4 หน่วยงาน ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
4 หน่วยงานผนึกกำลังพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ตั้งเป้า 900 หมู่บ้าน 90 ตำบล 90 อำเภอ 76 จังหวัด ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พอช.และสสส. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนา “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง” สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งเป้า 900 หมู่บ้าน 90 ตำบล 90 อำเภอ 76 จังหวัด ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา
เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่าง วันที่ 7 – 8 กันยายน 2559 มีการปาฐกถา เปิดมุมมอง “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดย นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งภายในงานมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทาง แนวทางภายใต้ภารกิจความร่วมมือ 4 หน่วยงานในการพัฒนาพื้นที่บูรณาการ สู่การขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งมีผู้ข้าร่วมกว่า 500 คน
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า พอช.มีภารกิจตามหน้าที่ในการพัฒนาองค์กรชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ สร้างความยอมรับ และการรับรองสถานภาพขององค์กรชุมชน การพัฒนาการเงินสินเชื่อและเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาประชาสังคมและความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคี การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงาน คือ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พอช. และสสส. มีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีเป้าหมายเดียวกัน ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเน้นให้เกิด “ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 900 หมู่บ้าน 90 ตำบล กระจายตัวใน 90 อำเภอ 76 จังหวัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ซึ่งมีกรอบการทำงาน 6 ข้อ คือ 1. พัฒนาและบูรณาการการจัดทำระบบข้อมูลการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระดับหมู่บ้านและตำบล โดยชุมชนเอง ครอบคลุมด้านสังคม ประชาธิปไตย เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ 2.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ระบบข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน/แผนชุมชนสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น และแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 3.เพิ่มขีดความสามารถของแกนนำและบุคลากรที่ทำงานด้านการพัฒนาชุมชน 4.พัฒนาตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งเพื่อใช้ในกระบวนการเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนในทุกระดับตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และประเมินผลการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5.สนับสนุนและพัฒนาให้เกิดชุมชนท้องถิ่นต้นแบบการทำงานพัฒนาเชิงบูรณาการโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง 6.ให้มีคณะทำงานร่วม เพื่อดำเนินการ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการขับเคลื่อนและดำเนินการตามเจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้นให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี
นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า สสส. กำหนดทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (2555-2564) มีเป้าเหมายเฉพาะให้ “ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง” ซึ่งขับเคลื่อนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) โดยในปีนี้เน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต้นแบบ ในด้านต่างๆ เช่น การสร้างเศรษฐกิจฐานราก การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น โดยเน้นการเสริมสร้างศักยภาพ การจัดการความรู้ การพัฒนานวัตกรรมการจัดการสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและได้พัฒนาตัวเองจนก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน ที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์หรือองค์ความรู้ที่ได้รับการสังเคราะห์จากทุนทางสังคมที่เป็นที่ประจักษ์ชัด
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดวิสัยทัศน์ "เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ภายในปี 2564" โดยมีพันธกิจในการทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วยศักยภาพของชุมชน สร้างและพัฒนาผู้นำชุมชนที่พึ่งได้จริงให้มากพอ บูรณาการทุนชุมชนขับเคลื่อนชุมชน โดยใช้หลักธรรมาภิบาล ให้เศรษฐกิจในชุมชนขับเคลื่อนชุมชนเพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ พัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมความสุขในการทำงาน
นายดุษฎี สุวัฒวิตยากร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีพันธกิจในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความทันสมัย มีขีดสมรรถนะสูง และพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ นำนวัตกรรมมาใช้และพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศในการบริหารจัดการ สร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ให้คำแนะนำปรึกษาประสานและสนับสนุนการบริหารจัดการและการให้บริการสาธารณะ ให้สามารถปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล พัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้