20 บาทอิ่มท้อง-สารอาหารครบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
มื้อเที่ยง 20 บาทอิ่มท้อง-สารอาหารครบ 'ไทยสคูลลันช์' ครู-เด็กก็จัดสำรับได้
อดีตเคยถูกร้องเรียนอาหารกลางวันไม่มีคุณภาพ ปัจจุบันอาหารในถาดหลุมของเด็กๆ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย อ.เมือง จ.ตาก เต็มไปด้วยอาหารที่มีประโยชน์ทั้งข้าว กับข้าว ผลไม้ เมนูคุณภาพ 5 ดาว ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดที่ กลุ่มสภานักเรียนที่เลือกจากโปรแกรมสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ ไทยสคูลลันช์ (Thai School Lunch) ทำให้มื้อเที่ยงของทุกวันเด็กๆ ได้สารอาหารครบถ้วนเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนา สติปัญญาของเด็ก
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลา 5 ปี (2557-ปัจจุบัน) สุพจนีย์ พัดจาด ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย เล่าว่า ช่วงปี 2556 ที่มารับตำแหน่งพบว่าโรงเรียนแห่งนี้มีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารกลางวัน เคยมีการร้องเรียนว่าไม่มีคุณภาพ ปี 2557 จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใส ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้วางแนวทางดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์โรงเรียน คือ "ดอนมูลชัยโมเดล" ได้รับความร่วมมือจากครู นักเรียน ตลอดจน ผู้ปกครองและชุมชน จนทำให้การทำงานประสบผลสำเร็จ เป็น "ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส" ปัจจุบันโรงเรียนสอนระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียน 184 คน มีครู 10 คน มีเทศบาลเมืองตากดูแลงบประมาณและมีเทศบาลตำบลไม้งามดูแลด้านสถานที่
"เราใช้ตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นและเรียนรู้ไปพร้อมกัน ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ชวนครูที่จบโภชนาการชุมชนมาร่วมกันวางระบบการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ คัดแยกเด็กที่มีปัญหาแต่ละกลุ่ม เช่น อ้วนเกินไป ผอมเกินไป เตี้ย เพื่อวางแผนดูแลโภชนาการให้ตรงจุด และก็เริ่มต้นเรียนรู้การใช้ไทยสคูลลันช์จัดเมนูอาหารที่เหมาะสมโจทย์สำคัญคือ อยากให้ทุกเมนูดีที่สุดได้คะแนน 5 ดาว หรือ 4 ดาว แต่ก็มีบ้างที่ได้ 3 ดาว เข้าร่วมโครงการเป็นเวลา 5 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงเด็กมีคุณภาพมีการเติบโตสมส่วน ก่อนเข้าโครงการมีเด็กอ้วนกว่า 13% ปัจจุบันเหลือเพียง 5% ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ สสส.กำหนดไว้ที่ 7% ผลการเรียนดีขึ้นเห็นได้ชัด มีโอกาสเป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่งขันวิชาการในระดับภาค ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชนได้เห็นว่าลูกหลานเขามีพัฒนาการดี ก็หันมาให้ความใส่ใจเรื่องอาหารและร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน" สุพจนีย์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนวิธีคิดจากที่มีเงิน 20 บาทต่อคน ก็มองว่าพึ่งพาตัวเองโดยการปลูกข้าว ฟาร์มไก่ไข่ เพาะเห็ด ปลูกผัก เลี้ยงปลา พัฒนาเป็นชุมนุมหรือฐานการเรียนรู้ที่เรียกสั้นๆ ว่า "ไก่ นา ปลา เห็ด ผัก" ซึ่งจะเชื่อมเข้ากับ "สหกรณ์" ที่มีทั้งสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ออมบุญ เป็นการปลูกฝังและสอนให้เด็กรู้ว่าอาหารปลอดภัยนั้น ขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การผลิต การเลือก การจำหน่าย ผักบางชนิดที่ไม่สามารถปลูกได้เองหรือไม่เพียงพอก็จะพาเด็กลงไปเลือกยังแหล่งผลิตในชุมชนด้วยตนเอง ให้เด็กไปเรียนรู้เองว่าที่ไหนผลิตแบบปลอดสารพิษ ที่ไหนใช้สารพิษ สุดท้ายเด็กจะตัดสินใจเลือก ซึ่งทุกวันนี้ก็เลือกแหล่งปลูกผักของชุมชนที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน
โรงเรียนจ้างแม่ครัว 2 คนมาทำอาหารกลางวัน เมนูอาหารถูกกำหนดโดยนักเรียนผ่านกลุ่มสภานักเรียน จัดสำรับจากไทยสคูลลันช์ล่วงหน้า 1 ภาคเรียน ซึ่งเด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ คัดเลือกเมนู 5 ดาว บางมื้ออยู่ที่ 17 บาท แต่ไม่เกิน 20 บาท กระบวนการจัดซื้อเป็นหน้าที่ของโรงเรียนโดยสหกรณ์การเกษตรรับซื้อวัตถุดิบของชุมนุมต่างๆ มาขายต่อสหกรณ์ร้านค้า เพื่อนำวัตถุดิบไปมอบให้แม่ครัวทำอาหาร
โดยรูปแบบการบริหารสหกรณ์จะเน้นให้เด็กทุกคนทำเองทั้งหมด ครูมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา และให้ใช้ระบบพี่สอนน้องถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น สหกรณ์ที่นี่ส่วนใหญ่ยากจนเขาจึงต้องลงแรงอย่างเดียว โดย 1 หุ้น = 1 แรง จากกิจกรรมชุมนุม 1 ชั่วโมง หรือ งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย ปันผลปลายปีสามารถเลือกรับเป็นเงิน หรือสติกเกอร์ใบโพธิ์สะสมในสหกรณ์ออมบุญ ส่วนใหญ่เด็กจะเลือกอย่างหลังสะสมไว้เป็นพาสปอร์ตเข้าเรียนต่อ ม.1 หรือแลกทุนการศึกษา ซึ่งถ้าใครใช้แล้วก็ถือว่าหมดไปและต้องเริ่มสะสมใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เด็กคนอื่นๆ
นอกจากนี้ยังเพิ่มเรื่องการเรียนรู้แบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง (Active Learning) ในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เน้นการสร้างทักษะกระบวนการคิด 6 ขั้นตอน คือ กระตุ้นให้เกิดความสงสัย ขยายความคิด/เชื่อมโยงความรู้ อภิปรายในชั้นเรียน สรุปความคิดหลักการ พัฒนาชิ้นงาน และนำเสนอผลงานใน 2 หลักสูตร คือ กินตามวัยแก้มใสสุขภาพดี ที่มุ่งให้เด็กได้เรียนรู้สุขภาพและวิเคราะห์สุขภาพตนเองได้ ผ่านการจดบันทึกในสมุดโภชนาการ และหนูน้อยแก้มใสไทยสคูลลันช์ การฝึกจัดสำรับอาหารกลางวันผ่านระบบไทยสคูลลันช์ การคำนวณปริมาณผลผลิตที่ต้องใช้ในเมนูอาหารนั้นตลอดภาคเรียน ตรงนี้ได้บูรณาการวิชาคณิตศาสตร์ ในเรื่อง "ค.ร.น." มาใช้ในการคำนวณระยะเวลาการปลูกผักเพื่อให้ได้ผลผลิตทันใช้
"การนำแอ็กทีฟเลิร์นนิ่งมาช่วยทำเด็กเกิดการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่นั่งในห้องเรียนเฉยๆ เพราะเด็กได้ลงมือคิด ตั้งข้อสังเกต ลงมือทำเป็นชิ้นงานและนำเสนอผลงานดีกว่าการสาธิตแบบธรรมดา เด็กสนุกตื่นตัวกับการเรียนรู้ ซึ่งก็กระตุ้นให้ครูต้องพัฒนาตนเองเสมอ ซึ่งหลักสูตรแก้มใสสุขภาพดีก็ได้นำขึ้นเว็บไซต์โครงการเด็กไทยแก้มใสให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปใช้" สุพจนีย์ กล่าว
ในการจัดเมนูอาหารกลางวันโดยใช้ไทยสคูลลันช์นั้น "โฟกัส" ศกลรัตน์ ลำเต็มนักเรียนชั้นป.6 ประธานสภานักเรียน บอกว่า อยากช่วยแบ่งเบาภาระครูได้อาสามาเริ่มทำตั้งแต่ปี 2560 ก่อนเปิดเทอมสภานักเรียนจะมาร่วมกันทำเมนูอาหารกลางวันจากไทยสคูลลันช์ ล่วงหน้าไว้ 1 ภาคเรียน เพื่อคำนวณความต้องการใช้วัตถุดิบเป็นข้อมูลแต่ละชุมนุมนำไปเตรียม โดยครูจะคอยเป็นที่ปรึกษา อาหารจะเน้นที่รสไม่จัด มีสารอาหารครบและถ้าเป็นเมนูที่มีกับข้าวเป็นพวกแกงกะทิจะมีผลไม้ 1-2 ชนิด หรือขนมหวานที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เช่น ฟักทองแกงบวด
โดยภายใน 1 สัปดาห์จะกำหนดไว้ว่า 4 วัน กินข้าวสวยและกับข้าว และ 1 วันเป็นอาหารจานเดียว เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารน้อย ก็ต้องเสริมอย่างอื่นเข้าไป ทุกเมนูจะเลือกที่ได้คะแนน 5 ดาว มีคุณค่าสูงสุด ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 16-17 บาท แต่ไม่เกิน 20 บาท และทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร จะบอกเมนู มีสารอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการ ต้องสอนน้องรุ่นต่อไปเรียนการจัดเมนูอาหารจากไทยสคูลลันช์ต่อไปด้วย ได้ความรู้ก็กลับไปบอกพ่อแม่ และชุมชนรอบข้างให้เห็นถึงความสำคัญของอาหารที่มีประโยชน์
ขณะที่ "เอิร์น" -กัลยาณี เพ็ชร์กำแหง, "ผึ้ง" ศิริจันทร์ จันทรชิต และ "เฟอร์รารี่" วรรณณิษา โพรา นักเรียนชั้น ป.4 เข้าโครงการเด็กแก้มใสสุขภาพดี จดบันทึกโภชนาการเพื่อเรียนรู้สุขภาพตัวเอง ครูสอนให้รู้จักอาหาร ขนมที่มีประโยชน์ สอนความรู้เรื่องพลังงาน แคลอรี่ และให้จดบันทึกโภชนาการ ต้องเขียนน้ำหนัก ส่วนสูงของตนเองในสมุดแล้วเอามาคำนวณตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่ละวันกินอะไรบ้างแต่ละมื้อ ทำกิจกรรมอะไรใช้พลังงานไปเท่าไร พอได้ในแต่ละวันจะคำนวณออกมา เช่น ถ้าคำนวณแล้วติดก็เท่ากับว่าต้องเพิ่มที่ขาด ซึ่งทำแบบนี้ทำให้รู้ว่าผอม หรืออ้วนแล้ว รู้จักเลือกกินมากขึ้น จะเน้นแต่อาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งทุกวันนี้ดื่มน้ำเปล่า เอาความรู้นี้ไปคุยกับพ่อแม่ด้วย ว่าทำไมพ่อถึงอ้วนและแม่ถึงผอม ช่วยกันดูแลสุขภาพ