2,000 รายสังเวยชีวิตต่อปี ‘หืด’ โรคร้ายใกล้ตัว

ที่มา : กรมการแพทย์


2,000 รายสังเวยชีวิตต่อปี ‘หืด’ โรคร้ายใกล้ตัวคนไทย thaihealth


แฟ้มภาพ


“โรคหืด” (Asthma) คือโรคของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากความไวผิดปกติของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้ท่อทางเดินหายใจเกิดการตีบแคบ และทำให้หายใจลำบาก โดยอาการของโรคหืดหอบนั้นเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะเกิดอาการอักเสบ เยื่อบุหลอดลมจะบวมทำให้หลอดลมตีบแคบลง 


โรคหืดจึงเป็นโรคหนึ่งที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นอุปสรรค์ในการใช้ชีวิตประจำวัน มีอาการตั้งแต่สร้างความไม่สะดวกเล็กๆ น้อยๆ ไปจนอันตรายถึงแก่ชีวิต ทำให้แวดวงสาธารณสุขต้องให้ความรู้แก่ประชาชน ดังเมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดประชุมวิชาการประจำปี 2561 “โรคหืดในทศวรรษใหม่” จัดโดยสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย


ศ.นพ.สมเกียรติ วงษ์ทิม ประธานสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (Thai Asthma Council, TAC) เปิดเผย ว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหืดถึงร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ จากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อพบว่า ผู้ป่วยโรคหืดมีแนวโน้มเสียชีวิต มากกว่า 2,000 รายต่อปี ทางสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้าง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหอบหืด พร้อมยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพ และการเข้าถึงการบริการเพื่อนำไปสู่พัฒนาการด้านการรักษา และจัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ


ขณะที่ ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคหืดยังไม่มีทางรักษาที่หายขาดได้ เป้าหมายของการรักษาผู้ป่วย จึงเป็นการควบคุมอาการให้ผู้ป่วย ใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติ อย่างไรก็ตามการรักษาโรคหืดในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก เนื่องจากเรามีองค์ความรู้และยาที่พัฒนามากขึ้น ด้วยความร่วมมือกันของ 5 สมาคมวิชาชีพ


ได้แก่ สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย, สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย จึงมีการจัดทำแนวทางการวินิจฉัย และรักษาโรคหืด ฉบับใหม่“Thai Asthma Guideline for Adults 2019” เพื่อเป็นแนวทางช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในระดับสากล และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


เช่นเดียวกับ ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูลนายกผู้รั้งสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การดูแลรักษาคนไข้โรคหืด ต้องดูแลแบบองค์รวม ทั้งการรักษาใช้ยาและไม่ใช้ยา จากการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมนอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวเฟซบุ๊คแฟนเพจ“Asthma Talk by Dr.Ann” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ การจัดการโรคภูมิแพ้ และโรคร่วมอื่นๆ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหืดแย่ลง


“ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ทฤษฎี “4Es” ที่คิดค้นขึ้นมาเอง นั่นคือการให้ผู้ป่วยหันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (Exercise) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (Eating) อีกส่วนสำคัญคือ สิ่งแวดล้อม (Environment) คนไข้โรคหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ และที่สำคัญที่สุดคือ อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้ ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีง่าย ที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้” ศ.พญ.อรพรรณ กล่าว


ทางด้าน ผศ.นพ. ธีระศักดิ์ แก้วอัมตวงศ์เลขาธิการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ยังได้แถลงโครงการร่วม ระหว่างสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ และสมาคมสภา องค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ริเริ่มโครงการ Severe Asthma Registry Program Thailand (SARP-T) ซึ่งเป็นการสร้างฐานข้อมูล ของคนไข้โรคหืดรุนแรงในประเทศไทยอย่างเป็นระบบโดยการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคหืดขั้นรุนแรงในรูปแบบสหสถาบันในประเทศไทย


ประกอบไปด้วย โรงพยาบาลศิริราชโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์โดยตั้งกลุ่ม airway disease assembly เป็นกลุ่มทางวิชาการและการวิจัยแพทย์และนักวิชาการที่มีความสนใจด้านโรคหลอดลม มีพันธกิจในการจัดมาตรฐานแนวทาง การวินิจฉัย การรักษาและจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคหืดรุนแรงในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ


เพื่อหาลักษณะทางคลินิก การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ การสืบค้นหาดัชนีชี้วัดทางชีวภาพที่เหมาะสมในการแยกชนิดของโรคหืดชนิดรุนแรง ให้เห็นถึงอุบัติการณ์ ความชุก และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหืดระดับรุนแรง นำไปใช้ทำนายการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาที่จำเพาะสำหรับโรคหืดขั้นรุนแรง ผลการรักษาและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืด และนำไปสู่การแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดขั้นรุนแรง (Thai severe asthma guideline) อันจะเป็นประโยชน์กับบุคลากรการแพทย์ ในการนำไปใช้รักษาคนไข้ในพื้นที่บริการได้


รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย(Easy Asthma and COPD Clinic Network) เปิดเผยว่า การรักษาในปัจจุบันมีส่วนช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมานอนที่โรงพยาบาล แต่หากพิจารณาภาพรวมของคนไข้โรคหืด ในประเทศไทย กลับพบว่า ยังมีคนไข้ที่เสียชีวิตจากโรคหืดอยู่มาก โรคนี้พรากชีวิตคนไข้ไปทุกวัน เป็นเพราะสัดส่วนของคนไข้โรคหืดทั้งประเทศที่เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานมีเพียงร้อยละ 30


“เป็นความท้าทายของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่จะทำอย่างไรให้คนไข้ส่วนที่เหลืออีก 70% สามารถเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานการรักษา และการใช้ยาให้ถูกต้องและถูกวิธี โดยเป้าหมายสำคัญคือ Asthma Admission rate near zero หรือทำให้คนไข้โรคหืดมีอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเข้าใกล้ศูนย์” รศ.นพ.วัชรากล่าวในท้ายที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code