4 อาการที่ ‘ผู้หญิง’ อย่านิ่งนอนใจ

ที่มา : คอลัมน์สุขกับเซ็กส์ เรื่องโดย รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง  (สคส.)


4 อาการที่ ‘ผู้หญิง’ อย่านิ่งนอนใจ thaihealth


การมีประจําเดือน ทําให้ร่างกายของผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นมีประจําเดือนในวัยแรกรุ่นไปจนถึงช่วงวัยของการหมดประจําเดือน รวมทั้งในแต่ละเดือน ระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายมีการเพิ่มขึ้นและลดลง เพื่อควบคุมการทํางานของระบบอนามัยเจริญพันธุ์


ถึงการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เราควรฝึกสังเกตร่างกายให้เป็นนิสัย เพื่อจะพอประเมินได้ว่า อาการแบบไหนไม่ควรนิ่งเฉย แต่น่าจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการ


1. ก้อนในนม ก้อนในนมเกิดได้จากหลายสาเหตุ มีแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่อาจเป็นเนื้อร้ายที่เรียกว่า “มะเร็งเต้านม” ส่วนใหญ่เจ้าก้อนเหล่านี้เกิดจากการเกาะตัวกันของไขมัน หรือเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจเป็นเนื้องอกหรือซีสต์ที่ไม่เป็นอันตราย โดยมากขนาดจะไม่เกิน 2 เซนติเมตร และอาจมีหลายก้อน เช่น 3-5 ก้อน พบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ช่วงอายุ 20-40 ปี


อย่างไรก็ดี การไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจํา หรืออย่างน้อยตรวจคลําด้วยตัวเอง จะทําให้ค้นพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ เพราะหากเจ้าก้อนเหล่านี้โตขึ้น จนขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร หรือมีมากเป็นสิบก้อน คุณหมออาจตัดสินใจตรวจอย่างละเอียดเพื่อความแน่ใจ


2. เลือดออกผิดปกติ เลือดออกกะปริบกะปรอย มาๆ หายๆ นอกรอบประจําเดือน มีอาการปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อย หรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณของเนื้องอกมดลูก


แต่ถ้าเลือดออกกะปริบกะปรอยทุกวัน หรือวันเว้นวัน รอบประจําเดือนมาเร็วกว่าปกติหรือมีเลือดออกนอกรอบประจําเดือน หรือมีเลือดออกหลังหมดประจําเดือนไปแล้วหลายปี และในบางรายอาจมีเลือดออกมาก รวมทั้งเลือดที่ออกมาเป็นลิ่มๆ ต้องใช้ผ้าอนามัยซับมากกว่าวันละ 5 แผ่น ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะเป็นสัญญาณของมะเร็งปากมดลูก


3. ท้องอืด เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ถึงโรคมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ดี สัญญาณโรคนี้มีหลากหลายและค่อนข้างคลุมเครือ อาการท้องอืดยังเป็นอาการที่ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญในช่วงของการมีรอบเดือน แล้วจะรู้ได้อย่างไร ท้องอืดแบบไหนไม่ปกติ?


ลองสังเกตดูว่า ถ้าอาการท้องอืดบ่อยๆ นอกช่วงของการมีประจําเดือน และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะได้ตรวจเลือด และอัลตร้าซาวน์ เพื่อค้นหาสาเหตุของความผิดปกติ


4. ตกขาว ตกขาวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพราะเป็นการทํางานของระบบอนามัยเจริญพันธุ์ในการให้ความชุ่มชื้น และช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อ ตกขาวทั่วไป มีลักษณะใส หรือสีขาวขุ่นความข้นแตกต่างกันไปสัมพันธ์กับรอบประจําเดือน แต่ถ้าสังเกตเห็นว่า ตกขาวมีสีแปลกๆ มีกลิ่นรุนแรง หรือมามากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการ


อย่าหงุดหงิดรําคาญกับการมีประจําเดือนที่ทําให้รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะถ้าเรามองมุมใหม่ เพิ่มความเป็นมิตรกับร่างกายให้มากขึ้น เราก็จะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีประโยชน์ เพราะเป็นการสื่อสารให้เรารับรู้ได้ว่า ร่างกายยังทํางานเป็นปกติดีอยู่หรือไม่และหากร่างกายส่งสัญญาณผิดปกติก็จะได้ดูแลรักษาอย่างทันท่วงที


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code