3 นักเขียนมือรางวัล สู่ถนนตัวอักษร
ที่มา : จิณห์วรา ช่วยโชติ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
จากหนังสือเล่มโปรด สู่การก้าวเดินบนถนนตัวอักษรที่ไม่หยุดนิ่งของ 3 นักเขียนมือรางวัล
เลียบคลองผดุงกรุงเกษม สถานที่ผู้คนขวักไขว่จับจ่ายใช้สอยทั้งตลาดสด ผักผลไม้ แวดล้อมไปด้วยสถานศึกษา และสถานที่ราชการ ก่อนถึงร้านข้าวต้มตรงสี่แยกเทเวศร์ มีร้านหนังสือเล็กๆ ในอดีตเป็นร้านขายยาแผนโบราณ ร้านขายนิตยสาร ปัจจุบันปรับรูปโฉมด้วยสีม่วงโดดเด่นมีสัญลักษณ์อันเป็นที่รู้จักของนักอ่าน คือเจ้าแมวตัวอ้วนในนามร้าน ‘บุ๊คบุรี’ แผงนิตยสารที่วางด้านหน้าทำให้ดูแตกต่างจากร้านหนังสืออิสระโดยทั่วไป มีการจัดงานที่น่าสนใจขอเก็บมาเล่าด้วยความประทับใจ
สามนักเขียน นักอ่าน ที่มีจังหวะชีวิตและช่วงอายุที่แตกต่างมาย้อนคำนึงให้เราฟังกันอย่างเต็มอิ่มตั้งแต่ ศรีดาวเรือง นักเขียนรางวัลศรีบูรพาประจำปี 2557 ผู้ได้รับฉายาว่า “กรรมกรวรรณกรรม” จบเพียง ป.4 ทำมาหมดทุกอาชีพ มีผลงานเขียนออกมาครั้งแรกลงในสังคมปริทัศน์เรื่อง ‘แก้วหยดเดียว’ และเรื่องสั้นอีกมากมายกว่าร้อยเรื่อง ทุกวันนี้ยังคงทำงานเขียนอยู่อย่างต่อเนื่อง
และนักเขียนหนุ่มใหญ่ บินหลา สันกาลาคีรี เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2548 จากเรื่อง ‘เจ้าหงิญ’ ชื่อหนังสือ หรือคำที่อยู่ในงานเขียนของบินหลา ช่างคารม คมคาย และเป็นคำที่ผู้อ่านยังคงจดจำและยังคงนึกถึงอยู่ อาทิ “คิดถึงทุกปี” หรือ “เราพบกันเพราะหนังสือ” ส่วนคนสุดท้ายเป็นนักเขียนสาวสวย ฝีปากกล้า ผีมือทำกับข้าวก็ยิ่งจัดจ้านพอๆกับตัวอักษรที่เธอถ่ายทอดออกมา ชมพู อุรุดา โควินท์ จะร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ความประทับใจจากการอ่านที่ทำให้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอยู่จนถึงปัจจุบัน
นักเขียนหลายคนฟูมฟักตัวเองจากโลกการอ่านที่สุกงอมแล้ว “หนังสือเล่มไหนที่มีผลต่อชีวิต” ของเขาทั้ง 3 คน อุรุดา บอกว่าสำหรับเธอคือเรื่อง ‘แผ่นดินของเรา’ ผลงานเขียนของ ซูเปรี (อังตวน เดอ แซงแต็กซูเปรี) หรือผู้เขียนเจ้าชายน้อย เพราะประทับใจในสายตาของความเป็นนักเขียนที่ถ่ายทอดมุมมองจากประสบการณ์จริงที่เป็นนักบินดังนั้นไม่ว่าจะพยายามอย่างไร เธอก็ไม่อาจมองเห็นได้แบบเขา ผลงานของเขาจึงทำให้มองโลกต่างไปจากเดิมและสิ่งที่เธอชอบมากที่สุดจากหนังสือเล่มนี้คือการได้ข้อคิดว่า “เราจะทำอะไรก็ได้แม้มันจะเป็นหน้าที่เล็กๆ หากตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งนั้น ต่อตัวเรา ต่อโลกใบนี้ สิ่งนั้นก็จะมีความหมาย”
ด้าน บินหลา เล่าว่า “หนังสือกับตัวผมนั้นมันเป็นเรื่องคู่กัน มันจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา จึงไม่สามารถพูดได้ว่าผมชอบหนังสือเล่มไหนเป็นพิเศษ แต่ในตอนนี้ผมชอบ ‘ราชาธิราช’ ผมกลับมาอ่านอีกครั้งเมื่อผมโตขึ้นและพบความใหม่ของมัน ผมเชื่อว่าแม้คุณจะไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์มา แต่คุณก็จะเข้าใจบริบทของมัน” คำตอบของเขาทำให้ผู้ฟังพยักหน้าเห็นด้วยว่า ความชอบแปรเปลี่ยนไปตามบริบทและการเติบโตทั้งช่วงเวลาและวัย
แล้วการอ่านของศรีดาวเรืองเริ่มจากอะไร ทำไมถึงชอบอ่านจนกลายเป็นนักเขียนศรีดาวเรืองบอกว่า “เมื่อตอนเด็กอ่านนิยายทุกเรื่อง อ่านจนเอาพระเอกคนนี้ไปปนเป็นพระเอกเรื่องโน้น (หัวเราะ) คุณพ่อคุณแม่เป็นคนชอบอ่านหนังสือก็จะอ่านวรรณคดีคำกลอน อ่านป.อินทรปาลิต มีหนังสือแปลหนังสือที่อ่านมีไม่มากหรอก อ่านไปก็หมดแล้ว”
นอกจากนี้อุรุดา ยังย้ำอยู่ตลอดว่า “เป็นคนอ่านหนังสือน้อยมาก ถ้าเทียบกับนักอ่านหรือนักเขียนคนอื่นๆ” อุรุดาทำให้ผู้อ่านเห็นว่า เธอก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ไม่เก่งแต่เธอเขียนมันทุกวัน เพราะเธอเชื่อว่า“ไม่มีอะไรเป็นแบบฝึกหัดที่ดีเท่ากับการเขียน เขียนไปเหอะ ถ้าอ่านไปแล้วคุณไม่เขียนคุณก็จะไม่เจอเสียงตัวเอง คุณต้องหาเสียงของมันให้เจอ”
แรงบันดาลใจจากนักเขียนสู่นักเขียน
ผลงานเล่มแรกของนักเขียน บางครั้งอาจยังไม่เป็นที่รู้จัก ต่อเมื่อสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ทั้งฝีไม้ลายมือที่ชัดเจนและตัวนักเขียนจึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านหลายคนก้าวสู่การเป็นนักเขียน โดยศรีบอกว่าผลงานหลายต่อหลายเล่มของศรีบูรพา เช่น เรื่อง ‘ขอแรงหน่อยเถอะ’ ทำให้เธอซึ่งยากจนและรู้สึกต่ำต้อย มีกำลังใจขึ้นมาก ทำให้คิดได้ว่าถึงตนเป็นคนจนแต่ก็เป็นคนเหมือนกันนะ ตึกสูงใหญ่หากไม่มีกรรมกรก็สร้างไม่เสร็จ ผลงานของศรีบูรพาจึงสร้างความมั่นใจให้แรงบันดาลให้ความกล้าในการเริ่มเขียนหนังสือให้กับเธอมาก โดยเธอบอกว่า “หากว่าเรามั่นใจแล้วว่าเราทำอันนี้ได้ เราก็ไม่ต้องรู้สึกว่าเราต่ำต้อย เพราะคนทุกคนก็มีหน้าที่ เรามีหน้าที่อันนี้ เราก็ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดี”
สำหรับบินหลา เล่าถึงหนังสือที่ยังคงประทับใจอยู่จนถึงทุกวันนี้คือ “ผลงานของ อ.อุดากร ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว และศรีบูรพา อ่านศรีบูรพาแล้วมันสนุก พอมาอ่านงานปกรณ์ สนุกกว่าศรีบูรพาอีก พออ่านของอ.อุดากร เป็นเรื่องที่เค้นความรู้สึกเรามาก สองเรื่องที่ชอบคือ ‘สัญชาติมืด’ กับ ‘ตึกกรอสส์’ คือสองเรื่องนี้ผมตะลึงว่า แค่นี้ก็เขียนได้หรอ เรื่องธรรมดามากเลย” บินหลาเล่าเสริมอีกว่า แต่ข่าวรายวันบนหน้าหนังสือพิมพ์ก็สามารถเป็นแรงบันดาลให้สร้างสรรค์งานเขียนได้ โดยเรื่องสั้นที่เขียนเรื่องแรกของเขาก็เริ่มจากการอ่านข่าวกรอบเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ที่มีชายคนหนึ่งถูกงูกัดตายเพราะ สุขศาลา (สถานีอนามัย) ยังสร้างไม่เสร็จ “คือผมสะเทือนใจมาก ผมจึงเอามาเขียนเป็นเรื่องสั้นและได้ลงสกุลไทยครั้งแรก”
สำหรับอุรุดานั้นเธอบอกว่างานเขียนที่มีอิทธิพลต่อเธอในการเขียนอย่างมากคือผลงานของดูราส(มาร์เกอริต ดูราส) เรื่อง ‘เขื่อนกั้นแปซิฟิก’และ‘เชือก’ผลงานของแคทเธอรี พอร์เตอร์แอนน์”
การอ่านไม่เพียงจำเป็นต่อนักเขียน แต่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน
การอ่านคือวัตถุดิบและแรงบันดาลสำคัญต่อการริเริ่มสร้างสรรค์งานเขียน แล้วหากจะเริ่มเขียนจะต้องอ่านหนังสือมากแค่ไหน เรื่องนี้ศรีดาวเรืองให้คำตอบว่า “ตอนที่เราเริ่มอยากจะเขียนครั้งแรกนั้น ก็เพราะเราอ่านมาเยอะมาก แต่ผลงานก็ยังไม่ได้ตีพิมพ์ จนเมื่อมาเจอคุณสุชาติ(สุชาติ สวัสดิ์ศรีผู้เป็นสามี) เขาก็บอกให้เราเอาประสบการณ์จากชีวิตมาเขียน จึงได้เริ่มเขียน และก็เขียนเรื่อยมา” ด้านบินหลามองว่า “การอ่านคือการเรียนรู้ประสบการณ์ของคนอื่น พอเรามาเปรียบเทียบกับประสบการณ์เรา เราก็จะรู้ว่ามันต่างกัน ผมชอบที่พูบอกว่า การอ่านจะทำให้เรารู้จักน้ำเสียงของคนอื่น พอเราเข้าใจน้ำเสียงของคนอื่นและลงมือเขียน เราก็จะรู้ว่าน้ำเสียงเราเป็นอย่างไร” สำหรับอุรุดาเธอมองว่า “การอ่านหนังสือจำเป็นแน่นอน แต่ไม่จำเป็นต้องเยอะมาก เยอะเล่มเวลาอ่าน ก็คืออ่านจริง อ่านให้ซึมซับ”สิ่งสำคัญนอกจากนี้เธอเห็นว่า“การอ่านทำให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์ของคนอื่น เข้าใจความทุกข์ของคนอื่นที่เราไม่เคยมีการอ่านจึงสำคัญและจำเป็นต่อการเป็นมนุษย์มากกว่าการเป็นนักเขียนซะอีก”
ตลอดกว่าสามชั่วโมงของการพูดคุยแลกเปลี่ยนคำถามสุดท้ายจากการเสวนาในครั้งนี้คือ “ให้สามนักเขียนฝากอะไรไว้สำหรับคนที่กำลังเป็นนักอ่าน ที่กำลังเดินทางอยู่ในถนนตัวอักษรเพื่อเป็นนักเขียน
บินหลาตอบคนแรกว่า “คุณต้องอดทนไว้มันก็เหมือนกับการต่อยมวย ถึงคุณจะชกชนะครั้งนี้ แต่คุณก็ต้องบอบช้ำอยู่ดี"
ศรีดาวเรือง เล่าเสริมว่า “แม้ว่าการเขียนมันจะเหนื่อย แต่มันก็ทำให้เรามีความสุข"
สำหรับอุรุดา เธอทิ้งท้ายไว้ว่า “หนังสือเป็นเพื่อนที่ดีสำหรับเราคิดว่าจะเป็นนักเขียนหรือไม่เป็นก็ตาม แต่การอ่านมันจำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์มากกว่าความเป็นนักเขียนซะอีก”
ซึ่งนั่นคงสะท้อนถึงวิถีชีวิตของนักเขียนทั้งสามท่านในบางช่วง ที่แม้ว่าหนทางจะทั้งลำบาก ถึงสุขแต่ก็ใช่ว่าจะสุขอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ยังคงทำให้นักเขียนทั้งสามท่านยังคงเขียน ยังคงอ่านอยู่นั้น ก็คงเป็นเพราะความรักที่จะเดินทางผ่านตัวอักษรนั่นเอง