วิ่งช้า วิ่งเร็ว วิ่งแบบไหน…ได้อะไรบ้าง !?
ที่มา : กรมอนามัย
ถ้าจะพูดถึงเรื่องของการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายที่สุด และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ เลย ก็คงจะไม่พ้นการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ที่เราต้องการก็แค่รองเท้าวิ่งดี ๆ สักคู่ กับหัวใจที่พยายามวิ่งไปให้ถึงเป้าหมายเพียงเท่านั้น ซึ่งมีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการเผาผลาญไขมัน และเพิ่มความอึดทนในการวิ่ง พัฒนาระบบการทำงานของปอดและหัวใจ ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทำให้นอนหลับได้สนิท และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอื่นๆมากมาย
การวิ่งสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งวิ่งเพื่อการแข่งขัน วิ่งเพื่อการออกกำลังกาย และวิ่งเพื่อการลดน้ำหนัก ซึ่งแน่นอนในทุกรูปแบบของการวิ่งเราจะได้เผาผลาญพลังงาน น้ำ กล้ามเนื้อ และไขมันออกไป โดยปริมาณการเผาผลาญนั้นจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับความเร็ว น้ำหนักตัวผู้วิ่ง เพศ อายุ และระยะทางที่วิ่งนั่นเอง
ถึงการวิ่งจะดีงามมากประโยชน์ขนาดนี้ สำหรับคนที่มีปัญหารเรื่องสุขภาพ อย่างโรคหัวใจ มีปัญหาการหายใจ ปัญหาที่กระดูก ข้อต่อ หรือผู้มีน้ำหนักตัวมากๆ การเริ่มต้นวิ่งควรได้รับการแนะนำจากแพทย์หรือผู้มีประสบการณ์เสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
การวิ่งควรเริ่มต้นอย่างช้า ๆ
มีข้อแนะนำสำหรับผู้เริ่มวิ่งใหม่ๆและคนที่ไม่ได้ออกกำลังเป็นประจำว่า ควรเริ่มวิ่งอย่างช้าๆ อาจเริ่มต้นด้วยการเดิน แล้วค่อยวิ่งเหยาะๆ หรือ เริ่มจากวิ่งเหยาะๆแล้วเพิ่มความเร็วขึ้น (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความฟิตของแต่ละบุคคลด้วย) และเมื่อร่างกายฟิตขึ้นจึงค่อยๆเพิ่มความเร็วขึ้น อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการป้องกันอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ควรเริ่มด้วยการวิ่งแบบช้าๆทุกครั้ง เพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกาย และ เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการใช้งาน
ความเร็วกับน้ำหนักตัวส่งผลกับการเผาผลาญพลังงาน
การเผาผลาญพลังงานที่ได้จากการวิ่งนั้น จะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับความเร็วที่วิ่ง ระยะทาง และน้ำหนักตัวของผู้วิ่งด้วย คนที่มีน้ำหนักตัวมากจะใช้พลังงานมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวน้อย เพราะต้องใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใหญ่กว่านั่นเอง
การเผาผลาญพลังงานและไขมันในขณะวิ่ง
อย่างที่บอกการเผาผลาญพลังงานของร่างกายไม่ได้ใช้การเผาผลาญพลังงานจากแป้งในกล้ามเนื้อ(ไกลโคเจน) หรือไขมันอย่างใดอย่างนึงเพียงอย่างเดียว แต่ร่างกายจะใช้พลังงานจากทั้งสองแหล่งในปริมาณที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและกิจกรรมการออกกำลังกาย ตอนเริ่มวิ่งร่างกายจะใช้พลังงานจากแป้งในกล้ามเนื้อ(ไกลโคเจน) เป็นพลังงานต้น จากนั้นเมื่อการหายใจเป็นปรกติและมีออกซิเจนเพียงพอ (การวิ่งแบบช้าๆจะหายใจได้เป็นปรกติหายใจได้เต็มที่) หรือที่เรียกว่า การออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน (Aerobic Exercise) ร่างกายจะค่อยๆใช้พลังงานจากไขมันในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งกลไกนี้อาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที
ในขณะที่การวิ่งเร็วๆจะทำให้เราหายใจเอาออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดต่ำกว่า ช่วงหายใจสั้นกว่า หรือเรียกว่าการออกกำลังกายโดยไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Exercise) เมื่อออกซิเจนไม่เพียงพอที่จะทำให้กระบวนการเผาผลาญไขมันทำได้ทันการใช้งาน ร่างกายจึงใช้พลังงานจาก กล้ามเนื้อ(ไกลโคเจน) สูงกว่า
วิ่งช้าหรือเร็วอันไหนได้ผลมากกว่า
มาถึงตรงนี้ต้องมองว่าเป้าหมายของผู้วิ่งต้องการสิ่งไหนมากกว่ากัน หากต้องการลดไขมันในร่างกายก็ควรวิ่งช้าๆเพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญเอาไขมันมาใช้ได้มากกว่า (แต่ต้องใช้เวลาให้มากพอ) แต่ถ้ามองถึงเรื่องกล้ามเนื้อและความฟิตของร่างกาย การวิ่งเร็วๆก็จะตอบโจทย์ได้มากกว่า จากเหตุผลดังกล่าวผู้รู้ส่วนใหญ่จึงนำเอาข้อดีของทั้งสองการวิ่งมาแนะนำ คือการฝึกแบบ ช้าสลับเร็ว (Interval training) เพื่อให้ร่างกายได้ทั้งการเผาผลาญไขมัน และได้ความฟิตของร่างกายไปพร้อมๆกัน
สำคัญที่สุดไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ขอให้วิ่ง
ถ้าหากต้องการให้การลดน้ำหนักและลดไขมันได้ผล การวิ่ง หรือการออกกำลังกายแบบ Aerobic ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ หากเลือกการวิ่งมาใช้เผาผลาญไขมัน ควรเลือกความเร็วที่เราทำได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทำอย่างน้อย 40 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ และหมั่นปรับแผนการวิ่งทุกๆ 4 สัปดาห์ โดยเพิ่มที่ความหนัก เพิ่มความถี่ หรือเพิ่มระยะเวลา ตามความแข็งแรงของร่างกายที่เพิ่มขึ้น หรือเลือกการวิ่งแบบช้าสลับเร็ว ซึ่งวิธีการนี้ไม่ว่าจะวิ่งช้าหรือเร็วคุณก็จะสามารถเห็นพัฒนาการของร่างกายและสามารถลดได้ตามเป้าหมายได้อย่างไม่ยากเย็น
สามารถติดตามบทความและข้อมูลอ้างอิงต่อได้ที่… https://hpc.go.th/diet/?module=fitness04