5 มาตรการ ฉีด ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด สู้ ไข้หวัดใหญ่

ที่มา :  เว็บไซต์ไทยรัฐ


5 มาตรการ ฉีด ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด สู้ ไข้หวัดใหญ่ thaihealth


แฟ้มภาพ


ประกาศเตือนสมาชิกทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหมือนการส่งสัญญาณเตือนภัยให้เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมรับมือ  โรคไข้หวัดใหญ่  เนื่องจากมีการพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี ทั้งยังย้ำเตือนด้วยว่าที่ผ่านมาในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้สังเวยชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ถึงปีละ 5 แสนราย จึงถือเป็นเรื่องที่ทั่วโลกไม่ควรมองข้าม ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย


โรคไข้หวัดใหญ่นั้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีโอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้ตลอดเพื่อไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์


แต่อีกสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย ทั้งจากการ ไอ จามใส่กัน หรือแม้แต่การหอมแก้มก็สามารถแพร่เชื้อให้กันได้ โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อมีการสัมผัสกับเชื้อแล้ว ผู้สัมผัสจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไปแต่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่า โดยจะมีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว โดยทั่วไปจะมีอาการ 2-3 วัน แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงเพราะมีภาวะปอดบวมร่วมกับหายใจหอบ และนั่นถือเป็นสัญญาณเตือนที่ต้องรีบพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตได้


หากเจาะลึกลงไป ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุชัดว่า ในปี 2561 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 180,000 ราย เสียชีวิต 32 ราย แต่ที่น่าตกใจคือ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–21 มี.ค. 2562 หรือเพียง 80 วันของปี 2562 พบ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงถึง 99,087 ราย และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย


ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้มีการประกาศเตือนว่า จากการคาดการณ์ในปี 2562 จะมีไข้หวัดใหญ่ระบาด เพราะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกัน เพราะโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ไม่สามารถพยากรณ์แน่ชัดได้ว่าจะระบาดช่วงไหน แต่ให้ดูว่าหากเมื่อใดที่พบว่า 10% ในโรง พยาบาลมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้เฝ้าระวังได้เลยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์จะมีการระบาดแน่นอน ดังนั้น การป้องกันจึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่รักษาได้ ป้องกันได้ แต่ก็เป็นโรคที่ทำให้ตายได้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่าการฉีดวัคซีนมีความคุ้มค่าและคุ้มทุนมากที่สุด เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับการป่วย หรือถึงแม้จะป่วยก็จะลดระยะเวลาในการนอนโรง พยาบาลลงได้


“การฉีดวัคซีนนั้นก็ยังป่วยได้เพราะไข้หวัดใหญ่สามารถกลายพันธุ์ได้ แต่จะช่วยลดความรุนแรงของโรค โดยวัคซีนจะมีประสิทธิภาพ 50-70% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ใช้ฉีด ซึ่งวัคซีนจะมีแบบ 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ โดยไข้หวัดใหญ่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือชนิด A ได้แก่ A (H1N1) กับ A (H3N2) และชนิด B ได้แก่ บีวิกตอเรียและบียามากาตะ โดยในปี 2562 นี้ สายพันธุ์ B จะพบได้มากกว่า A ส่วนความรุนแรงของเชื้อนั้นก็มีความรุนแรงของโรคเท่ากัน แต่สายพันธุ์ B จะมีโอกาสเป็นในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 9 เท่า” ศ.นพ.ประเสริฐ ขยายภาพถึงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่


ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ในแต่ละปีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการจัดหาวัคซีนให้กับ 7 กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กเล็ก อายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน 4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป 6.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และ 7.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียรวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ เพราะทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงนี้ เมื่อป่วยแล้วจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนการรักษาทำได้โดยการให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะจะทำให้อาการรุนแรง ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีภาวะแทรกซ้อนให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาเพราะโรคนี้เสียชีวิตได้หากไปรักษาไม่ทัน


“อีกมาตรการการป้องกันโรคที่สำคัญคือ ให้ยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ 1.ปิดคือปิดปากและปิดจมูก เมื่อไอจาม ต้องใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้ง 2.ล้างคือ ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได 3.เลี่ยงคือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 4.หยุดคือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงานแม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ” นพ.สุวรรณชัย เน้นย้ำถึงมาตรการการป้องกันโรค


แผนการดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการฉีดวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงของโรคให้กับ 7 กลุ่มเสี่ยง หรือมาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” กระจายของโรค เพื่อขานรับสัญญาณเตือนภัยของ WHO น่าจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการป้องกันโรค รวมถึงช่วยสะกิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อม ทั้งการป้องกันและดูแลรักษาอย่างทันท่วงที


แต่สิ่งที่เราอดห่วงไม่ได้และขอฝากคือ การที่ทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจปฏิบัติกันอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ปล่อยให้มาตรการที่จะสามารถต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่เป็นเพียงแค่ข้อความบนแผ่นกระดาษ ที่ไร้ซึ่งการนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะถึงวันนี้ขนาดองค์การอนามัยโลกยังส่งสัญญาณเตือนภัยถึงความร้ายกาจและโอกาสที่ ไวรัสอินฟลูเอนซ่าที่นำมาซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีโอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้ตลอด

Shares:
QR Code :
QR Code