3 อ. ตัวช่วย สว.ลดโอกาส..’สมองเสื่อม’

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


3 อ. ตัวช่วย สว.ลดโอกาส..\'สมองเสื่อม\' thaihealth


ภาวะสมองเสื่อมเป็นความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วจึงลุกลามไปยังสมองส่วนอื่นๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมีโอกาสสมองเสื่อมถึง 1 ใน 3 


โดยปัญหาสมองเสื่อมแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะสำหรับตัวผู้ป่วยแต่เพียงผู้เดียว โรคนี้สามารถส่งผลกระทบต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมอย่างที่เรานึกไม่ถึงเลยทีเดียว ภายใน "eat right eat organic เติมสุขภาพดี" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเลมอนฟาร์ม พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อายุรแพทย์ รพ.รามาธิบดี และนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม อธิบายเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม และบอกหลักสำคัญในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมว่า สมองเสื่อมเป็นโรคอย่างหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากกระบวนการสูงอายุ ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนต้องสมองเสื่อม เพียงแต่จะเจอบ่อยในผู้สูงอายุ


3 อ. ตัวช่วย สว.ลดโอกาส..\'สมองเสื่อม\' thaihealth


ภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ พบว่าโรคอัลไซเมอร์และหลอดเลือดไม่ดีทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมถึง 90% เพราะฉะนั้นคนที่ชอบกินอาหารที่มัน ควบคุมความดันโลหิตไม่ดี และไขมันในเลือดสูงก็จะมีโอกาสป่วยสูง โดยสัญญาณที่บ่งบอกอาการสมองเสื่อม ได้แก่ 1.การสูญเสียความ ทรงจำในระยะสั้นที่กระทบต่อการทำงาน 2.สิ่งที่ เคยทำเป็นประจำเริ่มทำไม่เป็น 3.ปัญหาด้านภาษา เลือกคำพูดไม่ค่อยถูก 4.ไม่รู้เวลาและสถานที่ 5.สูญเสียการตัดสินใจ 6.ไม่ค่อยเข้าใจความคิด ที่เป็นนามธรรม 7.วางของผิดที่แบบแปลกๆ 8.อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง 9.บุคลิกภาพ เปลี่ยนแปลง และ 10.สูญเสียความ คิดริเริ่ม


"การลืมในภาวะสมองเสื่อมจะเป็นการลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวๆ ลืมทั้งเหตุการณ์ และลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วง 2-3 วัน 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานมากแล้วจะจำได้ เช่น เหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้จะเล่าเหตุการณ์ที่จำได้ซ้ำๆ เล่าเรื่องเดิมอย่างเดิม ยกตัวอย่าง คนไข้หมอคนหนึ่งไปบอกน้องสาวว่าถ้ามีทัวร์ไปเมืองจีนจะไปด้วยเพราะไม่เคยไป ทั้งที่ความจริงเพิ่งไปมาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน มีรูปถ่ายที่กำแพงเมืองจีนและหนังสือเดินทางก็ประทับตราชัดเจน แบบนี้ถือว่ามีความผิดปกติ หรือลืมว่าเมื่อวานตอนเย็นกินอาหารอะไร เป็นต้น เนื่องจากคนทั่วไปจะต้องจำได้ว่าภายใน 24 ชั่วโมงกินอะไรไปบ้าง หากจำไม่ได้นับว่ามีอาการน่าเป็นห่วง


แต่ถ้าหากออกจากบ้านแล้วลืมกุญแจ หรือจอดรถแล้วไม่แน่ใจว่าล็อกรถหรือยัง ไม่ถือเป็นภาวะสมองเสื่อม การลืมกุญแจบ้านเป็นเพราะไม่มีวินัย วางไม่เป็นที่ ส่วนล็อกรถเป็นเพราะสมองยังไม่ได้บันทึกสิ่งนั้นไว้ ไม่ได้เป็นการลืม" พญ.สิรินทร อธิบาย


3 อ. ตัวช่วย สว.ลดโอกาส..\'สมองเสื่อม\' thaihealth


โดยหลักในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมอย่างง่ายๆ ให้ยึดหลัก 3 อ. อาหาร อารมณ์และออกกำลังกายเอาไว้ก็จะช่วยได้ ซึ่ง พญ.สิรินทร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนที่ตกอยู่ในความเศร้า ทุกข์ สูญเสีย น้อยใจหรือความโกรธ โมโห ซึ่งถือเป็นกลุ่มอารมณ์เดียวกันเป็นเวลานาน มีโอกาสที่จะเป็นสมองเสื่อมมากขึ้น เนื่องจากการที่จิตไม่เบิกบานทำให้เซลล์สมองที่บันทึกความจำ หรือสมองส่วนฮิปโปแคมปัสฝ่อลง ความจำใหม่ๆ จะไม่เกิดขึ้น ถ้าปรับอารมณ์เหล่านี้ได้เร็วเซลล์ที่ฝ่อก็จะกลับมาดี แต่หากปล่อยให้เศร้า หดหู่ ทุกข์นานๆ เซลล์นี้ก็จะตายไป ไม่กลับมาอีก สมองฝ่อไปเลยเกิดเป็นสมองเสื่อม ดังนั้น จึงไม่ควรเศร้าหรือโกรธเป็นเวลานาน ให้เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นให้หยุดและหาอย่างอื่นทำแทน


ไม่เพียงแต่ของอารมณ์เท่านั้นที่จะช่วยป้องกันภาวะสมอง อาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสมองต้องการพลังงานสม่ำเสมอ จึงไม่ควรอดอาหารเช้า แม้คนจะบอกว่าตัวเองอยู่ได้ แต่สมองอยู่ไม่ได้ จากการที่ไม่รับอาหารมานาน 8-12 ชั่วโมงในช่วงที่นอนหลับ โดยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยทำให้เกิดความปึ๋งปั๋งในสมอง แต่จะต้องอาศัยแอนติออกซิแดนต์มาจับจึงออกฤทธิ์ ซึ่งจะมีอยู่ในผัก ผลไม้ต่างๆ นอกจากนี้ อาหารที่มีโอเมก้า 3 ก็จะช่วยบำรุงสมอง ในปลาทู ปลาสวายมีสูงกว่าในปลาแซลมอน


ด้านการออกกำลัง พญ.สิรินทร ยืนยันว่ามีข้อมูลทางวิชาการชัดเจนว่าทำให้สมองยั่งยืน จากการที่มีการหลั่งสารเอ็นโดรฟินหรือสารความสุข แต่หากเป็นแพทย์สมองจะเรียกว่าสารบีดีเอ็นเอฟ (BDNF : Brain-derived Neurotrophic Factor) ที่เปรียบเสมือนปุ๋ยที่มาช่วยรดเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองที่อ่อนล้ากลับมากระฉับกระเฉง ทั้งนี้ ควรออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ส่วนที่มีการโฆษณามากมายในปัจจุบันว่ามีสารเคมีหลายตัวช่วยในการบำรุงสมองได้ดีนั้น ยังไม่มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน


"การใส่ใจดูแลสมองจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันภาวะสมองเสื่อม ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยการใช้หลัก 3 อ. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอเพราะความจำดีจะเกิดขึ้นในขณะที่หลับสนิท มีโอกาสที่จะผนึกความจำได้ดี ทำอารมณ์ให้เบิกบาน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ" พญ.สิรินทร กล่าวปิดท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code