4 เหตุผลที่ต้องวางแผนเกษียณ
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
แฟ้มภาพ
เพียงแค่ชั่วหลับตา ปีนี้ก็ผ่านพ้นเทศกาลฉลองปีใหม่ของคนไทยไปถึง 3 เทศกาล ตั้งแต่วันขึ้น ปีใหม่สากล วันตรุษจีน และวันสงกรานต์วันขึ้นปีใหม่ของคนไทย เวลาทำงานอย่างเที่ยงตรงไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจริงๆ วันนี้ก็ล่วงเข้ามาเป็น วันที่ 115 ของปีนี้ และอาจเป็นวันที่ล่วงเลยมาถึงหลักพันหรือหลักหมื่นของเส้นทางชีวิตของใครบางคน
ในวันวานที่เรายังเป็นเด็กๆ อาจรู้สึกอยากให้เวลาหมุนเร็วขึ้น เพื่อจะได้ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่เด็กๆ มักคิดและวาดฝันว่าจะสามารถทำอะไรได้ดังใจ แต่เมื่อ วันนี้ถ้าเราได้ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานดูแลตนเอง หลายคนก็อาจรู้สึกอยากให้เวลาหมุนช้าลง เพื่อจะได้มีเวลาทำงานที่สุมอยู่เต็มโต๊ะได้มาก และได้มีเวลาเหลือมากขึ้นให้อยู่ชื่นชมความสวยงามที่อาจจะบิดเบี้ยวไปบ้างของโลกใบนี้
แต่ในวันที่เราอาจเหลือวันพรุ่งนี้ไม่มากนัก และไม่เหลือความรับผิดชอบใดๆ ให้ต้องแบกหลังเกษียณ บางคนก็ยิ่งอยากให้เวลาหมุนยิ่งช้าลงเพื่อจะได้อยู่ดูความเติบโตของลูกหลานในครอบครัว แต่บางคนก็อาจอยากภาวนาให้เวลาของชีวิตหยุดลงทันที ถ้าไม่มีความสวยงามในชีวิตหลงเหลืออยู่ เนื่องจากสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน สุขภาพเงินทองที่เริ่มขัดสนจากรายได้ที่ลดลงหรือหายไป แต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้น รวมไปถึงสุขภาพใจที่อาจซึมเศร้าเพราะขาดคนเหลียวแล แต่สัจธรรมแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นความจริงที่เราทุกคนที่ยังไม่หลุดพ้นไปจากสังสารวัฏไม่สามารถหลีกเลี่ยงกันได้
หลายคนอาจคิดว่า การวางแผนเพื่อวัยเกษียณเป็นเรื่องของคนแก่ที่ใกล้จะเกษียณแล้วค่อยไปคิดกัน แต่ความจริงแล้วถ้ารอให้ถึงวันที่ใกล้จะเกษียณแล้วค่อยมาคิดวางแผนก็ต้องบอกว่าสายเกินไป เพราะการวางแผนเพื่อวัยเกษียณควรเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว เริ่มต้นตั้งแต่วันที่เราทำงานมีรายได้เป็นของตนเอง
4 เหตุผลต่อไปนี้ คือคำตอบว่าทำไมแผนเกษียณจึงควรเป็นเรื่องที่คนทุกคนต้องให้ความสำคัญ
1.เราอาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีหรือไม่ได้เลยเมื่อเกษียณ
การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์ ผู้สูงอายุประเมิน ว่าร่างกายโดยรวมมีภาวะสุขภาพดีมาก ร้อยละ 3.3 ภาวะสุขภาพดีร้อยละ 42.4 ภาวะสุขภาพปานกลางร้อยละ 38.3 ภาวะสุขภาพไม่ดีร้อยละ 13.9 และภาวะสุขภาพไม่ดีมากร้อยละ 2.1 ลองคิดดูว่าถ้าสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงต่อให้งานที่เราทำไม่มีการกำหนดอายุเกษียณ แต่สังขารก็คงไม่เอื้ออำนวยให้เราสามารถหารายได้เหมือนในช่วงก่อนเกษียณ
2.เราอาจไม่มีลูกหลานดูแลหรือลูกหลานอาจไม่สามารถดูแลเรา
ผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของประชากร พ.ศ. 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สถานภาพสมรสของประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สมรส ร้อยละ 60.1 ในจำนวนนี้คิดเป็นร้อยละ 61.3 และ 58.9 ของประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไป เพศชายและหญิงตามลำดับ นั่นหมายความว่ามีคนไทยหลายๆ คนที่ไม่ได้แต่งงาน และอาจไม่มีลูกหลานมาดูแล ยิ่งไปกว่านั้นแล้วคนไทยหลายๆ คนที่แต่งงานก็อาจมีลูกหลานที่ไม่สามารถดูแลพ่อแม่ได้ทัน เนื่องจากรายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ. 2559 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ผู้ชายเจนวายโดยเฉลี่ยคิดที่จะแต่งงานเมื่ออายุ 29.3 ปี ในขณะที่ผู้หญิงเจนวายโดยเฉลี่ยคิดที่จะแต่งงานเมื่ออายุ 28.1 ปี ในขณะที่อายุเฉลี่ยแรกสมรสของผู้ชายเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์อยู่ที่ 27.2 และ 24.8 ปี ตามลำดับ ส่วนอายุเฉลี่ยแรกสมรสของผู้หญิงเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์อยู่ที่ 24.0 และ 22.8 ปี ตามลำดับ ข้อมูลดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบันคนไทยแต่งงานกันช้าลง และอาจทำให้คนไทยบางคนอาจยังต้องไปรับส่งลูกในวัยหลังเกษียณ
3.เราอาจไม่มีคนอื่นมาดูแลเราให้ดีเท่ากับปัจจุบัน
ไม่เชื่อลองดูสิครับว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่บุคคลที่มีสัญชาติไทย มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเทศบาล อบต. แบบขั้นบันไดต่อไปนี้จะเพียงพอกับมาตรฐานการดำรงชีวิตในปัจจุบันของเราหรือไม่
– อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท
– อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท
– อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท
– อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
4.เราอาจมีเวลาที่ต้องดูแลตัวเองหลังเกษียณยาวนานขึ้น
เนื่องจากหลายคนอาจมีการเกษียณอายุก่อนกำหนด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจจากการต้องการทำความฝันที่ขาดหายไปในห้วงเวลาที่สังขารยังเอื้ออำนวย หรือไม่ตั้งใจแต่ถูกบีบบังคับทางอ้อมให้สมัครใจออกจากงานก่อนกำหนดด้วยวลีสวยหรูว่า Early Retire นอกจากนั้นอายุขัยหลังเกษียณของคนไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนใครต่อใครอาจคาดไม่ถึง ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบันในตารางต่อไปนี้ดูสิครับ
ข้อมูลสนับสนุนมากมายขนาดนี้คงไม่ต้องบอกแล้วนะครับ ว่าทำไมใครๆ ก็ต้องวางแผนเกษียณ แต่ขั้นตอนการวางแผนเพื่อวัยเกษียณจะต้องทำอย่างไรบ้าง คงต้องติดตามกันในตอนต่อไปครับ