“366 Q-KIDS” ตัวช่วยครูพี่เลี้ยงปฐมวัย ปั้นมาตรฐาน สร้างพัฒนาการเด็ก
ข้อมูลจาก: การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย”
ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แม้ปัจจุบัน จะมีงานวิจัยมากมายชี้ชัดมากมายว่าชีวิตของเด็กในช่วง 6 ปีแรก ถือเป็น “Golden Time” หรือช่วงเวลาทองของชีวิต
ด้วยเด็กในวัยแรกรับรู้นั้น หากได้รับพัฒนาการที่เหมาะสม ตลอดจนการได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และเป็นรากแก้วที่แข็งแรงที่สุดของการกำหนดอนาคตของลูกหลานเราไปชั่วชีวิต
หากแต่สถานการณ์ที่ย้อนแย้งคือ เด็กไทยในวันนี้กลับกำลังมีพัฒนาการถอยหลัง เมื่อมีผลการวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2566 โดยสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข พบข้อมูลเด็กปฐมวัยกว่า 30% พัฒนาการล่าช้า
เรื่องนี้ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลเพิ่มว่า จากข้อมูลดังกล่าว พัฒนาการเด็กไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการใช้ภาษาสูงถึง 74.8% การเข้าใจภาษา 60.9% ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา 44.6% และด้านการเคลื่อนไหว 28.2% นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึงระบบฟื้นฟู ติดตามช่วยเหลือ อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่อง ซ้ำเติมให้เกิดภาวะการณ์เรียนรู้ถดถอย
ปัญหาส่วนหนึ่ง เกิดเพราะด้วยข้อจำกัดของชีวิตคนยุคใหม่ที่ต้องหาเช้ากินค่ำเลี้ยงดูปากท้องคนในครอบครัว ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ “ไม่มีเวลาเพียงพอ” กับการส่งเสริมพัฒนาการของลูก
ทั้งมีอีกไม่น้อยจำเป็นต้องเลือกฝากฝังชีวิตลูกไว้ในมือของคนที่เราไว้ใจ นั่นคือโรงเรียน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย หรือศูนย์เด็กเล็กปฐมวัยนั่นเอง
ปัจจุบันประเทศไทยเรามีสถานพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยเด็กเล็กมากเกือบ 20,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งเอกชนและภาครัฐที่อยู่ภายใต้สังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากแต่จำนวนดังกล่าว อาจยังไม่ “ครอบคลุม” ในแง่คุณภาพมาตรฐานที่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
อีกภารกิจสำคัญของเราทุกคนที่ต้องร่วมมือกันในวันนี้ คือการแก้วิกฤต ลดข้อจำกัดด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กเล็กปฐมวัย ผู้ที่ซึ่งกำลังก้าวสู่พลเมืองของประเทศในอีก 15 หรือ 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งนอกเหนือจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นบุคคลที่รักโอบอุ้มเลี้ยงดูบุตรหลานดังดวงใจจะมีบทบาทสำคัญแล้ว
ยังมีอีกหนึ่งบุคคล นั่นคือ “ครูพี่เลี้ยง” ที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมคุณภาพและพัฒนาการเด็กปฐมวัยไม่แตกต่างกัน
แก้วิกฤตมาตรฐานสถานพัฒนาปฐมวัยฯ
ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ได้มีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย จัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เป็นมาตรฐานกลางของประเทศให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพ
หากแต่อุปสรรคคือ ยังคงมีหลายสถานศึกษา รวมถึงบุคลากรครูไม่น้อยที่ยังขาดความเข้าใจ ในมาตรฐานดังกล่าว ตลอดจนขาด “พี่เลี้ยง” ที่จะทำหน้าที่เหมือนเป็นไกด์แนะแนวนำทางในการเดินไปสู่จุดหมาย
จึงนำมาสู่การนำเสนอนวัตกรรมการการยกระดับคุณภาพศูนย์สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย หรือ 366 Q-KIDS เพื่อเป็นนวัตกรรมการยกระดับคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย นวัตกรรมที่ สสส.และภาคีร่วมกันพัฒนาขึ้น กับการตั้งเป้าหมายเพื่อให้ครูและบุคลากรในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้เรียนรู้การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถลงมือปฏิบัติจริงในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
เพราะเมื่อเป้าหมายคือการสร้างคุณภาพ จึงต้องเริ่มที่การสร้างมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนระยะยาว
ติดอาวุธให้กับครูพี่เลี้ยง
อย่างไรก็ดี ครูพี่เลี้ยงเองมีความหลากหลาย หลายคนอาจไม่ได้จบด้านการศึกษาเด็กปฐมวัยโดยตรง ดังนั้นเพื่อลดข้อจำกัดด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ สร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญต่อการส่งเสริมคุณภาพและพัฒนาการเด็กปฐมวัย ผ่าน “ครูพี่เลี้ยง” ทั่วประเทศ
นวัตกรรม 366 Q-KIDS มีปลายทางคือการเป็น “ตัวช่วย” ยกระดับพัฒนามาตรฐานด้านอาชีพครูเด็กเล็กปฐมวัยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“366 Q-KIDS เป็นผลการทํางานร่วมกันในวันนี้ของสภาการศึกษา สถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีบทบาทเป็นคนตัดสินใจ ส่วน สสส.ทำหน้าที่สร้างนวัตกรรม สร้างกระบวนการที่ค่อยเดินทีละก้าวแบบมียุทธศาสตร์ แต่แน่นอนว่าสุดท้ายปลายทางต้องมีการขับเคลื่อนต่อในภาคราชการ เป็นการเรียนรู้ร่วมแล้วก็ขยายผลลัพธ์ไปเรื่อย ๆ แบบทีละเล็กละน้อยไม่ใช่การสั่งการ แต่การสั่งการจะไปช่วยกระตุ้นเร่งเร้าพื้นที่ได้มากขึ้น ดังนั้นต้องประสานกันทั้งสองด้าน”
นพ.พงศ์เทพ กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรม 366 Q-KIDS ว่า สสส.มีเป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย เพราะเป็นวัยสร้างฐานทุนสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต โดย สสส. เน้นการดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ครอบครัวและชุมชน 2.ส่งเสริมพื้นที่เล่นและเรียนรู้ใกล้บ้าน 3.พัฒนาระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวแบบไร้รอยต่อ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเด็กและเยาวชนในการพัฒนาสังคมสุขภาวะ สำหรับ “ครูพี่เลี้ยง” นั้น มองว่าเป็นอีกหนึ่งบุคลากรสำคัญที่มีบทบาทต่อการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงการส่งเสริมสุขภาวะในเด็กดังนั้นกระบวนการทั้งหมดจึงเป็นการสร้างเครื่องมือ เพื่อเป็นการติดอาวุธให้กับครูพี่เลี้ยง
“366 Q – KIDS” ตัวช่วยปั้นมาตรฐานสู่ปฏิบัติจริง
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า นวัตกรรม 366-Q KIDS คือ กระบวนการยกระดับคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการใช้ 3 ตัวช่วย 6 กิจกรรม ภายในระยะเวลา 6 เดือน
โครงการนำร่องเริ่มขึ้นในเครือข่ายตําบลสุขภาวะ ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่าง แผนสุขภาวะชุมชนและแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยสํานักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สํานัก 3) ร่วมกับสํานักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สํานัก 4) ในการพัฒนา ปรับปรุงชุดเครื่องมือ กระบวนการเสริมศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) และส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในเครือข่ายตําบลสุข ภาวะ ซึ่งสอดรับกับนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต” ก่อนสู่การลงมือปฏิบัติจริงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.)
หลังมีการแลกเปลี่ยน นําเสนอ และเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้สรุปจากโครงการฯ สามารถนําไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานพัฒนาเด็ก ในลำดับต่อไปจึงเป้าหมายนำมาใช้เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
“ครั้งแรกที่ สสส.ทำ เราทำกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจริง ซึ่งใช้เวลาเป็นปี ต่อมาปรับปรุงจนเหลือประมาณ 9 เดือน และเราเปลี่ยนจากการปรับปรุงใหม่ที่ไปดูศูนย์ต้นแบบ มาเป็นออนไลน์ 100% ยกกระบวนการออนไลน์ 100% ซึ่งปรากฏว่าไม่ได้ผล เพราะครูเขามีภาระงานจันทร์ถึงศุกร์ ต้องเสาร์อาทิตย์ และไม่มีศึกษานิเทศก์เป็นพี่เลี้ยงใกล้ชิด ทำให้ไม่ค่อยได้ผล อีกด้านเรานำไปทำแผ่นพับและคู่มือแจกจ่ายให้กับครูพี่เลี้ยง แต่ก็ไม่ได้ผลดีนัก ส่วนหนึ่งเขายังต้องการตัวช่วยเป็นคนที่พูดคุยปัญหาหรือปรึกษาได้”
การพัฒนา 3 ตัวช่วยได้แก่ หนึ่งชุดเครื่องมือที่ สสส.ออกแบบ ตัวช่วยที่สองคือทีมพี่เลี้ยงที่เรียกว่า “ทีมดำน้ำลึก” ซึ่งจะให้คำปรึกษาแนะนำตลอดต่อเนื่อง ตัวช่วยที่สาม คือการมีผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเชิงลึกในแต่ละด้านมารวมตัวกันทำหน้าที่เป็นทีมให้คำปรึกษาที่ผ่านทางออนไลน์ ในด้าน 6 กิจกรรมเรียนรู้ ณัฐยาเล่าว่าจะเป็นการประสานการทำกระบวนการแบบไฮบริด คือมีทั้งแบบออนไซต์ สลับกับการเรียนรู้แลกเปลี่ยนผ่านออนไลน์ ใช้เวลา 6 เดือน เดือนละ 1 กิจกรรม
“ปัจจุบันเราสรุปบทเรียนเรียบร้อย ทั้งผลวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ผลลัพธ์ที่ออกมาหลังสิ้นสุดโครงการนี้ ปรากฏว่าดีขึ้นมาก คุณครูพี่เลี้ยงเข้าใจถึงการจัดประสบการณ์เด็ก สภาพแวดล้อม การเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัย การสร้างมาตรฐานและออกแบบกิจกรรมให้เรียนรู้ผ่านการเล่น ก่อนหน้าที่เคยถูกประเมินอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ก็ขึ้นมาดีถึงดีมาก ระดับพอใช้มาดี และระดับดีมากอยู่แล้วก็ขยับขึ้นดีมาก ในการวัดผลพัฒนาการเด็กพบว่า เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการดีขึ้น”
พี่เลี้ยงนำร่องสู่พี่เลี้ยงต้นแบบ
จรรยารักษ์ โพธิ์ทองงาม ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ เทศบาลนครนครราชสีมา คือตัวแทนของพี่เลี้ยง หรือทีม “ดำน้ำลึก” ของโครงการที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จากร่วมพัฒนางานต้นแบบ 366 Q – KIDS ในครั้งนี้
จากการที่ทางเทศบาลฯ ได้เป็นพี่เลี้ยงต้นแบบในโครงการนำร่องการพัฒนานวัตกรรม “366 Q – KIDS” ในภาคปฏิบัติจริง เธอเล่าว่า โครงการนี้เป็นการช่วยเสริมเติมเต็มให้กับครูพี่เลี้ยงได้มองเห็นบทบาทการทำงาน และเห็นคำตอบว่าทำไม มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงจะมีความสำคัญ
ผลจากการดำเนินงานโครงการนำร่อง เธอกล่าวว่า เครื่องมือนี้ ทําให้ครูมองมาตรฐานเปลี่ยนไป จาก 3 ตัวช่วย และการทำ 6 กิจกรรม ซึ่งกิจกรรมนี้มีทั้งออนไลน์และออนไซต์ที่ทำให้ทุกคนได้มาเจอหน้ากันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ถอดบทเรียนร่วมกัน ว่าเกิดอะไรขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทำให้ในช่วง 6 เดือนมันเป็นการรวมกิจกรรมของต่างคนต่างถิ่น ซึ่งทุกคนอาจมีวิธีการที่หลากหลาย
“ศูนย์ที่มาไม่ใช่ศูนย์ที่ไม่มีคุณภาพ เขามีคุณภาพ แต่บางอย่างเขาอาจจะต้องการเติมเต็ม หรือตรงนี้เขายังขาดไป โครงการนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับการทำงานเขาได้ ยิ่งวันนี้หลายศูนย์มาอยู่ร่วมกัน ก็ทำให้มีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือการได้แชร์กัน การแลกเปลี่ยนไอเดีย ประสบการณ์ระหว่างกัน” เธอกล่าวต่อว่า 366 Q – KIDS จะทำให้เรื่องการทำกระบวนการมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เป็นเรื่องง่ายหากครูพี่เลี้ยงมีความเข้าใจว่า สิ่งที่เขาทํา มันคืองานที่เขาทําอยู่แล้ว มันคือหน้าที่ของครูที่ต้องทําอยู่แล้ว
“ถ้าตราบใดที่มันแยกระหว่างการทํางาน ก็จะกลายเป็นภาระแล้ว แต่ถ้าเราสามารถเอาเรื่องของมาตรฐานฯ เข้าไปเป็นแนวปฏิบัติในการทํางาน มันจะเป็น routine ของเขาเลย เขาจะรู้เลยว่า เขาต้องเริ่มทําอะไร เช่น ทําไมต้องคัดกรองเด็ก เพราะมันคือตัวชี้วัดด้านสุขภาพของเด็ก ครูต้องดูแลสุขภาพของเด็กทุกวัน ทําไมต้องจัดการสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย เพราะอยู่ในตัวชี้วัดเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ครูต้องสํารวจเครื่องเล่นทุกสัปดาห์หรือทุกวันทุกเดือน”
อย่างไรก็ดี เธอบอกภารกิจดังกล่าวจะลุล่วงไม่ได้ หากท้องถิ่นไม่เป็นผู้หนุนเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพครูพี่เลี้ยง
“ถ้าหน่วยงานต้นสังกัดไม่สนับสนุน ไม่พาคิด ไม่พาทํา ไม่พาเดินอย่างต่อเนื่อง ไม่คอยติดตามก็ไม่อาจสำเร็จได้ ครูต้องได้รับการกระตุ้นและให้กําลังใจเสมอในการทํางาน ก็จะไปได้ แม้ว่าเราไม่อยู่แล้ว เขาก็ยังอยากทําต่อ ซึ่งถ้าเขายังอยากทําต่อนั่นแหละถึงสําเร็จ” เธอกล่าว
366 Q KIDS เข็มทิศสู่เป้าหมายปั้นอนาคตของชาติ
นุจรี จังหาร ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสามเหลี่ยม จ.ขอนแก่น คือตัวแทนเสียงจากของครูพี่เลี้ยงรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่ผ่านมานอกเหนือจากการเผชิญภาระหนักหน่วงในการดูแลเด็ก เธอยังต้องกังวลกับการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานกว่า 50 ข้อของมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
“หลังผ่านกระบวนการกับ 366 Q KIDS มองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก มันคือเข็มทิศ คือตอนที่เราทำเองอยู่ ไม่มีคนมาแนะนำ ทำให้ไปไม่ถูก แต่การมีผู้ชี้แนะผู้เชี่ยวชาญ ทำให้รู้ว่าแท้จริงบางเรื่องก็คือเราทำอยู่แล้ว แต่เราอาจทำผิด ๆ ถูก ๆ เพราะความยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนนี้มันง่ายขึ้นในการทํามาตรฐาน เพราะว่าเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่ากิจกรรมหรืองานที่เราทํากับเด็ก หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว เราก็จะจับใส่ให้มันถูกตามมาตรฐานและเป็นระบบมากขึ้น”
เธอเล่าว่า จากการคลุกคลีกับเด็ก ประสบการณ์ทำให้พบว่าเรื่องพัฒนาการเด็กปัจจุบันเป็นสิ่งที่น่ากังวล และต้องใส่ใจมากขึ้น
“เด็กปัจจุบันไม่มีสมาธิ พูดไม่ชัดภาษาไม่ชัด หลายคนติดโซเชียล สมาธิสั้น หลายคนขาดระเบียบวินัยเราก็ต้องมาจัดใหม่ เริ่มจากให้เขาเชื่อใจเรา ไว้ใจเรา เราหวังว่าแค่ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ อยู่ในสังคมได้ ให้เขาทํากิจกรรมกับเพื่อนได้ รู้กฎระเบียบพร้อมพร้อมที่จะไปต่อในชั้นระดับอนุบาล” เธอกล่าว
เพราะ “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า” ในฐานะผู้ใหญ่ทุกคน หากเรายังคงเชื่อมั่นต่อคำกล่าวนี้ ย่อมสะท้อนความจริงที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรให้ความสำคัญกับการลงทุนอนาคตของประเทศชาติมากเพียงใด