3 ยุทธศาสตร์ ‘หวังลดเหล้า-ลดอุบัติเหตุ’

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยรัฐ 


3 ยุทธศาสตร์ 'หวังลดเหล้า-ลดอุบัติเหตุ' thaihealth


สสส.ชูแคมเปญ "ลดเมา เพิ่มสุข 4 สร้าง 1 พัฒนาพาชุมชนลดเหล้า ลดอุบัติเหตุ" วางยุทธศาสตร์รณรงค์ลด ละ เลิก เหล้าตลอดปี เข้ม 3 เทศกาล "ปีใหม่-สงกรานต์-เข้าพรรษา" ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนคนเลิกเหล้า คิดค้นนวัตกรรมช่วยคนอยากเลิก เกิดหมู่บ้านต้นแบบ 576 หมู่บ้านทั่วประเทศ


เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบการรณรงค์และขับเคลื่อนกิจกรรม "ลดเมา เพิ่มสุข : 4 สร้าง 1 พัฒนาพาชุมชนลดเหล้า ลดอุบัติเหตุ" ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ศวฉ.แอลกอฮอล์) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยชุมชน โดย นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ประกาศเจตนารณรมณ์ "เป้าหมายการ ลดเมา เพิ่มสุข ปี 2561" และมอบใบประกาศเชิดชูต้นแบบการเลิกเหล้า จำนวน 97 แห่ง


น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จากระบบข้อมูลตำบล (Thailand Community Network Appraisal Program-TCNAP) ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ใน ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 2,094 อปท. 2,776,622 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้นจำนวน 8,784,563 คน มีผู้มีพฤติกรรมดื่มสุราเป็นประจำ 662,598 คน คิดเป็นร้อยละ 7.54 ซึ่งเป็นเพศชายจำนวน 544,407 คน คิดเป็นร้อยละ 82.26 เพศหญิง 118,191 คน คิดเป็นร้อยละ 17.84 พื้นที่พบว่ามีการดื่ม อันดับ 1 คือ สมาชิกเครือข่ายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผู้มีพฤติกรรมดื่มสุราเป็นประจำมากที่สุด 237,013 คน คิดเป็นร้อยละ 35.77 อันดับ 2 คือ ภาคเหนือ 233,899 คน คิดเป็นร้อยละ 33.79 และอันดับ 3 คือภาคกลาง จำนวน 115,309 คน คิดเป็นร้อยละ 17.40 โดยจังหวัดที่มีผู้มีพฤติกรรมดื่มสุราเป็นประจำมากที่สุด คือ จังหวัดเชียงราย 46,317 คน คิดเป็นร้อยละ 6.99 รองลงมาคือ จังหวัดเชียงใหม่ 42,407 คน คิดเป็นร้อยละ 6.40 และจังหวัดลำปาง 28,989 คน คิดเป็นร้อยละ 4.38 ตามลำดับ พบว่าส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-59 ปี จำนวน 522,119 คน (ร้อยละ 78.80 ) รองลงมาคือ ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 121,188 คน (ร้อยละ 18.29) และช่วงอายุที่ดื่มสุราน้อยที่สุด คือ 5-14 ปี จำนวน 7,369 คน (ร้อยละ 1.11)


ทั้งนี้ พบปัญหาสุขภาพจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังของผู้ดื่ม 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง รองลงมา คือ ปวดข้อ/ข้อเสื่อม โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้และโรคเกาต์ พบปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของจำนวนผู้ดื่มสุราร่วมกับพฤติกรรมเสี่ยงอื่น พบว่า อันดับ 1 มีการดื่มสุราร่วมกับสูบบุหรี่เป็นประจำ(มีการสูบบุหรี่ในทุกวัน) จำนวน 279,538 คน (ร้อยละ 3.18) อันดับ 2 คือ การกินอาหารสุกๆดิบๆ จำนวน 144,017 คน (ร้อยละ 1.63) อับดับ 3 พฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่ได้ตรวจสุขภาพหรือการคัดกรองโรคเป็นประจำทุกปี จำนวน 60,162 คน (ร้อยละ 0.68) โดยช่วงอายุที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจราจรพบมากในช่วงอายุ 25-59 ปี คือ อันดับ 1 คือ การขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ลำดับที่ 2 คือ การขับรถเร็วและประมาท และ ลำดับที่ 3 คือ การขับขี่รถยนต์โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจำนวน ดังนั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะเป็นการจัดการความรู้การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อพัฒนากลไกในการรณรงค์และขับเคลื่อน “ลดเมา เพิ่มสุข ปี 2561” และทบทวนทุนและศักยภาพพร้อมทั้งออกแบบกิจกรรม “ลดเมา เพิ่มสุข” ในพื้นที่


น.ส.ดวงพร กล่าวต่อว่า การออกแบบกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แคมเปญ "ลดเมา เพิ่มสุข" ประกอบด้วยกิจกรรม 4 สร้าง 1 พัฒนา คือ 1) สร้างคนต้นแบบ ทั้ง 3 ระดับ คือ ผู้นำชุมชน เยาวชน และครอบครัว 2) สร้างเส้นทางปลอดภัย 3) สร้างนวัตกรรมช่วยเลิกโดยชุมชน 4) การกำหนดมาตรการทางสังคม และการบังคับใช้กฎหมาย และ 5) การพัฒนาความร่วมมือ 4 องค์กรหลัก สร้างชุมชนลดเมา เพิ่มสุขด้วยกลไกการจัดการในพื้นที่ให้สามารถทำหน้าที่ควบคุมการดื่มและการเกิดอุบัติเหตุอันมาจากการดื่มในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดการรณรงค์ออกเป็นสองระยะ ได้แก่ (1) การดำเนินงานในระยะปกติ ด้วยการดำเนินกิจกรรมให้เกิด การลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (2) การใช้โอกาสช่วงเทศกาลสำคัญของประเทศ เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และเข้าพรรษา


นายสมพร กล่าวต่อว่า เป้าหมายการ ลดเมา เพิ่มสุข ในปี 2561 ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือ สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุจราจรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยชุมชนท้องถิ่น และสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เป็นสงกรานต์ปลอดเหล้า และปลอดภัย โดยขับเคลื่อนจัดกิจกรรมใหญ่เพื่อปลุกกระแสในพื้นที่ในช่วงเทศกาลสำคัญ ได้แก่ วันเข้าพรรษาและวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ช่วงเทศกาลปีใหม่ (28 ธันวาคม 2561 ถึง 2 มกราคม 2562) และช่วงเทศกาลสงกรานต์ (12-16 เมษายน 2562) รวมถึงช่วงเวลาปกติระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ถึง 20 เมษายน 2562 (จำนวน 10 เดือน) ซึ่งคาดว่า ผลที่ได้รับจะช่วยให้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพิ่มจำนวนคนเลิกเหล้าในชุมชน 3,409 คน ช่วยลดอุบัติเหตุบนถนนของชุมชนท้องถิ่นที่เข้าร่วม ชุมชนท้องถิ่นมีนวัตกรรมที่เป็นวิธีการช่วยผู้ที่ต้องการเลิกเหล้าได้อย่างน้อย 1 แห่ง/อปท. และเกิดหมู่บ้านต้นแบบที่มีการกำหนดมาตรการทางสังคมอย่างน้อย 576 หมู่บ้าน

Shares:
QR Code :
QR Code