“4 ต้นแบบเศรษฐกิจชุมชน” จัดการตนเองยั่งยืน
"4 ต้นแบบเศรษฐกิจชุมชน" จุดเริ่มต้นท้องถิ่นจัดการตนเองยั่งยืน
แฟ้มภาพ
จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 6 สำหรับ "เวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง" ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นกลายเป็นชุมชนฐานล่างที่มีพลังสามารถจัดการตนเองได้อย่างเข้มแข็ง โดยครั้งนี้นำเรื่อง "ระบบเศรษฐกิจชุมชน" ผ่านการนำเสนอพื้นที่รูปธรรม "เศรษฐกิจชุมชน สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง" จาก 4 พื้นที่ มาเป็นแกนหลักในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และจุดประกายให้กับผู้เข้าร่วมได้นำแนวคิดไปปรับใช้กับการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนของตนเอง ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม พอช. เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้แทนองค์กรชุมชน นักวิชาการ เข้าร่วมกว่า 300 คน
โดยพื้นที่รูปธรรมเศรษฐกิจชุมชน สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองที่น่าสนใจพื้นที่แรกอยู่ใน จ.ระยอง กับแนวคิดที่ทำได้เห็นผลจริง "เรียนรู้ รวมกลุ่ม พึ่งพาตนเอง เชื่อมโยง สร้างการผลิตบนฐานที่มั่นคง" โดย ชาติชาย เหลืองเจริญ สภาองค์กรชุมชน ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง ตัวแทนของพื้นที่เผยให้ฟังว่า ต.เนินฆ้อ รวมตัวกันตั้งแต่ปี 2540 เพื่อทำเศรษฐกิจชุมชน จนปัจจุบันเกิดระบบห่วงโซ่เศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับคนในตำบล หลายครอบครัวพึ่งพาตนเองจนเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งสิ่งที่คนในชุมชนริเริ่มทำคือการเลิกใช้สารเคมี เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า ทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ สร้างตลาดเองเริ่มต้นอาจมีแค่กินอย่างมั่นคงแต่ไม่มีเงินในกระเป๋า ถัดมาจึงรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิต ทำตลาดสีเขียว รวมกลุ่มซื้อขายยางพาราซื้อมาขายไปสร้างผลกำไรให้ชุมชน ฟื้นวิถีชาวสวนยาง โดยรวมกลุ่มนี้ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองราคาขาย
"ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มในหลายๆ มิติ กว่า 40 กลุ่ม เช่น กลุ่มกองทัพมดเก็บขยะดูแลสิ่งแวดล้อมสร้างการรวมกลุ่มเยาวชนทำกีฬาดนตรีอินเตอร์เน็ต กลุ่มฒผู้เฒ่าดนตรีสมุนไพรเตาเผาถ่าน ถ่ายทอดประสบการณ์สู่เยาวชน เล่นดนตรีให้ผู้มาเยือนฟัง ทำธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อม รวมกลุ่มโฮมสเตย์ 38 หลัง มีคนมาพักทั้งปีขายวิถีความเป็นบ้านนอก กลุ่มธนาคารต้นไม้ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง พากันทำปัจจุบันมีต้นไม้มากกว่า 2 แสนต้น มีกลุ่มกองทุนสวัสดิการ ธนาคารชุมชนสามารถจัดการเงินตั้งกองทุนนำเงินไปลงทุน และอื่นๆ ซึ่งทำต่อเนื่องมากกว่า 10 กว่าปี"ชาติชาย ระบุ
ขณะที่ จ.ภูเก็ต ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดย สำราญ คงนาม ตัวแทนชาวบ้าน ต.ป่าคลอก อ.ถลาง ระบุว่า นับจากปี 2528 เป็นต้นมา การพัฒนาให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ไม่น้อย จากเจ้าของที่ดินก็กลายเป็นคนสวน จากเจ้าของชายหาดกลายเป็นคนเฝ้าหาด ที่ดินจากราคาไร่ละ 2 แสนบาท ขยับขึ้นเป็น 4-5 ล้านบาทและกล่าวได้ว่าที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวินาที ทรัพยากรป่าชายเลนจาก 3,000 ไร่ เหลือ 800 ไร่ ผู้คนเปลี่ยนจากวิถีเกษตรสู่การทำมาค้าขาย ส่งผลกระทบในระดับครอบครัว
"ที่ผ่านมาเรายืมจมูกคนอื่นหายใจคิดแต่จะจัดการคนอื่นจนลืมจัดการตัวเอง เมื่อเกิดการทบทวนทำให้รู้ว่าปัญหาหลักคือคน จึงเริ่มต้นลุกขึ้นมาจัดการตนเองด้วยวิธีประเด็นเย็นแก้ปัญหาประเด็นร้อน เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและวิถีชุมชนให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของ ท้องถิ่นเป็นเจ้าที่ ที่สำคัญคือไม่ทำตามคนภายนอก จนในปี 2546 ก็ประสบความสำเร็จ ความต้องการของชาวบ้านถูกบรรจุเป็นแผน อบต.ตั้งแต่บัดนั้น" สำราญ กล่าว
ด้าน ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มีดีในเรื่อง "การจัดการน้ำและจัดการทั้งระบบ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจในตำบลเกาะขันธ์" เกี่ยวกับเรื่องนี้ โกเมศร์ ทองบุญชู เศรษฐกิจ ต.เกาะขันธ์อธิบายให้ฟังว่า เศรษฐกิจของคนเกาะขันธ์ที่เข้มแข็งได้ทุกวันนี้ เพราะคนในชุมชนใส่ใจแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาฝายอาสา นอกจากนี้ ยังพัฒนาคุณภาพผลไม้ไม่ว่าจะเป็น มังคุด เงาะ ลองกองทำตลาดกลางผลไม้เพื่อรวมผลผลิตชุมชน ช่วยกำหนดราคากลางสร้างอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ทำให้ปีนี้ (2558) สามารถสร้างรายได้ถึง 564 ล้านบาท
"เราใช้ข้อมูลความรู้จัดการตั้งแต่น้ำ (การผลิต) กลางน้ำ (ผลผลิต) และปลายน้ำ (ราคาขาย) ทำให้ชุมชนสามารถจัดการเศรษฐกิจในระดับฐานล่าง และผลักดันให้เกิดการพัฒนาได้จริงอย่างยั่งยืน ที่สำคัญคนในชุมชนต้องมีใจพัฒนา มีสัญญาใจร่วมกันและนำใช้ความรู้ทั้งเก่าใหม่มาผสมผสานสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนที่ดีไว้ให้ลูกหลาน " เศรษฐกิจ ต.เกาะขันธ์ แจงเพิ่ม
ตบท้ายที่ ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ที่คนในพื้นที่มีความคิดสร้างสรรค์ หยิบนำวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนชาวยองพัฒนาเป็นกลไกเสริมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผ้าฝ้าย ผ้าทอ ผ้าบาติก งานหัตถกรรม และเกษตรกรรมปลูกลำไย ทวี ณ ลำพูน เศรษฐกิจชุมชน ต.แม่แรง กล่าวว่า กิจกรรมทั้งหมดในข้างต้นสร้างรายได้ให้ชาวบ้านไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ล้าน ส่งผลให้คนในตำบลมีวิถีชีวิตที่ดีพึ่งพาตนเองได้ จากความสามัคคีรวมกลุ่มร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ