5 วิธีลดเสี่ยงสารเคมี ที่จะทำให้กินผักได้ปลอดภัยและได้ประโยชน์

ที่มา : ลดพุง ลดโรค

แฟ้มภาพ

                    ผักและผลไม้ เป็นอาหาร 2 หมู่ ในอาหารหลัก 5 หมู่ของไทย แม้ว่าการกินผักและผลไม้ จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคและความเสื่อมสภาพของเซลล์ แต่ถ้าจะให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรจะเลือกรับประทานผักและผลไม้ให้ถูกวิธี ซึ่งมีสิ่งที่ควรคำนึงถึง ดังนี้

1.) กินผักตามฤดูกาล ช่วยลดเสี่ยงสารเคมี

ธรรมชาติไม่ได้สร้างให้ผักทุกชนิดเติบโตได้ดีตลอดปี แต่เพื่อตอบสนองต่อการบริโภค ทำให้มีการปลูกผักนอกฤดู ซึ่งกระบวนการผลิตมักต้องใช้สารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เนื่องจากผักผลไม้ที่ปลูกนอกฤดูมักอ่อนแอ แต่ถ้าเราหันมากินผักตามฤดูกาล นอกจากจะได้ประโยชน์จากผักที่เติบโตตามธรรมชาติ โตในช่วงเวลาที่มีศัตรูธรรมชาติน้อย เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ผักนั้นก็จะเติบโตอย่างแข็งแรงตามธรรมชาติ และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์เต็มที่ แถมยังซื้อหาได้ง่ายในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย รวมถึงการกินผักที่เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงฤดู ก็จะทำให้เราได้กินผักที่หลากหลาย ได้สารอาหารที่แตกต่างกันไปเป็นประโยชน์กับร่างกายอีกด้วย

2.) ผักพื้นบ้านกินดีมีประโยชน์

ผักพื้นบ้านก็คือพืชพรรณที่สามารถพบเจอได้ในทั่วไปในแต่ละท้องที่ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของผักพื้นบ้านแต่ละชนิด การกินผักพื้นบ้านที่มีความหลากหลาย และมักเป็นผักที่แข็งแรง ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน ไม่ผ่านกระบวนการผลิตจำนวนมากๆที่ทำให้เราต้องเสี่ยงต่อการใช้สารเคมีในการปลูก ที่สำคัญคือผักพื้นบ้านของไทยล้วนมีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง หลายชนิดมีสรรพคุณทางยา ช่วยป้องกันโรคได้ และยังหารับประทานง่ายราคาก็แสนจะถูก เช่น กระถิน กระเจี๊ยบ ขี้เหล็ก แค ตําลึง ผักหวานบ้าน เป็นต้น

3.) ล้างผักให้เป็นนิสัย

การกินผักเป็นประจำส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมทั้งการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ที่อาจติดมากับปุ๋ยและดิน เพื่อความปลอดภัยเราจึงควรใส่ใจเป็นพิเศษในการล้างผักให้สะอาด ทำให้เป็นประจำจนเคยชิน เพราะทำได้ง่าย สามารถช่วยลดสารพิษและสิ่งปนเปื้อนต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

วิธีง่ายๆก็คือ 1.ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือ 2. แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด และ 3. คือการใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด 4. น้ำยาล้างผักที่จำหน่ายโดยทั่วไปนำมาผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากแช่ทิ้งไว้ประมาณ 3 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด

4.) เลือกซื้อผักจากแหล่งที่ปลอดภัย

ในปัจจุบันมีการปลูกผักปลอดสารพิษออกมาจําหน่ายในท้องตลาดมากมาย เราสามารถเลือกซื้อผักที่ปลอดภัยจากสารพิษจากแหล่งที่ไว้ใจได้ มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ทราบที่มาของการผลิต เช่น ผักอนามัย รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร , ผักเกษตรอินทรีย์ เป็นผักที่ปลูกโดยไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกําจัดโรคและแมลงเลย โดยมีสํานักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นผู้รับรอง , ผักระบบ CSA , เลือกจากร้าน/ตลาดเขียว หรือถ้าต้องซื้อผักจากร้านค้าทั่วไป ควรระวังผักที่มีคราบขาวของสารเคมี สังเกตตามซอกใบของผักชนิดต่างๆ ว่ามีความผิดปกติ เช่น เขียวสดเกินไป อยู่นานหลายวันแต่เหี่ยวช้ากว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ เป็นต้น

5.) ปลูกผักกินเองดีที่สุด

การปลูกผักไว้รับประทานเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราและคนในครอบครัวได้บริโภคผักที่ปลอดจากสารพิษอย่างสิ้นเชิง แถมยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย มีกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัว ทำให้ที่พักอาศัยดูร่มรื่นน่าอยู่อีกด้วย คนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจสีเขียว ที่คิดจะปลูกผักทานเอง อาจจะเริ่มจากการมองหาพื้นที่เล็กๆริมระเบียงคอนโดฯ หรือที่ว่างข้างบ้าน แล้วเริ่มต้นจากปลูกผักที่คนในครอบครัวชอบก่อน ผักประเภทที่ใช้ทำครัวบ่อย อาจจะปลูกในกระถางหรือตะกร้าแขวน โดยมือใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ค่อนข้างยาก เพราะสมัยนี้มีพืชผักสวนครัวที่มีลำต้นสมบูรณ์ทั้งรากและใบวางขายตามตลาดให้เลือกมากมาย เช่น มะนาว, พริก, กะเพรา, ต้นหอม, ผักชี ฯลฯ ซึ่งก็ล้วนปลูกง่าย ดูแลง่าย ปลูกไม่นานก็เก็บกินผลที่น่าภาคภูมิใจได้ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code