4 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ“เมอร์ส-โควี”
สธ.สั่งเฝ้าระวังเข้ม 4 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ “เมอร์ส-โควี”ตั้งมิสเตอร์ฮัจญ์ 53 จังหวัดติดตามคนมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ 14 วัน เตือนบุคลากรแพทย์ดูแล ป้องกันตัวเองระหว่างดูแลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2012 หรือเมอร์ส-โควี (MERS-CoV) ว่า แม้ไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อเมอร์ส-โควี รวมถึงผู้ป่วยที่เข้าข่ายเฝ้าระวัง ซึ่งผลตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการไม่พบว่ามีการติดเชื้อก็ตาม แต่ยังมีโอกาสเสี่ยง เนื่องจากมีผู้เดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะเดือนที่ผ่านมามีผู้เดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง จำนวน 18,000 คน มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบศาสนกิจถึง 14,000 คน และไปร่วมพิธีฮัจญ์ปีละประมาณ 10,400 คน จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในระบบการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญซึ่งมี 53 จังหวัด
นพ.วชิระ กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้ตั้งมิสเตอร์ฮัจญ์ให้การดูแลเป็นพิเศษและทำงานร่วมกับ อสม. ฮัจญ์ ซึ่งเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 เม.ย. กรมควบคุมโรคได้มีการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มิสเตอร์ฮัจญ์ใน 53 จังหวัด และบริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยว 8 บริษัท ซึ่งมีบริษัทย่อยๆ อีก 26 บริษัท เพื่อสร้างเครือข่ายในระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วย โดยให้ อสม. ฮัจญ์ ติดตามอาการผู้ที่เดินทางกลับจากประกอบศาสนกิจเป็นเวลา 14 วัน และให้ทุกโรงพยาบาลเคร่งครัดมาตรการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล หากพบผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง ให้แจ้งที่งานระบาดวิทยาของโรงพยาบาล หรือแจ้งสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เพื่อเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคทันที
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเชื้อเมอร์ส-โควีเป็นพิเศษ คือผู้ที่มีอาการปอดบวม และมีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 1. อาศัยหรือเดินทางมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางในช่วง 14 วันก่อนป่วย 2. บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยปอดอักเสบหรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ตรวจเชื้อทางเดินหายใจ 3. ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายน่าจะเป็น หรือดูแลผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสเมอร์สในช่วง 14 วันก่อนป่วย และ 4. ผู้ป่วยปอดอักเสบ ที่ป่วยพร้อมกันหลายๆ คน
“เม.ย. มีจำนวนผู้ป่วยในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้น และพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็พบการติดเชื้อแล้ว ไทยจึงมีความเสี่ยงพบผู้ป่วยได้ มาตรการสำคัญคือการเฝ้าระวัง ต้องตรวจให้พบผู้ป่วยโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดสู่วงกว้าง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ขอให้ป้องกันตัวเองขณะดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจด้วย” นพ.โอภาส กล่าว
ที่มา : เว็บไซด์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต