3 ดี แนวคิดเพื่อการพัฒนาเด็กให้มีความสุข
"3 ดี แนวคิด แนวทางในการทำงาน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชนให้มีความสุข" 3 ดี จะประกอบด้วย สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี
สื่อดี หมายถึง สื่อที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ที่นำไปสู่การดำรงชีวิตที่ดี มีสุขภาวะ เช่น สื่อศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรีพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน หุ่นเงา สื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น ขนม อาหารพื้นบ้าน ของเล่นพื้นบ้าน ตำนาน ประวัติศาสตร์ สื่อที่เป็นบุคคล ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน สื่อกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ เช่น ค่าย กิจกรรมการละเล่นต่างๆ เป็นเต้น และยังรวมถึงสื่อออนไลน์สมัยใหม่ สื่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม รวมถึงสื่อกิจกรรมในระดับต่างๆทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียนและชุมชน
พื้นที่ดี หมายถึง พื้นที่ที่ทุกคน มีส่วนร่วมในการออกแบบและใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งบุคคล ครอบครัว และชุมชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เสริมพลังซึ่งและกัน เป็นได้ทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ทางกายภาพ ความคิด มีบรรยากาศที่เปิดกว้างให้ผู้คนได้เรียนรู้ ซึ่งรวมถึง ศูนย์เรียนรู้ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือสถานที่ต่างๆ โดยอาจเป็นใต้ถุนบ้าน ลานกิจกรรมในชุมชน ก็เป็นได้
ภูมิดี หมายถึงภูมิปัญญาในการฉลาดรู้ ซึ่งหมายถึง การเท่าทันสื่อ เท่าทันตัวเอง เท่าทันสังคม มีทักษะในการคิด วิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ อันจะเป็นภูมิคุ้มกันในตัวเอง ครอบครัว และชุมชน ในการป้องกันภัยรอบด้านและสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ คำว่า "ภูมิดี" ยังหมายถึง การใช้ภูมิปัญญาของทุกฝ่ายในชุมชน ในการมีส่วนร่วมปกป้องดูแลและสร้างชุมชนร่วมกัน มีความมั่นใจและภูมิใจในเอกลักษณ์ของตน และของชุมชน
เรามาใช้ 3 ดี ในชีวิตจริงกันเถอะ
ครอบครัว 3 ดี
พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่ดี เช่น พื้นที่ทางการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง และทางความคิด ให้เด็กซึ่งถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ดี ได้คุยสื่อสารสองทางระหว่างเด็กและพ่อแม่หรือผู้ปกครองโดยใช้สื่อที่ดี มีคุณภาพเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เพลง นิทาน กิจกรรมเกมต่างๆ รวมถึงกิจกรรมง่ายๆในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การร่วมทำอาหาร นั่งรับประทานด้วยกัน ออกกำลังกายด้วยกัน ฯลฯ โดยเฉพาะในกรณีเด็กเล็ก ถ้าลูกๆหรือเด็กๆ ได้รับสื่อที่มีคุณภาพละเมียดละไมอยู่เป็นประจำ เมื่อโตขึ้นได้มาพบกับสื่อที่เน้นความรุนแรง หยาบ พวกเขาจะรู้จักแยกแยะได้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างสมและปูพื้นภูมิที่ดีกับเด็กได้เป็นอย่างดี "เวลาและความคิดริเริ่มของพ่อแม่น่าจะมีส่วนในการหาพื้นที่ดี สื่อดีเพื่อพัฒนาภูมิดีให้เด็กได้อย่างมีคุณภาพ"
โรงเรียน 3 ดี
คุณครูส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กนักเรียนได้มีเวทีในการแสดงออกถึงความคิดเห็นแบบประชาธิปไตย (ซึ่งไม่ใช่หมายถึงเพียงการเลือกตั้งเท่านั้น) มีสถานที่ กิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลายให้เด็กได้เรียนรู้ เลือกเข้าร่วมอย่างเสรีตามความถนัด และความสนใจ ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมในห้องเรียน กิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมเสริมพิเศษต่างๆ รวมถึง กิจกรรมเชิงอาสาสมัครที่เข้าถึงชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่ดีให้กับเด็กนักเรียน ครูให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้สื่อประเภทต่างๆที่หลากหลาย และกระตุ้นให้คิดวิเคราะห์ถึงผลกระทบของสื่อประเภทต่างๆทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ได้แก่ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ สื่อที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน สื่อที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นวิถีชีวิตของชุมชน และสื่อบุคคลต่างๆที่หลากหลาย นอกจากนั้นครูสามารถกระตุ้นให้เด็กสร้างสื่อดีขึ้นมาเอง เช่น ทำหนังสือ เขียนบทความ ทำเพลง ทำหนังสั้น สร้างงานจากศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น ฯลฯ การใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
"ครูเป็นบุคคลสำคัญที่จะดำเนินการให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการที่จัดเตรียมไว้ จะสร้างให้เด็กนักเรียนมีภูมิที่ดี เรียนรู้ที่จะเท่าทันสื่อ สามารถใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ตกเป็นทาสของสื่อที่ไม่ดี"
ชุมชน 3 ดี
ชุมชนที่ใช้สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดีอย่างเหมาะสม มีผลให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน มีร่างกายและจิตใจแข็งแรง เป็นสุข มีเศรษฐกิจพอเพียง มีสิ่งแวดล้อมดี ผู้คนมีความเมตตากรุณาต่อกันและมีสติ ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยดีทั้งในครอบครัว ชุมชน ที่ทำงาน สังคมที่มีสันติภาพ และมีความสุขที่เกิดจากปัญญา คือ ลดละความเห็นแก่ตัว มีจิตใจดี และเข้าถึงหลักความจริง
"แนวคิด 3 ดี เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชนให้มีความสุข" รวบรวมจากประสบการณ์การทำงานของภาคีเครือข่ายทั่วประเทศของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน ชุมชน รวมถึงการพัฒนาสื่อที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในแง่มุมต่างๆ พบว่า แนวคิด แนวทาง 3 ดี น่าจะได้นำมาเผยแพร่และขยายผลไปใช้ในงานด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ที่มา : สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต