4 ปี พ.ร.บ.คุมน้ำเมา สังคมไทยได้อะไร?
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร เป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้เกิดมากกว่า 60 โรค มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 2.5 ล้านคน คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก เหล้ากลั่นดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึงร้อยละ 90 โดยมีผู้เสียชีวิต 26,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท
นับเป็นข้อมูลที่น่าตกใจว่าภัยของสุรา ไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาเหมือนที่หลายคนดื่มเป็นปกติเพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา โดยผลจากพิษภัยน้ำเมาชี้ให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่จะตามมาหลากหลาย อาทิ ปัญหาอาชญากรรม อุบัติเหตุจราจร ขณะที่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2551 ไทยได้มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายฉบับสำคัญที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้เยาวชนของชาติ เพื่อป้องกันการริเริ่ม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กและเยาวชน (ลดนักดื่มหน้าใหม่) ลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยทั้งชาติ และการคุ้มครองและลดผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในผู้ที่บริโภคแอลกอฮอล์และประชาชนทั่วไป
14 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นวันครบ 4 ปีของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คำถามตามมาว่า แล้วสังคมไทยได้อะไรจาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นวันครบ 4 ปีของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น ทั้งการห้ามดื่ม เวลาห้ามขาย สถานที่ห้ามขายและห้ามดื่ม ทั้งนี้ช่วงระยะ 1-2 ปีแรกเป็นการมุ่งเน้นทำความเข้าใจประชาสัมพันธ์ให้กับภาคประชาชน ผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีการจัดฝึกอบรมผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และมีการข้อบันทึกตกลงความร่วมมือความเข้าใจร่วมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้ระดับผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานไฟเขียวในการปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น และระหว่างนี้ก็มีการพัฒนากฎหมายลูกต่างๆ กว่า 10 ฉบับ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกการบริหารจัดการต่างๆ และการกำหนดสถานที่ห้ามดื่มห้ามขาย เช่น กฎหมายการเปรียบเทียบปรับ พร้อมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ควบคู่กันไปด้วย ในส่วนอื่นๆ ก็เป็นการขอความร่วมมือจากภาคประชาสังคมต่างๆ
“ในภาพรวมเรื่องการจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์มีทุกจังหวัด ทุกครอบครัว ดังนั้นเหยื่อได้รับผลกระทบมีหมด แต่ประเด็นคือการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายก็จริง แต่เป็นสินค้าที่มีสารเสพติดอยู่ในตัวและทำกำไรมหาศาล และมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่เกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลมากมาย ดังนั้นการทำเรื่องนี้เราคงต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่ถามว่าการทำงานในเรื่องนี้ คาดหวังว่า 4 ปีจะได้ผล 100% หรือไม่ เราก็ไม่ได้คาดหวังตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก ซึ่งอันนี้เราต้องทำงานแบบวิ่งมาราธอน และค่อยๆ เก็บเกี่ยวความสำเร็จพร้อมกับมีเครือข่ายในการทำงานมากขึ้น”นพ.สมานกล่าว
นพ.สมาน ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาหากถามว่าการบังคับใช้กฎหมายส่งผลต่อสังคมแล้วดีขึ้นบ้างไหม ก็ถือว่าดีขึ้นบ้าง เช่น การโฆษณา เดิมจะมีการเผยให้เห็นขวด และชักจูงให้ดื่มโดยตรง แต่ปัจจุบันเป็นการโฆษณาเลี่ยงไปบ้าง แต่ในแง่การโฆษณาแอบแฝง โลโก้ ก็ยังพบเห็นอยู่บ้าง ซึ่งหลายเรื่องที่บริษัทธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พยายามหาช่องว่างของกฎหมายในการโฆษณาแฝงต่างๆ ในแง่ของสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม พบว่าสถานที่ที่ถูกกำหนดก็ดีขึ้นมากเดิมทีสถานศึกษา สถานที่ราชการที่เคยพบเห็นมาก ปัจจุบันก็ลดลงอย่างน้อย 50% ในปั๊มน้ำมันก็ค่อนข้างชัดเจนที่เห็นอยู่น้อยมาก อาจมีบ้างในปั๊มขนาดเล็ก และเรื่องของเด็กดื่มก็ดีขึ้น
หมอสมานบอกอีกว่า สำหรับสิ่งที่มีความห่วงใยคืออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มเข้าไปในลักษณะจุดล่อแหลมศีลธรรมและการทำผิดกฎหมายในบางประเด็น เช่น การทำโฆษณาสื่อสารการตลาดโดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็ก เยาวชนและสตรี โดยการใช้ลักษณะการจัดเทศกาลดนตรี สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งสนับสนุนกีฬายอดนิยม เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล รวมถึงกีฬาท้องถิ่นที่เด็กสนใจ ขณะนี้เรากำลังหาวิธีทางหยุดยั้งการกระทำประเภทนี้อยู่
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือว่าได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุดในประเทศ หากเทียบวัดดูแล้วยังไม่มีกฎหมายใดที่มีคนมาลงชื่อสนับสนุนกว่า 13 ล้านรายชื่อ โดยข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ คือเปิดช่องให้ออกกฎหมายลูกได้ เช่น ประกาศพื้นที่ห้ามขาย ห้ามดื่มได้เพิ่ม แต่หลักๆ ที่ทำได้แล้วคือโรงเรียน ศาสนสถาน สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ แต่สิ่งที่เราอยากจะเพิ่มเติมคือเรื่องการห้ามดื่มในรถ เพราะจะเห็นได้จากช่วงเทศกาลที่มีการใช้รถกระบะกันมาก พอคนโดยสารด้านหลังรถดื่ม ก็ส่งให้คนขับดื่มด้วยและเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน โดยเรื่องนี้กำลังพยายามผลักดันอยู่ อย่างไรก็ตามหลังการประกาศใช้กฎหมายแล้วถือว่าบริษัทธุรกิจแอลกอฮอล์ได้รับผลกระทบพอสมควร โดยมีความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ขณะที่บทบาทของภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าก็ร่วมกันทำงานกันอย่างเคร่งครัด คอยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง เมื่อพบจุดใดที่กระทำผิดกฎหมายก็จะแจ้งเบาะแสให้มีการดำเนินคดี
“โดยภาพรวมเรียกว่าอย่างน้อยสังคมไทยมีเครื่องมือ พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ทำให้ภาคสังคมมีพลังขึ้นมาบ้างมากกว่าการรณรงค์อย่างเดียว ถ้าเรารณรงค์ให้คนลดละเลิก ซึ่งอันนี้ข้อมูลทางวิชาการก็บอกอยู่แล้วว่า มันอาจทำให้ได้ผลช้าและใช้เวลามากกว่า แต่การมีกฎหมายมาช่วยก็เลยทำให้มีเครื่องมือมากขึ้น และเป็นเครื่องมือที่ภาคธุรกิจจะกลัวมากที่สุด ก็พอมีเครื่องมือในการทำงานแล้ว แต่ยังไม่ดีมาก ก็ต้องช่วยกันพัฒนา เพิ่มเติมกฎหมายลูกให้เข้มข้น ไปจนถึงปรับปรุงกฎหมายแม่เลย หากหน้าต่างโอกาสเหมาะสม เช่น มาตรา 32 ที่ว่าเหล้าดีกว่าบุหรี่อย่างไร ทำให้ปล่อยโฆษณาได้ เพราะการโฆษณามีผลมากกับเยาวชน ทั้งในงานวิจัยในและต่างประเทศ ซึ่งหากห้ามโฆษณาเลยเหมือนบุหรี่ เด็กก็จะไม่เห็นบุหรี่ แต่พอแอลกอฮอล์ไปเปิดช่องให้โฆษณาสร้างสรรค์สังคมได้ ก็กลายเป็นดาบสองคม ธุรกิจนี้กลายเป็นผู้ดีไปเลย สร้างสรรค์สังคมทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีกับเยาวชน”ภก.สงกรานต์กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ยังบอกด้วยความห่วงใยว่าอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันปัญหาเด็ก เพราะกฎหมายลูกหลายฉบับยังไม่ประกาศบังคับใช้ โดยเฉพาะการห้ามขายเหล้าปั่นที่เป็นจุดเริ่มต้นของนักดื่มหน้าใหม่ หรือกฎหมายที่ขายอายุให้ต่ำกว่ายี่สิบปีก็ไม่มีการบังคับใช้ได้จริง
ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เล่าว่า หลังกฎหมายประกาศใช้ สิ่งแรกที่ดำเนินการคือ กลไกการทำงานของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด โดยเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งว่า เรามีตัวแทนภาคประชาชนประมาณ 40 จังหวัดที่เข้าไปนั่งอยู่ในคณะอนุกรรมการฯ เป้าหมายแรกที่ดำเนินงานหลังกฎหมายประกาศใช้คือการทำให้วัดเป็นสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขาย ตามกฎหมาย โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นแกนหลัก ขณะที่เครือข่ายองค์กรงดเหล้าก็ทำหน้าที่สนับสนุนสื่อ-ป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อนำไปมอบให้กับเจ้าคณะจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดให้การประกาศเป็นที่รับรู้แก่ประชาชน ขณะเดียวกันจุดไฮไลท์สำคัญในช่วงต้นปี 2552นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้จุดประเด็นเรื่องการห้ามขายเหล้าในกระเช้า ทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญการให้เหล้าเป็นของขวัญปีใหม่ ดังนั้นในการขับเคลื่อนช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบทบาทภาคประชาชนเป็นตัวกระตุ้นให้ความรู้ การบังคับใช้กฎหมาย โดยการชี้เบาะแส และผลักดันมาตรการใหม่ๆ เช่น การห้ามจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญ อย่างวันพระใหญ่ เป็นต้น
“ถ้าถามความพอใจในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้แค่ไหน ก็มีสองความรู้สึก คือความรู้สึกแรกไม่ได้ดั่งใจ ความรู้สึกที่สองคือเข้าใจ คำว่าไม่ได้ดั่งใจก็คือว่าหลายงานที่เราคิดว่าน่าจะแก้ไข เจตนารมณ์คือการปกป้องเด็กและเยาวชน เมื่อปัญหาเด็กเกิดขึ้นใหม่ก็ได้แต่บ่นกัน ทีนี้เครื่องมือมีเยอะแยะเลย แต่ไม่ยอมทำกัน แน่นอนว่าในระหว่างทางมีตำรวจ สรรพสามิต เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ว่าฯ ที่ไม่เฉพาะหน้าที่แต่เป็นอุดมการณ์บางอย่างที่แก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งน่าชื่นชมและน่าเสียดายในบางเรื่องบางอย่าง”นายธีระกล่าว
นายธีระ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเน้นต่อไปคือ ต้องช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ คือการทำให้มีส่วนแบ่งค่าปรับ ที่มีการมอบเงินส่วนแบ่งให้ผู้แจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ก็จะได้มีแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น รวมทั้งประชาชนที่แจ้งเบาะแส หากทำได้การบังคับใช้ก็จะเข้มข้นมากขึ้น โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ประโยชน์ตรงที่ว่าเขาไม่เหนื่อย หากจำกัดการขาย การดื่มในงานเทศกาล จากเดิมที่คอยไล่จับกลัวจะถูกลูกหลง ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้โดยการป้องกัน ตนคิดว่าต้องให้ความสำคัญกับพนักงานสอบสวนมากขึ้นเรื่อยๆ และดูว่าบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้แล้วได้ประโยชน์อะไร เรื่องต่อไปคือกรมสรรพสามิต แม้มีพ.ร.บ.สุราของตัวเองก็จริง แต่สรรพสามิตมีมาตรการเกี่ยวกับราคาและใบอนุญาตขายเหล้า หากสรรพสามิตใช้สองมาตรการนี้เพิ่มเติม คิดว่าอิทธิฤทธิ์ของกฎหมายจะมีผลเพิ่มขึ้น สุดท้ายคือการโฆษณา ซึ่งเป็นลักษณะการห้ามโฆษณาบางส่วน มองมิติการโฆษณาแล้วคิดว่าจริงๆ กฎหมายฉบับนี้เน้นการห้ามโฆษณา พอเป็นการห้ามบางส่วนก็ทำให้ธุรกิจแอลกอฮอล์หลบเลี่ยง จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องทบทวนกันว่ามาตรา 32 ส่งผลหรือเป็นไปตามเจตนารมณ์มากน้อยเพียงใด
ผ่านมา 4 ปีกฎหมายยังต้องเดินหน้าให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ก็ได้แต่หวังว่ากฎหมายที่มีอยู่จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยคนไทยให้ห่างไกลจากน้ำเมาและทำให้ยอดอัตราการดื่มของคนไทยลดลงจนเป็นศูนย์
เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th