365 วันหยุดความตายด้วยวินัยจราจร
สสส.ร่วมรณรงค์ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุลงไม่ต่ำกว่า 10%
อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ใครหลายๆ คนคงไม่อยากประสบพบเจอ และก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและบุคคลใกล้ชิดเช่นกัน แต่ถึงอย่างไรนั้นอุบัติเหตุก็เป็นสิ่งที่มิอาจคาดเดาได้ ถึงเราจะไม่ประมาทและระมัดระวังในการใช้รถ ใช้ถนนสักเท่าใด แต่มันก็อาจเกิดขึ้นจากบุคคลอื่นได้อยู่ตลอดเวลา
ในแต่ละปี อุบัติเหตุจราจร ได้สร้างความเสียหายมากมาย มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ รวมมูลค่าในแต่ละปีนับเป็นตัวเลขที่มหาศาล ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้จับมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเมาไม่ขับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย กรมการขนส่งทางบก กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และสมาคมประกันวินาศภัย จัดงานสัมมนาโครงการกวดขันวินัยจราจรและลดอุบัติเหตุทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “365 วัน หยุดความตาย ด้วยวินัยจราจร” เพื่อตั้งเป้าที่จะลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงให้ได้
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติใน 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า อุบัติเหตุทางบกมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมทั่วไปประมาณ 4-5 เท่า โดยสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจาก บุคคล ถนน และยานพาหนะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากบุคคลเสียมากกว่า เพราะการไม่รักษากฎจราจร ไม่มีวินัย สิ่งที่สำคัญคือเมาแล้วขับ เราจึงจำเป็นต้องกวดขันเรื่องพวกนี้
“อุบัติเหตุทางบกเป็นสาเหตุการบาดเจ็บ และเสียชีวิต มากเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ซึ่งในปี 2550 พบมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึงแสนกว่าราย มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมถึง 7 หมื่นกว่าราย หรือ เฉลี่ยวันละเกือบ 33 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้เสียชีวิตจากคดีอาชญากรรม เกือบ 5 เท่า โดยสาเหตุหลักๆ มาจากตัวบุคคลทั้งนั้น ไม่กว่าจะเป็น การขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาระดับต้น ๆ ส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุในปีหนึ่งๆ ถึง 2 หมื่นกว่าราย” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าว
จริง ๆ แล้วการเกิดอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีแต่การรณรงค์เฝ้าระมัดระวังกัน แต่เฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีวันหยุดยาวหลายๆวัน หรือที่เราได้ยินกันคุ้นหูว่าช่วง 7 วันอันตราย เนื่องจากมีผู้ใช้รถใช้ถนนกันมากกว่าวันปกติ แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นแทบจะทุกวันอยู่แล้ว จึงน่าที่จะมีการเฝ้าระวังและเข้มงวดในวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มากขึ้น
ผบ.ตร กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวนี้เน้นตั้งเป้ากวดขันวินัยจราจรใน 6 ด้าน คือ 1.ไม่ขับเร็ว 2.ไม่เมาแล้วขับ 3.ไม่ฝ่าไฟแดง 4.ต้องคาดเข็มขัด 5.ต้องสวมหมวกกันน็อค 6.ไม่โทรแล้วขับ
นอกเหนือ จากนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “กวดขันวินัยจราจรและลดอุบัติเหตุทั่วประเทศ” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดจำนวนของอุบัติเหตุ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยหวังว่าจะลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุลงไม่ต่ำกว่า 10%
เป้าหมายใหญ่ของการรณรงค์ในครั้งนี้ มีอยู่สองประเด็นหลักๆ คือ การ ใช้รถ ใช้ถนนอย่างถูกต้องการหลักจราจร และ การไม่ดื่มเหล้าเมื่อยามขับขี่รถ
การเสียชีวิต บนท้องถนน นอกเหนือไปจากความประมาทแล้ว สาเหตุสำคัญที่สุด ผู้ขับขี่ ไม่มีสติในขณะที่กำลังขับรถ เนื่องจากดื่มเหล้ามาเกินขนาด ไม่สามารถควบคุมสติตัวเองได้ อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าธรรมดา
ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคนที่สอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการรณรงค์ในเรื่องการลดอุบัติเหตุมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จากการศึกษาพบว่าต้นทุนความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร 1 ครั้ง ทำให้ทรัพย์สินเสียหายไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นกว่าบาท เฉพาะผู้เสียชีวิตแต่ละปีประเมินแล้วเกือบ 6 ล้านกว่าบาท ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อปี
“ปกติแล้วสสส.ก็มีนโยบายรณรงค์ เมาไม่ขับอยู่แล้ว เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน การที่มาร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในโครงการ “365 วัน หยุดความตาย ด้วยวินัยจราจร” เพื่อจะช่วยผลักดันให้โครงการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์โดยเร็ว เพราะโศกนาฏกรรมเหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่อาจคิดเป็นตัวเลขได้ ซึ่งมาตรการสำคัญที่จะหยุดยั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ คือ การกวดขันและการปฏิบัติตามวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน” นพ.วิชัย กล่าว
“สสส. เองยังได้สนับสนุนให้มีการพัฒนารูปแบบการจัดตั้งชุดปฏิบัติการณ์ ตรวจจับความผิดเรื่องการขับเร็ว การเมาแล้วขับ ในจังหวัดต่างๆ ที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 10 จังหวัดอีกด้วย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผลัดเปลี่ยนกันปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชม.ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลในหลายพื้นที่พบว่า การเพิ่มจุดตรวจให้มากขึ้น จะช่วยลดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยให้คดีอาชญากรรมอื่นๆ ลดลงตามด้วย” รองประธานคนที่สอง สสส.กล่าว
ฉะนั้น หากต้องการจะหยุดยั้งอุบัติเหตุบนท้องถนน สิ่งเดียวที่จะต้องทำก่อนให้เกิดการรณรงค์คือ การสร้างความเข้มแข็งของระเบียบวินัยกฎหมายให้มั่นคงเสียก่อน เพื่อให้คนส่วนใหญ่นั้น เกิดความรับผิดชอบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ การรณรงค์ที่เกิดตามหลังมาก็จะเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป ที่เป็นผู้ใช้รถ ใช้ถนนทุกคน ควรตระหนักว่าในขณะที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเขาให้ความเป็นห่วงเป็นใยกับคนในสังคมมากถึงขนาดนี้แล้ว คนในสังคมเองก็ควรที่จะเป็นห่วงเป็นใยตัวเราเองบ้าง มิฉะนั้นแล้วการรณรงค์คงจะไม่มีความหมายแต่อย่างใดแน่นอน
เรื่องโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th.
Update:20-08-51