3 ปี สึนามิแล้ว ประเทศไทยเราพร้อมเพียงไรต่อภัยพิบัติ?

 เมื่อสังคมไทยไม่ค่อยสนใจการเตรียมตัวเท่าที่ควร

3 ปี สึนามิแล้ว ประเทศไทยเราพร้อมเพียงไรต่อภัยพิบัติ? 

          อีกเพียงอาทิตย์เดียว (๒๖ ธันวาคม) สึนามิที่ใครไม่เคยคิดว่าจะมาถึงประเทศไทยก็ผ่านมาได้ ๓ ปี พร้อมกับร่องรอยและเรื่องราวเล่าได้ไม่รู้หมด แถมด้วยเรื่องราวพิบัติภัยอีกมากมายที่ทยอยเกิดขึ้นได้อย่างไม่หยุดหย่อน

 

          หากจะพอจำได้ ตั้งแต่วันแรกของสึนามิ มีคำสั่งและความคิดริเริ่มหลั่งไหลออกมามากมายว่าจะทำนั่น ทำนี่ โดยมีทั้งที่ได้ทำแล้ว ทำยังไม่ได้ ทำแล้วไม่เลิก และเลิกทำไปแล้ว โดยหลายเสียงประสานกันในทำนองเดียวกันว่า “วัฒนธรรมของสังคมไทยเรานั้นไม่ค่อยสนใจในการเตรียมตัวเท่าไหร่ ไทยเราพร้อมเพรียงมากเมื่อมีเหตุแล้วลุกขึ้นมา มะรุมมะตุ้มจนเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไป ทำอะไรก็ชอบทำกันเป็นพักๆ เฉพาะกาลเฉพาะกิจ ที่ตั้งใจทำจริงก็ทำกันเฉพาะตอนเฉพาะส่วน ต่อเชื่อมกันไม่ค่อยติด

 

          พิจารณาตามหลักการจัดการภัยพิบัติที่มักวางกันไว้ ๓ จังหวะ คือ การจัดการตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างกำลังเกิด และหลังเกิดแล้ว ตลอด ๓ ปี หลังสึนามิ ประเทศไทยเราผ่านการเรียนรู้และพัฒนาระบบจนพร้อมพอต่อภัยพิบัติแล้วเพียงไร

 

          ก่อนเกิด

 

          การลดระดับและความรุนแรง ที่มีทั้งแนวคิดการย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอดจนการก่อสร้างสิ่งกำบังลดแรงปะทะ มีการดำเนินการจริงจังได้น้อยมาก หมู่บ้าน ร้านค้าและโรงแรมสถานที่พักได้ถูกสร้างคืนเกือบเต็มทุกพื้นที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ป่าตอบ กมละ เขาหลัก บางสัก น้ำเค็ม เกาะคอเขา หลายพื้นที่ไม่มีการปรับแม้แต่แนวหรือผังของชุมชนเพื่อเอื้อต่อการอพยพหลบภัยดังเช่นในพื้นที่บ้านน้ำเค็ม ในขณะที่เกาะพีพีที่มีการกันพื้นที่ไว้ในนามของ อพท. (องค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว) แต่ก็ขาดการประสานจัดการที่ดีจนค้างเติ่งไร้ทิศทางถึงทุกวันนี้ ส่วนการก่อสร้างเพื่อกันคลื่นนั้นยังไม่พบรายงานการดำเนินงานในพื้นที่ใด

 

          การจดจำ เฝ้าระวัง ซักซ้อม และระบบเตือนภัย เป็นกิจกรรมที่มีการทุ่มเทอย่างมาก โดยเฉพาะระบบเตือนภัยที่มีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกโดยเพิ่งจะมีการยกระดับฐานะจัดตั้งเป็นหน่วยงานชัดเจนเมื่อไม่นานนี้ แต่ระบบยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ โดยเฉพาะตัวทุ่นในทะเลและหอสัญญาณเตือนภัยที่เพียงพอและพร้อมจริง ในขณะที่ระบบป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่เพิ่งตั้งเป็นกรมก่อนเกิดสึนามินั้น เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนที่ผ่านมา พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้มีผลบังคับใช้ พร้อมกับความพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีแผน ระบบ ความพร้อมและการซ้อมแผนเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ค่อยเป็นจริง เพราะยังเป็นการประสานสั่งการหรือดำเนินการจากข้างบน ที่เป็นระบบเอาพื้นที่ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster and Risk Management-CBDRM) ยังมีน้อยมาก ในขณะที่ความตระหนักจดจำและตื่นตัวมีสูงมากจนถึงขั้นตระหนกแตกตื่น ยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์สัญญาณธรรมชาติเพื่อเตือนภัยอย่างเป็นระบบเพียงพอทั้งๆ ที่มีปรากฏไม่น้อย

 

          ระหว่าง กำลัง เกิด

 

          การจัดการระหว่างเกิดภัยพิบัติ ด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ที่มีการให้อำนาจหน้าที่แก่ผู้จะสวมบทบาทผู้บัญชาการ/ผู้อำนวยการ (Incidence Command) พร้อมระบบการประสาน ๓ ระดับ คือ ระดับในพื้นที่เกิดเหตุ ที่ขึ้นอยู่กับชุมชนคนในพื้นที่เองกับระดับท้องที่หรือท้องถิ่นทั้ง อบต. เทศบาล อำเภอ จังหวัด และระดับศูนย์ส่วนกลาง ตลอดจนระบบงานอาสาสมัครซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ยังไม่เห็นรูปธรรมของระบบการประสานดำเนินการชัดเจน

 

          การกู้ชีพช่วยชีวิตและสุขภาพ ทั้งที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูง แต่ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข ยังมีลักษณะเป็นเสมือนหน่วยงานฝ่ายเฉพาะกิจ ภายใต้ระบบและเครือข่ายที่เข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพ เกิดหลายชุดความรู้ใหม่จากกรณีศึกษาการบาดเจ็บจากคลื่นยักษ์ และการดูแลสุขภาพจิต ในขณะที่การดูแลรักษาระยะยาวแก่ผู้บาดเจ็บเรื้อรังเหมือนมิได้รับการติดตามเยียวยาอย่างเป็นระบบจนจบ

 

          การเก็บซากพิสูจน์ศพ ทั้งที่ถือเป็นกรณีศึกษาครั้งสำคัญของโลก ที่ทำการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเกือบ ๕,๐๐๐ คน เพราะทั้งอินโดนีเซียและศรีลังกานั้นฝังทั้งหมด และไทยได้พัฒนายกระดับเป็นศูนย์ TTVI ที่สามารถพัฒนายกระดับทั้งเชิงวิชาการ ความรู้และระบบบริหารจัดการสถาบันร่วมกับภาคีแพทย์และนิติวิทยาศาสตร์ แต่เกิดความขัดแย้งในระหว่างการทำงานสูงมาก และยังไม่เกิดการประสานใดๆ รวมทั้งศูนย์ TTVI ด้วย

 

          หลังเกิด

 

          การบริจาคช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูชีวิตและชุมชนที่ไทยเราทำได้ดีด้วยใจอาสาและอาทรเอื้อเฟื้อ มีกรณีศึกษาดีๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งในหมู่ผู้อุทิศบริจาค ผู้ประสานจัดการสนับสนุน และตัวผู้ประสบภัยเอง มีทั้งผู้บริจาคและผู้ประสานการสนับสนุนด้วยใจจริงจนถึงด้วยเห็นเป็นโอกาสบางอย่าง ในขณะที่ตัวผู้ประสบภัยเองนั้นมีทั้งที่เฝ้าแต่รอขอรับจนถึงที่ขอรับเพียงเพื่อได้ลุกขึ้นพึ่งตัวเองร่วมกับเพื่อนพี่น้อง ในขณะที่ข้าวของบริจาคซึ่งหลากหลายตั้งแต่รองเท้า ผ้าอนามัย จนถึงอาหาร บ้านเรือนและเรือนั้น มีหลายรูปแบบ คุณภาพและกระบวนการให้ทั้งของที่จำเป็นและต้องการ จนถึงของไม่จำเป็นและไม่ต้องการ เป็นภาระในการขนส่ง รวบรวม และรับรักษาไว้

 

          ในวาระ ๓ ปี สึนามิที่กำลังจะถึง น่าจะถึงเวลาที่ทั้งสังคมไทยจะได้ร่วมกันทบทวนถอดรหัสการเรียนรู้ เพื่อการอยู่ดีจากกรณีธรณีพิบัติภัยใต้ทะเลและคลื่นยักษ์สู่ความพร้อมพอต่อนานาภัย…ในอนาคตที่กำลังเพิ่มขึ้น และทำท่าจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

 

          เริ่มได้ด้วยการลองทบทวนดูว่าที่บ้านหรือท้องถิ่นของคุณมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติอะไรบ้าง แล้วมีความพร้อมพอต่อการรับภัยนั้นแล้วเพียงไร

 

          หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามวิถีวัฒนธรรมไทยที่ถูกว่าเสมอว่า “เอาไว้ให้เกิดเหตุก่อนค่อยว่า”

 

          บัญชา พงษ์พานิช

          ที่ปรึกษาโครงการถอดรหัสข้อเรียนรู้เพื่อการอยู่ดีจากกรณีธรณีพิบัติภัยใต้ทะเลและคลื่นยักษ์

          “เมื่อร่วมมือฟื้นฟูกู้ไทย…จากภัยพิบัติ สู่ความพร้อมพอต่อนานาภัย…ในอนาคต”

          (Lessons Learned From Thai’s Tsunami For Future Preparedness)

 

          สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

Update:25-07-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code