ถอดบทเรียนฝ่าวิกฤตโควิด-19 พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ บริการสุขภาพเขตเมือง

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

 

                    สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียนฝ่าวิกฤตโควิด-19 สร้างความเข้มแข็งชุมชน-พัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร-สร้างกลไกการจัดการชุมชน เกิดต้นแบบแกนนำสุขภาพชุมชนกว่า 20 หน่วยบริการสุขภาพ 39 ชุมชน สู่การต่อยอดการจัดการชุมชนในภาวะวิกฤตในอนาคต


                    เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 65 ที่ รร.อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนารูปแบบแนวทางการทำงานของหน่วยบริการปฐมภูมิเขตเมือง เพื่อถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับระบบบริการสุขภาพเขตเมืองในการจัดการสุขภาพตนเองของชุมชน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19ได้ดี คือการมีบุคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง รวมถึงระบบกลไกสาธารณสุขในระดับชุมชน อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็ง ปฏิบัติใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สามารถรักษา ดูแลตนเองในขั้นเบื้องต้นได้ภายในชุมชน


                    นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า สสส. สนับสนุนการทำงานเสริมสร้างองค์ความรู้การพัฒนาระบบสุขภาพในระดับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนในการสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการดำเนินงานพบว่า ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากความร่วมมือของคนไทย และทุกภาคส่วน อาทิ อสม. ผู้นำชุมชน กลุ่ม ชมรม อาสาสมัคร และประชาชน ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการลงพื้นที่ค้นหากลุ่มเสี่ยงเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง รวมถึงให้ความรู้เรื่องสาธารณสุขต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับแพทย์ และพยาบาล


                    ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณรงค์ จันใด ภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคม และการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในวิกฤตโควิด-19 โครงการฯ ได้เข้าไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนเขตเมือง สานพลังและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน บุคลากรสาธารณสุข ทีมสหวิชาชีพ ให้มีความรู้ความสามารถ เกิดแกนนำสุขภาพชุมชน ที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีศักยภาพเพียงพอในการป้องกันโควิด-19 พัฒนาระบบบริการ ระบบการช่วยเหลือสำหรับชุมชนเขตเมือง ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับระดับนโยบายในพื้นที่ ได้แก่ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) จนนำไปสู่ต้นแบบการดูแลช่วยเหลือชุมชนพื้นที่เขตเมืองในวิกฤติโรคอุบัติใหม่ ครอบคลุม 3 จังหวัด 20 หน่วยบริการสุขภาพ 39 ชุมชน เกิดการขยายผล เพื่อนำไปในวิกฤตอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Shares:
QR Code :
QR Code