4 ต้อง ป้องกันเยาวชน พ้นภัยยาเสพติด
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งานแถลงข่าวและเสวนาพฤติกรรมวัยรุ่นกับสารเสพติด “บุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติดและเคนมผง” ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมการแพทย์ และกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด(บช.ปส.)
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และเเฟ้มภาพ
ปัญหายาเสพติดนับเป็นปัญหาสำคัญของสังคมที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ทั้งปัญหาอาชญากรรม เศรษฐกิจ การทำร้ายร่างกาย การทะเลาะวิวาท รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพด้วย ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจึงพยายามป้องกัน และแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ปัญหายาเสพติดจึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่อยู่ในแผนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด ภายใต้ การดำเนินงานของสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. โดยทำหน้าที่พัฒนางานวิจัยและข้อมูลทางวิชาการ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและ แก้ไขปัญหาสิ่งเสพติดด้วย
ยาเสพติดนั้นสร้างผลกระทบอย่างมากมายมหาศาลต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนซึ่งกำลังเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นและชักนำให้พวกเขาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรของยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ การหลุดออกจากระบบการศึกษา ความอยากรู้ อยากลอง อยากมีตัวตน เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน รวมทั้งสภาวะจิตใจที่ไม่เข้มแข็ง
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 กล่าวถึงปัญหายาเสพติดว่า ปัญหายาเสพติดนั้นอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากบุหรี่ ซึ่งเห็นได้จากรายงานการสำรวจของศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ ปี 2547 พบว่า นักเรียนที่สูบบุหรี่ กว่า 100 คน จะมีพฤติกรรมเสี่ยงใช้ยาเสพติดสูงถึง 10 คน เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากลอง ดังนั้นโจทย์สำคัญ ก็คือ การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้การอยากรู้ อยากลองของพวกเขาเป็นอยู่ในขอบเขตและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีข่าวการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดใหม่ ซึ่งมีฤทธิ์รุนแรง และทำให้ผู้เสพได้รับอันตรายจนถึงชีวิต เรียกว่า เคนมผง ซึ่งมีที่มาจากยาเคหรือเคตามีนมีราคาสูง และขาดตลาดอยู่ช่วงหนึ่ง จึงเกิดการนำสารเสพติด 4 ชนิดมาผสมรวมกัน ประกอบด้วย เฮโรอีน เคตามีน ยาไอซ์ และโรเช่หรือยานอนหลับ ซึ่งเมื่อผสมกันแล้วจะมีลักษณะคล้ายนมผง เพื่อช่วยลดต้นทุน และได้ยาเสพติดชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงตามความต้องการของผู้เสพ โดยผู้เสพจะมีอาการมึนเมาคล้ายคนเมาสุรา เหม่อลอย ประสาทหลอน หูแว่ว คลุ้มคลั่ง หัวใจทำงานผิดปกติ สมองไม่สั่งการ ช็อก ฯลฯ ซึ่งการออกฤทธิ์ของยาจะแตกต่างกันตามสภาพร่างกายของผู้เสพ จึงทำให้ผู้เสพบางคนได้รับอันตรายจนถึงชีวิต
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์เด็กและวัยรุ่นและผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงอายุ 12 -14 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองพัฒนาอย่างสูงสุดอีกครั้งหลังจากช่วงปฐมวัย ซึ่งหากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในช่วงนี้ ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก เพราะจะทำให้สมองไม่ได้รับการ พัฒนาตามช่วงวัยอย่างที่ควรจะเป็น
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่อว่า สารเสพติดทุกประเภทจะเพิ่มการหลั่งสารโดปามีนในระบบประสาท ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจและการเสพติด เมื่อรับสารเสพติดเข้ามาในร่างกาย จะเกิดปรากฏการณ์ ได้แก่ ทำให้การบริหารจัดการ ของสมองขั้นสูงเกิดความล่าช้า เกิดผลการเปลี่ยนแปลงผิดปกติของสารโดปามีน และไวต่อสิ่งเร้า ทำให้เกิดอารมณ์ ฉุนเฉียวได้ง่าย ขาดวุฒิภาวะ IQ ต่ำลง และวงจรสมองชอร์ต
ครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นเกราะป้องกัน และทำให้เยาวชนผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ไปได้ ทุกคนต่างรับรู้ว่ายาเสพติดนั้นส่งผลกระทบร้ายแรงเพียงใด ดังนั้น จึงไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
จากการสำรวจข้อมูลของศูนย์คุณธรรมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) เกี่ยวกับเด็กอายุ 14 -18 ปี ที่อยู่ในสถานพินิจในคดียาเสพติดทั่วประเทศ พบว่า วิธีที่จะป้องกันให้เด็กและเยาวชนห่างไกล จากวงจรยาเสพติด ใช้หลักง่าย ๆ 4 ต้อง ดังนี้
1.ต้องมีอนาคต – เด็กและเยาวชนต้องการมีสัมมาอาชีพ ต้องการมีอนาคตของตัวเอง ถึงแม้จะหลุดออกจากการศึกษาในระบบแล้ว แต่พวกเขาก็ต้องการวิชาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตและสร้างอนาคตดังเช่นเด็กคนอื่น ๆ จึงต้องทำให้พวกเขาเข้าถึงสัมมาอาชีพได้มากที่สุด
2.ต้องมีคุณค่า – เด็กและเยาวชนต้องการการยอมรับจากสังคม พัฒนาให้พวกเขารู้จักตัวตนและตระหนักถึงคุณค่าของ ตัวเอง เห็นคุณค่าจากสิ่งที่เขาถนัด และความสามารถที่เขามีอยู่ เช่น การทำงานช่าง การทำงานศิลปะ เป็นต้น
3.ต้องมีทักษะ – เด็กและเยาวชนต้องการทักษะชีวิต ต้องการแบบฝึกหัดชีวิต ตั้งคำถามฝึกให้พวกเขาคิด แทนการอบรม สั่งสอน ทำให้พวกเขารู้เท่าทันและรู้จักปกป้องตนเอง
4.ต้องมีแบบอย่างที่ดี – เด็กและเยาวชนต้องการใครสักคนที่จะเป็นแบบอย่างในชีวิตให้กับพวกเขา ซึ่งหมายถึงใครก็ได้ที่พวกเขาฝากชีวิตไว้ได้ และนำพาพวกเขาให้เติบโตไปในทิศทางที่ดี
สิ่งที่จะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันให้เยาวชนพ้นภัยยาเสพติดที่ดีที่สุด คือ วัคซีนทางสังคมไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สถาบันการศึกษา ชุมชน สิ่งแวดล้อม จะต้องร่วมมือร่วมใจสร้างพื้นที่ปลอดภัยและมีคุณภาพให้กับเยาวชน รับฟังปัญหาและความรู้สึกของพวกเขาอย่างเข้าใจและไม่ตัดสิน ทำให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง ลงมือสร้างอนาคตด้วยมือของเขาเอง โดยมีความรัก ความเข้าใจจากครอบครัวและสังคมรอบข้างคอยผลักดันและสนับสนุนให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขบนเส้นทางที่พวกเขาต้องการ
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนยาเสพติด 1165 ซึ่งสามารถติดต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอด 24 ชั่วโมง