3 ดี วิถีสุขโมเดล

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟนเพจมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์


3 ดี วิถีสุขโมเดล thaihealth


เดินหน้าเป็นปีที่ 3 สำหรับโครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก"


จัดโดย สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ร่วมกับสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม (สำนัก 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมให้เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ โดยเน้นพัฒนาการและการสร้างคุณสมบัติพึงประสงค์ ผ่านการจัดกระบวนการการเรียนรู้ และพื้นที่สร้างสรรค์โดยเฉพาะการพัฒนาสมอง การเรียนรู้ บุคลิกภาพ ทักษะชีวิต


ล่าสุดในงานสัมมนาสรุปนิทรรศการและการนำเสนอผลงานโครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" น.ส.สายใจ คงทน หัวหน้าบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากการทำงานเชิงรุกของ สสส. บูรณาการ 3 แผนงานร่วมกัน ได้แก่ แผนงานสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง, พื้นที่สร้างสรรค์ และแบบแผนพฤติกรรมการใช้สื่อสร้างสรรค์ในครอบครัวสถานศึกษาและชุมชน ภายใต้แนวคิด "เมือง 3 ดี วิถีสุข" ของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ได้แก่ 'สื่อดี' นั้นต้องเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่ผลิตเอง ซึ่งเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคม อารมณ์และสติปัญญานำไปสู่บุคลิกภาพที่ดี 'พื้นที่ดี' คือ ต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมรวมไปถึงสนามเด็กเล็กตามวัย และต้องอธิบายได้ว่าสามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้านใด  และ 'ภูมิดี' คือ นำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาผนวกกระบวนการเรียนรู้ด้วย รวมถึงการใช้ภูมิปัญญาของทุกฝ่ายในชุมชน ในการมีส่วนร่วมปกป้องดูแล และสร้างชุมชนร่วมกัน


สายใจ กล่าวอีกว่า รูปแบบกิจกรรมของโครงการฯ จะมีการมอบทุนสนับสนุน รวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่ร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูให้มีทักษะจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์โดยหลังจากอบรมครูที่ร่วมโครงการต้องนำความรู้ที่ได้ไปลงมือทำให้เกิดผลงานจริงที่พื้นที่ของตนเอง โดยจะมีการติดตามผลงานหลังการอบรม รวมถึงลงพื้นที่เพื่อชมผลงาน และจัดเวทีนำเสนอผลงานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งงานวันนี้เป็นการนำเสนอผลงานของครูที่ร่วมโครงการทั้งหมด


มาที่หนึ่งใน ศพด.ที่ร่วมโครงการปีที่ 3 โดย น.ส.ฉัฐปภัสร์ สมิทร์พูนผล หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสามัคคีชุมชนหมู่ 3 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ กล่าวว่า แม้ว่าเขตหนองแขมจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพฯ แต่ก็ยังขาดแคลนหลายๆ ส่วน เนื่องจากมีจำนวนเด็กที่มีเกือบ 200 คน รวมถึงสถานที่ตั้งของศพด.เป็นพื้นที่เช่าไม่สามารถสร้างอะไรที่ยึดติดได้ ทำให้เป็นอุปสรรคในการออกแบบกิจกรรม หลังจากได้รับการอบรมได้มีการนำข้อมูลมาร่วมปรึกษากับชุมชนจนเกิดผลสรุปว่าจะสร้างอุปกรณ์เสริมกิจกรรมทางกายที่สามารถเคลื่อนย้าย และเก็บได้ง่าย เช่น การนำยางรถยนต์มาทำเป็นอุโมงค์ลอด บ้านบอลจากกล่องกระดาษแข็ง ทำฉากนิทาน และหุ่นมือจากเศษผ้า เป็นต้น โดยในการทำกิจกรรมจะสอดแทรกความรู้ไปพร้อมกับการเล่น เช่น คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ผ่านการเล่านิทานด้วยหุ่นมือในฉากนิทานที่มีสีสันสดใส เด็กให้ความสนใจ และมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับครูมากขึ้น


"การเรียนรู้พร้อมกับการลงมือทำจะช่วยให้เด็กได้เห็นภาพที่ชัดเจน แยกแยะ และระมัดระวังในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กมีความเข้มแข็งทั้งสติปัญญา และจิตใจพร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต" น.ส.ฉัฐปภัสร์กล่าว


ด้าน น้ำฝน เกษการณ์ ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเขาผาแรต จ.อุทัยธานี เล่าว่า ศพด.อยู่ในพื้นที่ชายเขาไม่มีรั้วที่ป้องกันที่แข็งแรง เด็กจึงเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสัตว์ต่างๆ เริ่มแรกไม่ได้สนใจจะเข้าร่วมเนื่องจากกลัวจะเพิ่มภาระในการบริหารจัดการเด็กให้แก่ครูพี่เลี้ยง แต่ก็ตัดสินใจเข้าร่วมเนื่องจากอยากให้เด็กได้มีกิจกรรมเรียนรู้ที่เหมาะสม หลังอบรมได้นำข้อมูลไปร่วมพูดคุยกับชุมชนทำให้เกิดการร่วมแรงปรับพื้นที่ ชาวบ้าน ผู้ปกครองเข้ามาช่วยจัดการพื้นที่ มีการทำที่กั้นให้เด็กได้มีพื้นที่เล่นที่ชัดเจน การทำสนามเด็กเล่นที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็ก ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงภายในอาคาร ให้มีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก


"โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการพัฒนาศักยภาพของเด็ก เกิดความร่วมมือที่ดีจากทุกฝ่ายทั้ง อปท. และชุมชน สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมได้ตอบโจทย์นโยบาย 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดีอย่างแท้จริง" น้ำฝน กล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code