4 ผู้หญิงแกร่ง สู้เพื่อ `บ้านปลอดบุหรี่`
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เปิดอก '4 ผู้หญิงแกร่ง' สู้เพื่อ 'บ้านปลอดบุหรี่'
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานอันดับต้นๆ ของไทย ในการรณรงค์ให้ความรู้อันตราย ของพิษภัยบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิเพื่อนหญิง สมาคมหมออนามัย จัดเวทีเสวนา "แม่ให้ชีวิต บุหรี่ให้ความตาย" ภายใต้โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน
ในงานนี้ทำให้ได้พบว่าหัวอกของผู้หญิงบางครั้งก็ยากที่ จะหลีกเลี่ยงเมื่อมีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ แม้ตนเองจะไม่ใช่คนสูบ แต่ก็จำต้องรับสารพิษจากการรับควันบุหรี่มือสอง หรือมือสาม ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาสำคัญอีกชิ้นหนึ่งในสังคมทุกวันนี้ ที่จะต้องทำให้คนในบ้านอยู่อย่างปกติสุข ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพคุกคามอยู่ทุกๆ วัน
คุณแม่ทองดี โพธิยอง แม่ที่ต้องเสียลูกสาวจากบุหรี่ มือสอง ชา วอ.สารภี จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ในชีวิตต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปถึง 5 ชีวิตจากพิษภัยของบุหรี่ โดยในปี 2546 ต้อง สูญเสียลูกสาวจากการที่ลูกเป็นคนทำงานรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ ทำให้ต้องลงพื้นที่ไร่ยาสูบบ่อยครั้ง รวมถึง คลุกคลีกับคนที่สูบบุหรี่ในชุมชนเพราะต้องการให้พวกเขาเลิกสูบ ส่งผลให้ลูกสาวได้รับควันบุหรี่มือสอง จนป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิต ต่อมาในปี 2553 ลูกชายเสียชีวิตหลังจากที่เริ่มต้นสูบบุหรี่จากการหยิบยื่นให้ของ เพื่อนๆ นานๆ เข้ากลายเป็นบุหรี่ที่ยัดไส้ยาเสพติด ลูกชายจากที่ ใบหน้าหล่อเหลาพอที่จะเป็นดาราได้ กลายเป็นคนที่มีร่างกาย ทรุดโทรม ท้ายที่สุดเป็นโรคสารเคมีสมองสั่งการ จบชีวิตลงด้วยการกินยาฆ่าแมลง
ไม่เพียงเท่านี้ สามีที่เป็นคนไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับผลกระทบ จากควันบุหรี่และเสียชีวิตในปี 2556 ร้ายไปกว่านั้น หลานสาว ซึ่งเป็นคนไม่สูบบุหรี่ แต่แต่งงานกับชาวต่างชาติที่สูบบุหรี่จัดมาก เมื่อตั้งครรภ์และคลอดลูก กลับต้องเสียชีวิตจากผลแทรกแซงที่ เกิดขึ้นจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ส่วนเหลนที่เกิดมาต้องเข้า ตู้อบ ไม่นานก็เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสาม
คุณรอซีดะห์ ปูซู จากเครือข่ายมูลนิธิเพื่อนหญิง ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตนมีพี่น้องรวมกัน 6 คน เป็นผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 3 คน ที่มีปัญหาติดบุหรี่คือน้องชายกับคุณพ่อ ส่วนตัวเอง เป็นคนแพ้กลิ่นง่ายมาก ก็ตั้งคุณสมบัติสามีไว้ว่า ไม่ต้องหน้าตาดี ไม่ต้องมีเงินเดือน แต่ขอเพียงแค่ไม่สูบบุหรี่และเคร่งครัดศาสนาก็พอ ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ได้สามีตามที่ตั้งใจไว้ แต่ในส่วนของครอบครัวนั้น คนที่ได้รับผลกระทบคือคุณแม่ เพราะคุณแม่เป็นโรควัณโรค จำเป็นต้องระวังอากาศที่เป็นพิษ มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดอาการหอบหืดได้ จึงจับจุดที่คุณแม่ป่วยมาเป็นกฎในการต่อสู้กับพ่อและน้องชาย ไม่ให้ สูบบุหรี่และจัดโซนนิ่งในบ้านด้วยการเอาแผ่นสติ๊กเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ ติดในบ้าน เพื่อประกาศว่าบ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่ และให้ไปสูบบุหรี่ พื้นที่ภายนอกแทน ซึ่งการจัดสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ก็จะช่วยกดดันให้ คนในครอบครัวต้องระวังเรื่องการสูบบุหรี่ และเลิกสูบบุหรี่ได้ อย่างคุณพ่อก็เลิกสูบแล้วด้วยเพราะอายุมากแล้วและมีปัญหาสุขภาพ ส่วนน้องชายเนื่องจากทำงานที่มาเลเซีย พอกลับมาบ้านเพื่อนๆ ก็ซื้อบุหรี่มาสูบกัน จึงยังเลิกไม่ได้ แต่เขาก็รักแม่ห่วงสุขภาพแม่ จึงยอมออกไปสูบข้างนอกบ้าน
คุณสุรีย์ ไชยสุกุมาร ชาวกรุงเทพฯ แม่ที่มีลูกชายสูบบุหรี่ บอกว่า ตนมีลูกชาย 3 คน ไม่มีใครสูบบุหรี่ จนเมื่อ 3 ปีก่อน รู้ว่า ลูกชายคนเล็กสูบเพราะเห็นก้นบุหรี่ที่เขี่ยทิ้งไว้ในขวดน้ำ นับได้ราวๆ 14 มวนต่อวัน แต่จะสูบมากกว่านี้หรือไม่ไม่ทราบ จนเริ่มสังเกต เห็นว่าช่วงเช้า ลูกเริ่มมีอาการไอ จาม จึงคิดว่าจะหาวิธีบอกลูก ให้เลิกสูบอย่างไรดี เพราะตนเองก็ทำงานรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ หากลูกชายสูบก็รู้สึกอาย เลยตัดสินใจ บอกลูกว่าคุณย่าเป็นโรคภูมิแพ้หากมีคนสูบบุหรี่ อาการของย่า ก็จะกำเริบง่าย แต่ยังไร้ผล จนผ่านไปราว 4-5 เดือน ญาติมาบอกว่า ลูกชายอยากเลิกบุหรี่แต่ไม่กล้าบอกแม่
เธอเล่าว่า วิธีการที่ใช้หลังจากรู้ว่าลูกอยากเลิกบุหรี่ คือ เอาเอกสารต่างๆ ที่ใช้ในการรณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่มาวางไว้ตามส่วนต่างๆ ของบ้านเพื่อให้ลูกชายเห็น แต่ไม่ได้พูดอะไรเพราะเคยพูดแล้วแต่ไม่ได้ผล อยากให้เขาเห็นเรียนรู้ และคิดได้ด้วยตนเอง และสังเกตเห็นว่าจากที่เคยเห็นก้นบุหรี่ 14 มวนต่อวัน เหลือเพียง 4-5 มวนต่อวัน กระทั่ง เช้าวันหนึ่ง หลังสูบมาได้ 1 ปี ลูกชายไอและอาเจียน จึงเดินไปลูบหลัง แล้วบอกว่าให้เลิกบุหรี่ ลูกก็ตอบรับจะเลิก และปัจจุบันนี้เลิกมาได้ 2 เดือนแล้ว ตนเองจึงอยากบอกว่า ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยให้ลูกหลานมีกำลังใจในการเลิกบุหรี่ และชุมชนก็ต้อง ช่วยกันทำให้การสูบลดลงด้วย
น.ส.จีรนันท์ เขตพงศ์ ผู้สื่อข่าวช่อง 7 ผู้หญิงที่มีแฟนสูบบุหรี่ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ชอบคนที่สูบบุหรี่เพราะเคยเห็นพ่อสูบจนป่วยและไม่เห็นว่าการสูบบุหรี่จะมีประโยชน์ ก่อนที่จะคบกับแฟน จึงถามว่าสูบบุหรี่หรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าสูบแต่เลิกแล้ว จนวันหนึ่ง ทราบว่ายังสูบอยู่เลิกได้เพียง 2 เดือน เนื่องจากมีสิ่งแวดล้อม สังคมและเพื่อนที่ยังสูบอยู่ ทำให้ต้องมานั่งคุยกันว่าอยากให้ลด ละ เลิก ค่อยๆ เป็นไป เพราะหากจะหักดิบเลยคงต้องใช้กำลังใจมาก พอสมควร จึงพยายามให้กำลังใจและพูดบ่อยๆ จนในที่สุดทำให้ เขาเกิดความรู้สึกเกรงใจ ปัจจุบันจากเดิมสูบ 1 มวน ก็กลายเป็นสูบครึ่งมวนก็ทิ้ง แต่ยังไม่สามารถเลิกได้เด็ดขาด ภายในบ้าน จึงทำสัญญากันว่าจุดไหน บริเวณไหนสูบได้ สูบไม่ได้ เป็นการจัดโซนนิ่งพื้นที่สูบบุหรี่ เริ่มจากแบบนี้แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้เลิก ในที่สุด
จากประสบการณ์ของผู้หญิงทั้ง 4 คน แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถเป็นแกนหลักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้บ้านปลอดบุหรี่ ได้หากมีความตั้งใจ และมีแผนงานที่เป็นระบบ