5 วิถี สร้างสังคมปลอดบุหรี่

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


5 วิถี สร้างสังคมปลอดบุหรี่ thaihealth


สืบเนื่องจากผลงานที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชน ท้องถิ่นน่าอยู่ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อออกแบบการรณรงค์และขับเคลื่อนกิจกรรม "เลิกสูบ ก็เจอสุข 5 วิถีปลอดบุหรี่โดยชุมชนท้องถิ่น" ทำให้เกิด 1.การเพิ่ม และสร้างบุคคลต้นแบบที่น่าเป็นแบบอย่าง 2.เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ 3.สร้างคลินิกเลิกบุหรี่ 4.เพิ่มกติกาทางสังคม 5.บังคับใช้กฎหมายซึ่งถือว่าเป็น "กลยุทธ์การรณรงค์การควบคุมการบริโภคยาสูบ"


ทำให้เกิดภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนการทำงานในระดับพื้นที่ชุมชนที่ประสบผลสำเร็จ ผ่านกลยุทธ์การรณรงค์ "เลิกสูบ ก็เจอสุข" ทำให้เกิดพื้นที่เครือข่ายและพัฒนากลไกการรณรงค์ในระดับพื้นที่ เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสังคมปลอดบุหรี่


คุณพนมพร พรมพ่อ ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลนาเลียง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม หนึ่งในบุคคลต้นแบบการขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบดีเด่น ประจำปี 2560 เล่าถึง การสร้างบุคคลต้นแบบ และจิตอาสาในการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ที่จัดว่า เป็น วิถีที่ 1  บอกว่า เราให้เด็กและเยาวชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนให้ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาในเรื่องการบริโภคยาสูบ สร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นจากขบวนการทำงาน มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจถึงสาเหตุหลักที่เยาวชนเลือกสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการอยากรู้และอยากลอง และมีมุมมองว่าถ้าสูบบุหรี่แล้วจะเท่ เมื่อรู้ถึงต้นเหตุ เราจึงจับกลุ่มคนที่มีทัศนคติเหล่านี้เข้ามาเป็นแกนนำร่วมกับสภาเด็กและเยาวชน เพื่อจัดกิจกรรมการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ ในเรื่องการเก็บข้อมูล แล้ววางแผนจัดกิจกรรม ให้เหมาะสม เช่น ดนตรี กีฬา รวมถึง สอดแทรกความรู้เรื่องโทษของบุหรี่ สุขภาพที่ดีของการเลิกบุหรี่


คุณวงวรรณ เทพอาจ จากเทศบาลตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน อธิบายเกี่ยวกับการทำงานในการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในพื้นที่ของตน ที่ถือว่า เป็น วิถีที่ 2 เล่าว่า ต้องมีการผลักดันเข้าสู่ชุมชนอย่างจริงจังจึงจะเกิดผลดี โดยตามกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ได้มีการประกาศให้เขตพื้นที่จะต้องติดป้ายสัญลักษณ์พื้นที่ปลอดบุหรี่ หากไม่มี โดนโทษปรับ 50,000 บาท ตามข้อกฎหมาย รวมถึง ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ซึ่งมีการกำหนด อายุขั้นต่ำของผู้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบ จากเดิม อายุ 18 ปี เป็นอายุ 20 ปี และห้ามแบ่งขาย ผลิตภัณฑ์ยาสูบแยกเป็นมวน รวมถึงห้ามขาย ในสถานที่ต่างๆ เช่น วัด สถานบริการ สาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ และเพิ่มโทษการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ จากปรับไม่เกินสองพันบาท เป็นมีโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และมีข้อกฎหมายอีกหลายข้อที่เปลี่ยนแปลงและเข้มข้นขึ้น จึงเกิดกระบวนการผลักดันมาตรการต่างๆ เข้าสู่ ชุมชน นำสู่การปฏิบัติจริง เพื่อทำให้ข้อกฎหมาย ยาสูบมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเทศบาลตำบลปัวได้สร้างมาตรการ ภายใต้ชื่อ งาน สีดำปลอดบุหรี่ ผลักดันเข้าสู่ 13 ชุมชนในเขตพื้นที่ พร้อมประกาศใช้ผ่านกลุ่มแกนนำชุมชน โดยทุกครั้งที่มีงานสีดำ เช่น งานศพ จะต้องมีการติดป้ายงานสีดำปลอดบุหรี่ เป็นการให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์ ภายในงานต้องงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เป็นการเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่กระตุ้นเตือนสร้างจิตสำนึกของผู้สูบและผู้ไม่สูบในพื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ ตามที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้ โดยผู้นำชุมชนจะเป็น ผู้โน้มน้าวพูดคุยกับคนในชุมชนปฏิบัติตาม


คุณนัดรุดดีน เจะแน จากองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงสะโต อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เล่าถึงการเพิ่มกติกาทางสังคม ที่จัดว่าเป็นวิถีที่ 3 บอกว่า การสร้างกติกาในพื้นที่เพื่อการเลิกบุหรี่ ต้องผ่านกระบวนการดังนี้ 1.ต้องเปิดให้พื้นที่ต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้พื้นที่ปลอดบุหรี่ 2.กิจกรรมสาธารณะของชุมชนต้องปลอดบุหรี่ 3.มีการกำหนดเงื่อนไขการจัดสวัสดิการชุมชน สำหรับผู้ที่ ลด ละ เลิกได้ ซึ่งที่โรงเรียนตาดีกา ได้ริเริ่มการ ดำเนินงานสุขภาวะตั้งแต่ พ.ศ 2556 มีการกำหนดกติกา ไม่รับครูที่สูบบุหรี่เข้ามาสอนเด็ดขาด และในเขตพื้นที่จะต้องไม่มีคำว่าฅพื้นที่สูบบุหรี่เด็ดขาด ทำให้พื้นที่โรงเรียนตาดีกาทั้ง 13 อำเภอ เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% เรียบร้อยแล้ว


วิถีที่ 4  การเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ในชุมชนและการจัดให้พื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ได้ครอบคลุมพื้นที่ 4 องค์กรหลักองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ที่ทำการกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน, ที่ทำการสภาองค์กรชุมชน, หน่วยงานในพื้นที่ และพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ศาลาประชาคม และศาสนสถาน


สำหรับการดำเนินการ สร้างคลินิกเลิกบุหรี่ ที่ยกให้เป็น วิถีที่ 5  นั้น มีแนวทางในการทำงาน 5 ข้อ คือ 1.จัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาสูบในพื้นที่ 2.พัฒนาบริการของหน่วยสุขภาพในพื้นที่ 3.บริการบำบัดโดย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่น การนวดสมุนไพร/การกดจุดช่วยเลิก/สมุนไพร ช่วยเลิก 4.สร้างช่องทางการเข้าถึง และส่งต่อ ผู้สูบบุหรี่ไปยังหน่วยบำบัดฟื้นฟู 5.พัฒนา นวัตกรรมการบำบัดโดยใช้ภูมิปัญญา


การทำงานผ่านกิจกรรมโดยการปฏิบัติจริง จะทำให้เห็นผลชัดเจน ที่มีทั้งการวัดและประเมินผลได้อย่าง ถูกต้อง ทำให้ง่ายต่อการทำงานในเรื่อง ลด ละ เลิก บุหรี่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และ สามารถขยายภาคีเครือข่ายให้มีความเข้มแข็ง มีกำลังเพียงพอต่อการรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ต่อไปอย่างมั่นคง

Shares:
QR Code :
QR Code