“20 บาท” มื้อนี้ก็เพียงพอ
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือเด็กไทยแก้มใส และ www.thaischoollunch.in.th
ภาพประกอบโดย : ชุติกาญจน์ เกียรติพันธุ์สดใส Team Content www.thaihealth.or.th แฟ้มภาพ และอินเทอร์เน็ต
“ขนมจีนคลุกน้ำปลากับแตงกวา 1-2 ชิ้น” เมนูอาหารกลางวันที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา เป็นคำถามที่ทุกคน เฝ้าถามกันว่า ทำไมคุณภาพอาหารกลางวันที่ไม่มีคุณภาพ? เงินบริหารอาหารกลางวันเฉลี่ยหัวละ 20 บาท เพียงพอหรือไม่? จัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพกว่านี้ไม่ได้หรือ? ฯลฯ และนี่ยังเป็นคำถามจากสังคม ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เรื่อง “อาหารกลางวัน” ยังเป็นข้อคำถามจนถึงวันนี้
ลองมาดูกันว่า อาหารกลางวันในประเทศญิ่ปุ่น ที่ถูกเคลมว่าจัดระบบอาหารกลางวันดีที่สุดในโลก เป็นอย่างไร เพราะนอกจากเรื่องคุณภาพของอาหารแล้ว เรื่องของระเบียบวินัยที่เคร่งครัดซึ่งสอดแทรกเข้าไปอยู่ในมื้ออาหารของเด็กด้วย โรงเรียนยังมองว่า อาหารและโภชนาการที่ใส่ลงไปในร่างกายของเด็กนั้น ทำให้เด็กๆ มีพลังงาน และสามารถคิดหรือใช้พลังในการเรียน การเรียนรู้ได้ตลอดทั้งวัน Masahiro Oji ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาด้านสุขภาพของโรงเรียนบอกว่า “อาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาของญี่ปุ่น นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ในมื้ออาหารนั้นจะไม่เร่งรีบ โดยปล่อยให้เด็ก ๆ ได้นั่งและกินอาหารของพวกเขาอย่างเต็มที่" และโรงเรียนจะสอนให้เด็กตักอาหาร และช่วยเหลือตนเองเป็นหลัก รวมไปถึงให้ผู้ปกครองเตรียมอาหารกลางวันให้เด็กๆ มากินกับเพื่อนๆ
ประเทศไทยกับการจัดการอาหารกลางวัน
มาที่ประเทศไทยกันบ้าง ที่มีจัดการงบอุดหนุนอาหารกลางวันนักเรียนเฉลี่ยหัวละ 20 บาท ให้กับทุกโรงเรียน นอกจาก “ขนมจีนคลุกน้ำปลากับแตงกวา 2 ชิ้น” ที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น หรืออีกหลายเมนูที่ผู้ปกครองมองว่าลูกหลานตัวเองควรได้กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่านี้
เพราะอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ เด็กควรได้กินอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารครบ 5 หมู่ ใน 3 มื้อนั้น นอกจากช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้พัฒนาสมองและสติปัญญาของเด็กๆ อีกด้วย
จึงเป็นเวลากว่า 37 ปีที่ผ่านมา ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงศึกษาเรื่องโภชนาการ และทรงริเริ่มงานพัฒนาด้านอาหารโภชนาการ และสุขภาพในเด็กและเยาวชน ด้วยทรงตระหนักว่าเด็กและเยาวชน เป็นพลังสำคัญของประเทศในอนาคต กิจกรรมที่พระองค์ท่านเริ่มต้นคือ กิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้เด็กในท้องถิ่นที่ห่างไกลยากไร้ โดยเฉพาะตามชายแดนให้ได้มีโอกาสกินอาหารกลางวันจากเดิมที่จัดได้สัปดาห์ละมื้อ ต่อมาก็เพิ่มขึ้นจนได้ครบทุกวัน จึงเป็นเหตุผลให้สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำโครงการ "เด็กไทยแก้มใส" ขึ้น โดยน้อมนำแนวทางการดำเนินงานและเจริญรอยตามพระราชดำริ เพื่อให้เกิดการขยายผลไปในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทย ตาม 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. การเกษตรในโรงเรียน 2. สหกรณ์นักเรียน 3. การจัดการบริการอาหารของโรงเรียน 4. การติดตามภาวะโภชนาการ 5. การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน 6. การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ 7. การจัดบริการสุขภาพ และ 8. การจัดการเรียนรู้ : เกษตร โภชนาการ และสุขภาพอนามัย โดยมีเป้าหมายที่จะให้เด็กนักเรียนทุกคนมีโภชนาการดี สุขภาพแข็งแรง ใฝ่เรียนรู้ ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น
20 บาท กับการจัดการอาหารกลางวัน โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ จังหวัดสุรินทร์
“เงินจำนวน 20 บาท สามารถจัดการอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนอย่างมีคุณภาพได้จริง โดยที่แบ่งสัดส่วนเป็นร้อยละ80 ซื้ออาหารกลางวันในโรงเรียนและชุมชน ร้อยละ12 จ้างแม่ครัว ร้อยละ 3 ค่าแก๊ส และร้อยละ 5 นำเข้าวัสดุอื่นๆ” เสียงบอกเล่าจาก นายถวิล บุญเจียม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกจำเริญ จังหวัดสุรินทร์ ที่ตอกย้ำถึงการบริหารจัดการเงินค่าอาหารกลางวันของเด็กๆ โดยนำโปรแกรม Thai School lunch เข้ามาใช้
ระบบการจัดการอาหารกลางวัน หรือ Thai School lunch ที่โครงการเด็กไทยแก้มใส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเนคเทค และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างโปรแกรมการจัดการอาหารกลางวันให้กับเด็กไทย โดยโปรแกรมนี้จะช่วยคิดวิเคราะห์เมนูอาหารที่เหมาะสมให้กับโรงเรียน หาปริมาณวัตถุดิบที่จะใช้ประกอบอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นต่อร่างกายและการพัฒนาสมองของเด็ก วิเคราะห์ต้นทุนค่าอาหารกลางวัน ช่วยบริหารจัดการงบประมาณค่าอาหารกลางวัน และคำนวณวัตถุดิบผลผลิตทางการเกษตรที่จัดหาได้จากโรงเรียนหรือชุมชน
เรียกได้ว่าถ้าหากโรงเรียนใด ได้นำโปรแกรมอัตโนมัตินี้มาใช้ในการจัดการอาหารกลางวัน ก็จะได้เมนูอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับเด็กตามวัย การจัดการวัตถุดิบทั้งภายในโรงเรียนและชุมชน ผอ.ถวิล เล่าต่อว่า โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ เป็นโรงเรียนแห่งแรกๆ ในประเทศไทย ที่นำระบบ Thai School lunch มาใช้ จนได้เป็นต้นแบบของทาง สพฐ. เป้าหมายก็เพื่ออยากให้เด็กร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และการได้ดูแลเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรง ผอม ให้มีร่างกายที่แข็งแรง และพัฒนาทางสมองและร่างกายเป็นไปอย่างสมวัย
แรงสมอง แรงกาย และแรงใจ ที่ ผอ.ถวิล ได้ทุ่มเทลงไปหลังจากการรับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2545 โดยทำให้เห็น ทำให้เชื่อ ดึงเอาพลังของชุมชนเข้ามามีส่วนในการปรับปรุงและพัฒนาอาหารกลางวัน “เมื่อเราทำกิจกรรมก็ชวนชุมชนมาเข่าร่วม ทำให้เขาเห็นว่าเราทำอะไร ที่ผ่านมามีการทำผ้าป่าโรงเรียน ชาวบ้านก็เห็นว่าเงินที่ได้มาทุกบาทเราใช้ทำจริง เขาก็ไว้ใจ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนทุกเมื่อ”
เขายังย้ำถึงความใจดีของชาวสุรินทร์ว่า ถ้ารู้จักกับคนสุรินทร์จะรู้ว่า อัธยาศัย ใจคอของคนที่นี่เข้าไปหาไม่ยาก ครูต้องไม่หยิ่งเกินไป เขานั่งอย่างไรกินอย่างไรก็ทำตามเขา ผมเองทำตัวธรรมดา ที่โรงเรียนผมแต่งตัวเหมือนชาวบ้าน ปลูกต้นไม้ ทาสี และไม่มีแอร์ในห้องทำงาน
“ผมอยากสานต่อกับชุมชนในส่วนให้ช่วยผลิตวัตถุดิบประกอบอาหาร ซึ่งอย่างนี้ทำให้เห็นว่าเงินค่าหัวอาหารกลางวัน 20 บาท มันจะหมุนเวียนอยู่ในชุมชนของเรา ไม่ได้ไปไหน”
เสียงจากชาวบ้านในชุมชนยืนยันได้ว่า การจัดการอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านโคกจำเริญ ทำให้คุณภาพชีวิตทั้งเด็กและผู้ปกครอง รวมถึงชุมชนดีขึ้น และมีความสุข “เห็นครูเข้าไปช่วยงานชาวบ้านตลอด ซึ่งทำให้เขาเคารพ ไว้วางใจ มีอะไรก็พร้อมช่วยโรงเรียนทุกครั้ง เราเห็นผู้นำกระตือรือร้น หากเข้าไปที่โรงเรียน จะเห็น ผอ.ทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ลูกๆ หลานๆ เราก็แข็งแรงขึ้น สุขภาพดีผิดจากแต่ก่อน” ฐานศรี สุบรรณารถ คนในพื้นที่ ยืนยันอย่างหนักแน่น
ตัวอย่างเมนูอาหารกลางวันตามโปรแกรม Thai School lunch (https://www.thaischoollunch.in.th)
ในปี 2560 โครงการเด็กไทยแก้มใสถอดบทเรียนการทำงาน และสร้างโรงเรียนต้นแบบ 112 แห่งจาก 50 จังหวัดทั่วประเทศ ในการจัดการอาหารกลางวันด้วย Thai School lunch และในปี 2561 นี้เองจะขยายผลให้มากขึ้น เพื่อนำระบบการจัดการอาหารกลางวันให้โรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยได้ใช้ และทำให้เด็กไทยมีโภชนาการที่ดี สุขภาพแข็งแรงทั้งกาย และใจ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป