต่พอดีไม่หวาน และไม่บ่อยจนเกินไป อาจจะเป็นทางออกที่มีความสุขที่สุด


5. Gluten กลูเตน  


คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในธัญพืช (Cereal) บางชนิด เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ ผลิตมาในรูปแบบของขนมปัง เส้นพาสต้า ซีเรียล ที่จะทำให้เนื้อแป้งขนมปังมีการขึ้นฟู ดังนั้นการรับประทานกลูเตนจึงไม่ได้เกิดผลร้ายต่อผู้บริโภคทั่วไป แต่เราอาจเคยเห็นฉลากอาหาร Gluten-free ในที่นี้หมายถึงอาหารที่ปราศจากกลูเต็น สำหรับผู้ป่วยโรคแพ้กลูเตน (แพ้แป้งสาลี) เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของกลูเตนจะมีอาการท้องอืด เป็นผื่นตามข้อศอกและหัวเข่า รวมถึงลำไส้อักเสบได้


นอกจากการดูฉลากแล้ว สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ ลักษณะอาหาร เช่น สี และร่องรอยการเสียจากจุลินทรีย์ สภาพภาชนะบรรจุซึ่งต้องมีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยฉีกขาด รั่วซึม บุบ บวม หรือบู้บี้ รวมถึงสภาวะการเก็บรักษาซึ่งต้องมีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์

Shares:
QR Code :
QR Code