2556 ในภาพร่างเส้นทางหนังสือไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นในปีก่อนอาจอยู่ในความทรงจำ เชื่อว่าบางอย่างตกผลึกเป็นบทเรียนให้ได้ทบทวนกันก่อนจะกระทำการใดๆ ในปีนี้ สำหรับวงวรรณกรรมบ้านเราก็เฉกเช่นกัน แม้ไม่มีโหราจารย์ชื่อดังทำนายชะตาบรรณพิภพ 2556 ทว่าการคาดคะเนผ่านแว่นตาของผู้คร่ำหวอดในวงการนี้ซึ่งได้ชื่อว่า ‘จัดเจน’ จากสามฟากฝั่งย่อมเป็นข้อมูลที่น่าสนใจและใช้เพื่อตระเตรียมการ…จะเดินทิศทางใดในปีที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือแห่งโลก

ในนามของ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการใหญ่แห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อและนักเขียน เป็นอีกคนหนึ่งที่ทุ่มเทความคิดและแรงกายแรงใจให้แก่วงการหนังสือและเพื่อการอ่านของคนไทยทั้งองคาพยพ เมื่อต้องมองภาพวงการหนังสือไทย จึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงสิ่งที่เป็นอยู่ และกำลังจะเกิดขึ้นท่ามกลางม่านเงาการประชาสัมพันธ์ที่เขาบอกว่าจอมปลอม

มกุฏ อรฤดี กล่าวว่า แม้กรุงเทพมหานครจะได้รับตำแหน่งเมืองหนังสือแห่งโลกปีนี้ ก็ใช่ว่าจะสร้างคนอ่านหนังสือได้แต่ประการใด…”มันคงจะไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ถ้าเผื่อว่าความเป็นเมืองหนังสือโลกนั้นคือการติดป้ายโฆษณา แต่ถ้าความเป็นเมืองหนังสือโลกคือความพยายามที่จะให้เกิดคนอ่านมากขึ้น การผลิตและการเขียนหนังสือ การพิมพ์หนังสือในกรุงเทพฯมันจะเปลี่ยนไปตรงที่ว่า ถ้ากรุงเทพมหานครมีวิธีการชัดเจนว่าจะทำให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นจริง อย่างจริงจังด้วยวิธีไหน กิจกรรมหลักมีอะไร และกระตุ้นคนอ่านอย่างเห็นผลทันตา มีการสั่งซื้อหนังสือ มีการระดมจากหน่วยงานที่จะทำให้หนังสือมันเหมือนฝุ่นฟุ้งขึ้นมาเลยนี่ คนผลิตหนังสือก็ต้องผลิต จะต้องรู้ว่าผลิตอะไรเพื่อป้อนกระบวนการใต้ฝุ่นให้มันฟุ้งขึ้นมาได้อย่างไร แต่ขณะนี้เรายังไม่เห็นทิศทางของการทำให้คนในกรุงเทพฯอ่านหนังสือจริงๆ อย่างได้ผล นอกจากติดป้ายโฆษณา

ไม่ใช่ว่าเพิ่มห้องสมุด แต่เพิ่มห้องสมุดวิธีไหนและทำให้คนอ่านมากขึ้น บางทีห้องสมุดที่เพิ่มขึ้นสักประมาณร้อยแห่งในกรุงเทพมหานครอาจจะไม่เพิ่มคนอ่านเลยก็ได้ เพราะคนอ่านไม่ได้ถูกกระตุ้นให้อ่านหนังสือประการหนึ่ง และคนอ่านไม่ได้รับความสะดวกประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันต้องมีวิธีทำให้ห้องสมุดหรือหนังสือไปถึงคนอ่านโดยที่คนอ่านอาจจะไม่ต้องไปถึงห้องสมุดเลย การทำให้เกิดห้องสมุดไม่ได้หมายความว่ามีคนอ่านมากขึ้น แต่ระบบวิธีทำให้มีคนอ่านหนังสืออาจจะไม่ใช่วิธีของห้องสมุด

ยกตัวอย่าง ที่เรายกได้อย่างเดียวคือ ระบบหนังสือหมุนเวียน เช่น ถ้าบังคับให้ศูนย์การค้าทุกแห่งมีห้องสมุด และให้ลูกค้ายืมหนังสือกลับได้ หรือชิงโชค หรือตอบแทนการซื้อสินค้าด้วยการให้ยืมตามจำนวน เช่น คุณซื้อของ 1,000 บาท คุณมีสิทธิ์ยืมหนังสือได้หนึ่งเล่ม 2,000 บาท สองเล่ม 10,000 บาท สิบเล่ม เป็นเวลากี่สัปดาห์ก็แล้วแต่ โดยไม่คิดสตางค์ ห้างสรรพสินค้าก็มีรายชื่อของสมาชิกอยู่แล้วเพราะมีบัตรสมาชิกอะไรต่อมิอะไร ฉะนั้นการที่จะเอาวิธีโปรโมชั่นต่างๆ วิธีโฆษณา วิธีแถม มาใช้กับการเปิดห้องสมุดทุกแห่ง มันทำให้เกิดการแข่งขันที่สนุกมาก นี่เป็นวิธีเดียวที่ทำได้เลยทันที”

และนอกจากเรื่องหนังสือหรือการอ่าน จุดประกายวรรณกรรมอดไม่ได้ที่จะไถ่ถามเรื่องกระแสอีบุ๊ค ซึ่งดูเหมือนจะมาแรงเมื่อหลายปีก่อน ทว่าก็ยังไม่เห็นผลอันชัดเจนนักในบ้านเรา ประเด็นนี้ มกุฏ ยอมรับว่าอีบุ๊คเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่า นั่นคือประชากรเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ยังไม่มีโอกาสอ่านหนังสือ

“อีบุ๊คนี่เป็นเรื่องตื่นเต้นนะครับ ในประเทศไทยพอพูดถึงเรื่องอีบุ๊ค ทุกคนตื่นเต้น สำนักพิมพ์หลายแห่งก็พยายามทำอีบุ๊ค แต่สำหรับผม คนไทยอีก 90 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่รู้จัก ‘บุ๊ค’ ถ้าเผื่อว่าเราไปทุ่มเทเรื่องอีบุ๊ค สมมติรัฐบาลบอกว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณเพื่อทำอีบุ๊ค ถามว่ารัฐบาลทำให้ใคร ถ้ารัฐบาลทำให้คนเพียงสิบเปอร์เซ็นต์ที่มีปัญญาเข้าไปในอินเทอร์เน็ต มีปัญญาซื้อคอมพิวเตอร์, แทบเล็ตใช้ แต่คนซึ่งเขาอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีระบบอินเทอร์เน็ตอะไรเลย เขาอ่านอะไร มันจะต้องคิดถึงประชาชนส่วนมากของประเทศก่อน ก่อนที่จะคิดถึงประชาชนสิบเปอร์เซ็นต์

เวลาคนพูดถึงการอ่าน พูดอยู่สองอย่าง หนึ่ง คนไทยไม่อ่านหนังสือ คนไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน นี่คือข้อหนึ่ง สอง เราต้องพัฒนาอีบุ๊คเป็นการใหญ่เลย เพราะว่าประเทศในโลกนี้เขาเปลี่ยนกันแล้ว แต่ในสองหัวข้อนี้คุณไม่เคยเดินไปดูเลยว่าคนในต่างจังหวัด ในชนบทเขามีอะไร เขาต้องการอะไร เอาหนังสือไปให้เขาอ่านกันเป็นบ้าเลย และไม่ใช่หนังสือวิเศษวิโส หนังสือเรื่องทำสวน ปลูกผักนี่แหละ ไม่ต้องไปถึงวรรณกรรมเพื่อชีวิตอะไร ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น เอาแค่เรื่องง่ายๆ ก่อน ที่เขารู้สึกประเทืองปัญญา

สำหรับประเทศไทยยังอีกไกล แน่ละ เราจะทำอีบุ๊ค จะทำอะไรก็ได้ เราจะไปแข่งกับญี่ปุ่น แข่งกับเกาหลีใต้ แข่งกับใครก็ได้ แต่เราต้องทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย เหมือนประเทศอินเดียเขาพัฒนาไปจนถึงอวกาศแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเขามีสถาบันหนังสือแห่งชาติคอยดูแลคนจนๆ ให้เขาอ่านหนังสือ ประเทศอินเดียทำคอมพิวเตอร์เอง ทำอีบุ๊คเอง ทำทุกสิ่งทุกอย่างเอง ขายไปทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันสถาบันหนังสือแห่งชาติยังพิมพ์หนังสือก็อกแก็กๆ อยู่ ส่งไปให้ชาวบ้านอ่าน นี่ต้องวิธีนี้ ไม่ใช่ว่า โอ้ พอได้อีบุ๊คแล้วรู้สึกมัน สนุก เร็ว ก็คิดแต่อีบุ๊คนั่นละ ไม่ได้คิดถึงประชาชนหัวดำหัวแดงที่อยู่ไกลเลย

วงการหนังสือในกลุ่มส่วนกลางอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในเมืองใหญ่มันอาจพัฒนาขึ้น แต่โดยทั่วไป โดยทั่วประเทศ สำหรับประชาชนทั่วไป ชาวบ้านในชนบทก็ยังล้าหลังเหมือนเดิม และอาจจะล้าหลังมากขึ้นเพราะว่าคนที่พัฒนาตัวเองไป เขาไม่ได้มองข้างหลังเขามองดูแต่ตัวเอง และพยายามแข่งกับชาติอื่นแน่นอน ถูกต้องเป็นเรื่องถูกต้อง แต่รัฐบาลต้องมีหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่งต้องคอยดูแลคนซึ่งขาด้วนขาขาด ที่เดินไม่ได้ ง่อยเปลี้ยเสียกระดูก ต้องดูแลเขา ไม่ใช่ปล่อยให้พวกขี่จรวดไปอย่างเดียวแล้วทิ้งพวกนี้ไว้ให้เน่าตาย นี่คือสิ่งที่ต้องทำในวงการหนังสือพัฒนาไปเถิด เพราะคุณอาจไม่มีเวลาคิดถึงชาวบ้าน ไม่มีเวลาคิดถึงคนชนบท แต่จะต้องมีหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลเป็นผู้ดูแล เราไม่ว่าหรอกถ้าสำนักพิมพ์บอกว่าจะพัฒนาไปอีบุ๊คไปไหนต่อไหน ขายไปทั่วตลาดโลก ดี เราสนับสนุนด้วยซ้ำ แต่ชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสล่ะ ใครดูแลเขา ดูแลให้เขาได้อ่านหนังสือสักเล่มในชีวิตก่อนตาย มีไหม มีใครคิดไหม”

หากพูดถึงวงการหนังสือในแง่มุมอุตสาหกรรมหรือการค้าการขาย คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีไปกว่า วรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งเขามองว่าอุตสาหกรรมหนังสือปีงูเล็กนี้จะเติบโตได้ดีพอสมควร โดยได้อานิสงค์จากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือแห่งโลก

“จากการพยากรณ์ของรัฐบาลจะโตประมาณ 4.5 – 5 เปอร์เซ็นต์ เขาก็มองว่าจะโตอย่างต่อเนื่อง สอง คือแรงผลักดันจากกิจกรรม ปี 2556 เป็นปีที่กรุงเทพมหานครเข้าสู่เมืองหนังสือโลก เพราะฉะนั้นจะมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตลอดในปี 2556 ผมคิดว่าตลาดของหนังสือ กรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ เป็นตลาดใหญ่ เพราะฉะนั้นจะเป็นตัวที่ทำให้ตลาดโตได้

ผมคิดว่าอัตราการโตตอนนี้รักษาระดับให้ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ได้ก็ถือว่าน่าพอใจ ถามว่ายากไหม ส่วนหนึ่งผมว่าฐานนักอ่านยังมีนะครับ มีเยอะอยู่ และจากสภาวการณ์ที่ผู้ประกอบการต้องสื่อสารกับลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งให้รักษาระดับการเติบโตไว้ได้

งานมหกรรมหนังสือครั้งที่ผ่านมาบอกเราว่านักอ่านยังเหนียวแน่น ตอนนี้อยู่ที่ผู้ประกอบการแล้วว่าจะสร้างสินค้าดีๆ มาป้อนความต้องการของเขา ผมว่านั่นเป็หัวใจ เพราะคนที่ซื้อหนังสือซื้อเพราะเนื้อหา จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตหนังสือดีๆ ด้วย

สมาคมฯเอง ก็มีแผนที่จะส่งเสริมการอ่านในต่างจังหวัด เพราะยังมีช่องว่าง พูดง่ายๆ ต้องการสร้างโอกาสเข้าถึงหนังสือให้แก่คนต่างจังหวัด ปีนี้จึงมีแผนเปิดพื้นที่ใหม่จัดงานสัปดาห์หนังสือ ผมคิดว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้วงการหนังสือโตไปได้ ผมคิดว่าคนส่วนภูมิภาคเขามีโอกาสเข้าถึงหนังสือน้อยกว่าคนในเมือง อย่างที่เราไปจัดงานสัปดาห์หนังสือไม่ว่าที่อุบลฯก็ตาม ศรีราชาก็ตาม ก็พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี หรืองานเล็กๆ เช่นงานบุ๊คแฟรืตามมหาวิทยาลัยก็ได้รับการตอบรับที่ดี มันเป็นโอกาสนะ ถ้าเราไปจัดในพื้นที่ที่ไม่เคยมีงาน มันจะก่อให้เกิดการเข้าถึงหนังสือ ก่อให้เกิดการขายหนังสือมากขึ้น นี่เป็นการวางรากฐานตลาดหรือธุรกิจหนังสือในต่างจังหวัดด้วย

สำหรับเรื่องอีบุ๊ค ปีนี้อีบุ๊คยังไม่มีผลในทางลบ เพราะยังเป็นช่วงของการเรียนรู้ ตลาดอีบุ๊คยังมีไม่มาก อาจไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของภาพรวมด้วยซ้ำไป ช่วงนี้เป็นช่วงเรียนรู้เพื่อเข้าสู่ธุรกิจ สำนักพิมพ์ทั้งหลายจึงเรียนรู้และหาประสบการณ์จากมัน ตอนนี้อีบุ๊ค เป็นสองอย่างในทางบวกก็คือ มันเป็นการขยายโอกาสใหม่ คนไทยในต่างแดนที่เข้าถึงหนังสือได้ยากก็จะมีโอกาสซื้อหนังสืออีบุ๊ค สอง อีบุ๊คจริงๆ เป็นช่องทางเครื่องมือสื่อสารของการตลาด อีบุ๊คน่าจะเป็นตัวเสริมมากกว่า เพียงแต่ปีนี้อาจยังหวังผลมากไม่ได้ ผมว่ายังต้องรอ 3-5 ปี ถึงจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง”

เห็นทัศนะต่อปี 2556 จากทั้งผู้หวังดีต่อวงการหนังสือและผู้ค้าหนังสือมืออาชีพกันไปแล้ว ในฟันเฟืองของวงการนี้หากขาดนักเขียนไปย่อมไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เสียงสะท้อนจาก เจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในมุมมองที่แตกต่างอันเนื่องจากกรณีเมืองหนังสือแห่งโลก จึงเป็นภาพอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

“ถึงแม้ว่าจะมีการให้กรุงเทพฯเป็นเมืองหนังสือโลก ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป มันก็จะกระตุ้นได้เป็นบางส่วน แต่โดยภาพรวมแล้ว การที่กระจุกตัวในส่วนกลาง ไม่ว่าจะในงานสัปดาห์หนังสือหรือมหกรรมหนังสือนั้น ไม่ได้เป็นตัวเลขที่บอกถึงภาพรวมการอ่านของคนทั้งประเทศ เพราะวาระการอ่านได้หายไป หลายฝ่ายก็หวังว่ากระทรวงศึกษาธิการจะมาทำวาระการอ่านให้เฟื่องฟูขึ้น แต่โดยหลักการเมืองแล้วมักจะไม่เอานโยบายของพรรคอื่นมาทำ นโยบายนี้จึงอาจออกไปสู่ส่วนรวมไม่ได้

ภาวะทั่วไปยังจะซึมเซาอยู่ และพฤติกรรมการอ่านของคนมีความต่างมากขึ้น เมื่อก่อนเราจะเห็นว่าหนังสือเป็น mass media หนังสือเล่มเดียวอ่านได้ทุกสาขาวิชาชีพ ยุคต่อมามีหนังสือของวิชาชีพขึ้นมา โดยเฉพาะนิตยสาร มันจะไม่รวมในที่เดียวกัน อย่างเมื่อก่อนเซคชั่นหลังของนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์จะเป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรม ดนตรี กวี แต่ปัจุบันมันหายไป

และเมื่อเราดูลำดับหนังสือขายดีจากร้านหนังสือทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีการอ่านหนังสือคนละทิศคนละทาง นั่นหมายความได้สองอย่าง หนึ่ง ความหลากหลายของคนมีมากขึ้น สอง คนไม่มีจุดร่วมในการอ่าน คนอ่านหนังสือคนละเล่มก็คิดคนละอย่าง ในสังคมที่มีความแตกต่างและขัดแย้งก็มาจากการเสพคนละด้านแบบสุดโต่ง

ส่วนการอ่านรูปแบบใหม่ๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่ มันอยู่ในช่วงค้นหาความแปลกใหม่ เนื่องจากประเทศไทยมีคนต่อสู้เรื่องเศรษฐกิจ มีคนชั้นกลางรุ่นใหม่จากนโยบายรัฐบาล คนเหล่านี้จะสาละวนกับการแก้ปัญหาหนี้สินของเขา อย่างน้อยๆ เงินที่จะใช้เรื่องหนังสือจะเป็นลำดับท้ายๆ เขาต้องผ่อนรถผ่อนบ้าน ทำให้แนวโน้มหนังสือ How to จะขายดี หรือหนังสือเกี่ยวกับศาสนา เกี่ยวกับจิตวิทยายังจะครองอยู่ และน่าจะทวีจำนวนมากขึ้น เพราะคนไม่มีที่ยึด ไม่มีที่หมาย หนังสือเกี่ยวกับการทำมาหากิน วิธีทำอย่างไรให้รอด จะขายดี ถ้าเป็นอีบุ๊คเรื่องหุ้น น่าจะเดินได้ดี แต่วรรณกรรมไม่มีปัจจัยทำให้คนอ่านวรรณกรรมเพิ่ม เพราะภาวะวรรณกรรมปีที่ผ่านมามันแย่มาก

ปี 2556 นี้วงการวรรณกรรมบ้านเราน่าจะซึมเซาอยู่ เพราะเราดูจากปีก่อนก็ไม่คึกคัก สิ่งที่จะพอคึกคักอยู่บ้างคือความแปลกใหม่ในการอ่านของคนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่ใช่อ่านสาระหนัก คนรุ่นใหม่จะพัฒนาการอ่านจากหวานแหววไปสู่การอ่านแบบมีสาระเข้มข้น ปีที่ผ่านมาหนังสือที่ขายดีจึงเป็นหนังสือหวานแหวว หรือมาจากอินเทอร์เน็ต แต่หนังสือเหล่านี้ก็เป็นฐานการอ่านด้วยนะ เช่น คนสมัยหนึ่งอาจจะอ่านหนังสือของ ป. อินทรปาลิต ไม่ต้องมีสาระมาก แต่สนุก พื้นฐานนั้นจะพัฒนาขึ้นมา คนในวงการหนังสือต้องพิจารณาว่าจะกระตุ้นคนในประเทศให้มีพลังการคิดการอ่านอย่างไร”

เพราะทุกสิ่งบนโลกนี้ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน ไม่ว่าปีงูเล็ก 2556 จะเป็นปีทองของวงการหนังสือหรือไม่ แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้คือตั้งสติแล้วเลือกเส้นทางที่ดีทั้งแก่ตัวเองไปจนถึงสังคมภายนอก ผู้ผลิตก็เดินหน้าผลิตหนังสือดีต่อไป นักเขียนก็สร้างสรรค์ผลงานชั้นเยี่ยมอย่าหยุดยั้ง บรรดาฟันเฟืองชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ของบรรณพิภพต่างต้องร่วมกันขบหมุนให้วงการนี้เดินหน้าต่อไป

วันหนึ่งบรรณพิภพไทยจะเติบโตครบทั้งคนเขียน คนผลิต คนอ่าน จะปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหน กัดฟันไว้ แล้วสู้ต่อ…ขอเป็นกำลังใจ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ปริญญา ชาวสมุน

Shares:
QR Code :
QR Code