มหัศจรรย์แค่ไหน ถ้าเด็ก ๆ ได้ออกมาเล่นนอกบ้าน
ที่มา : ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย – TPAK
แฟ้มภาพ
ทราบหรือไม่ ในความเป็นจริงแล้วการเล่นนอกบ้านนั้นดีและมีประโยชน์อย่างที่เราคาดไม่ถึง เพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนอาจกลัว และสั่งห้ามเด็ก ๆ จนทำให้การเล่นที่เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการส่งเสริมพัฒนาการชั้นยอด ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม แม้กระทั่งอิสรภาพการเล่นของเด็ก ๆ ถูกจำกัดลง มากไปกว่านั้น เกิดการกำหนดกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับมากเกินไปโดยไม่จำเป็นระหว่างเล่นได้กับห้ามเล่น ทำให้สิทธิ ปริมาณ และประเภทการเล่นของเด็ก ๆ ถูกจำกัด เพราะนั่นอาจขัดขวางความสามารถของพัฒนาการและการเรียนรู้ตามธรรมชาติที่ได้จากการเล่นไป แม้กระทั่งความสนุกสนานและความสุขจากการเล่นของเด็กอาจลดลง
หลาย ๆ การศึกษาพยายามชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมทางกายหรือการเล่นของเด็กสามารถทำได้มากขึ้นเมื่อพวกเขาได้มีโอกาสออกไปเล่นนอกบ้าน จริงอยู่ที่การเล่นนอกบ้านอาจเสี่ยงที่จะบาดเจ็บได้บ้าง แต่สิ่งสำคัญที่เด็ก ๆ ได้กลับมาคือ การเรียนรู้ ประสบการณ์ จากการเล่นอย่างเป็นองค์รวม ในทางกลับกันการเล่นนอกบ้านของเด็ก ๆ กลับมีความอันตรายน้อยมาก จากตัวอย่างในประเทศแคนาดาพบว่า มีเด็กที่เสียชีวิตจากการตกจากอุปกรณ์การเล่น ต่ำกว่า 1:70 ล้านคน และไม่มีข้อมูลของเด็กที่ตกจากต้นไม้เสียชีวิตมากว่า 17 ปี รวมทั้งการบาดเจ็บที่ร้ายแรงมากเช่นกัน และโอกาสที่แขนขาหักก็มีเพียงร้อยละ 0.0004 เท่านั้น
การเล่นนอกบ้าน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ เช่น
1. พัฒนาการด้านร่างกาย ที่ช่วยส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหว เช่นการทรงตัว ความคล่องแคล่ว ดัชนีมวลกายลดลง ลดภาวะโรคอ้วนในเด็ก ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้
2. พัฒนาการด้านสังคม การเล่นนอกบ้านช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักการสังเกตและใช้เหตุผลมากขึ้น เรียนรู้กับธรรมชาติ และส่งผลต่อความคิด ทัศนคติที่จะรักและรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวเมื่อร่วมเล่นไปด้วยกันอีกด้วย
3. พัฒนาการด้านอารมณ์ เด็ก ๆ จะได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว และเกิดพัฒนาการในการเรียนรู้และประมวลผล เกิดความรู้สึกเป็นอิสระ ผ่อนคลาย และเกิดความมั่นใจในการเล่นมากขึ้น
4. พัฒนาการด้านสติปัญญา การเล่นนอกบ้านช่วยให้สมองของเด็ก ๆ ถูกพัฒนาผ่านกระบวนการทางความคิด แก้ไขปัญหา และตัดสินใจ นอกจากนี้ยังเพิ่มทักษะการสื่อสารจากคนรอบข้างที่ร่วมเล่นไปด้วยกัน
ดังนั้นการให้โอกาสเด็ก เพื่อออกไปเล่นข้างนอกให้นานขึ้น นั่งในบ้านให้น้อยลง ยิ่งได้ประโยชน์ที่จากธรรมชาติที่พวกเขาได้สัมผัส มือที่สกปรก ฝ่ามือทั้งสองที่สัมผัสจุลินทรีย์ ก็คือภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งที่จะสร้างขึ้น และการเล่นอย่างอิสระของเด็กมักจะแฝงไปด้วยเป้าหมายที่ซ่อนอยู่ในความคิดพวกเขา เด็กจะเกิดการเรียนรู้ขีดจำกัดหรือการประเมินความสามารถและการจัดการความปลอดภัยของตนเองในขณะเล่น ช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่ดีกระฉับกระเฉงและยังได้บริหารสายตาในขณะออกกำลังกายกลางแจ้งอีกด้วย