2 แสนคนในกรุงเสี่ยงต้อหิน
กทม.-ชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย ฯ จัดงานรวมพลังรณรงค์เนื่องในวันต้อหินโลก ปี 2555 เผย 2 แสนคนในกรุงเสี่ยงต้อหิน
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นางมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ ประธานชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย ในราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ร่วมแถลงการณ์จัดงานรวมพลังรณรงค์เนื่องในวันต้อหินโลก ปี 2555
นางมาลินี กล่าวว่า โรคต้อหินเป็นสาเหตุอันดับ 1ของประเทศที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสายตา ตาบอดอย่างถาวร และเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวเพราะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งต้องขอให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คืออายุเกิน 40 ปีเป็นต้นไปตรวจสายตาเป็นประจำ ซึ่งตนคิดว่าไม่มีอะไรที่จะทุกข์ไปกว่าคนที่เคยตาดีแล้วต้องมาตาบอดเมื่ออายุมากขึ้น โดยในประเทศไทยมีรายงานอุบัติการณ์ของโรคประมาณ 2.5-3.8% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ป่วย 1.7- 2.4 ล้านคน และจากการสำรวจชุมชนในกรุงเทพมหานครโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลศิริราช พบว่าในกลุ่มประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 50ปีขึ้นไปเป็นต้อหินสูงถึงร้อยละ 3.8 และเพิ่มเป็นร้อยละ 6.1 ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่ง กทม.มีสถานพยาบาลที่เปิดให้บริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคต้อหินฟรีในสถานพยาบาล 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลกลาง และวชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ส่วนกิจกรรมรณรงค์ใหญ่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 มี.ค.นี้ ที่สวนลุมพินี มีนิทรรศการ การเดินรณรงค์และการเสวนาให้ความรู้เรื่องต้อหิน
ด้าน รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวว่า ชมรมฯได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงสาธารณสุข ในการรณรงค์เพื่อสุขภาวะของประชาชน ซึ่งในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 200,000คนเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหิน โดยนอกจากเรื่องอายุ ที่พบว่า มี 1ใน 7ของผู้ที่อายุเกินกว่า 50ปีเป็นโรคต้อหินแล้ว ยังมีความเสี่ยงในกลุ่มของผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีสายตายาวมาก หรือสั้นมาก ผู้ที่เคยผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา ซึ่งหากมีปัจจัยเสี่ยงมากก็ยิ่งควรให้ความสำคัญเข้าตรวจวัดสายตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1ครั้ง โดยการพบโรคตั้งแต่ต้น มีต้อหินบางชนิดที่สามารถรักษาให้หายได้เลยถึง 90เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใช้การรักษาโดยให้ยา และการทำเลเซอร์นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มของผู้ที่ใช้ยาหยอดตาเป็นประจำ ซึ่งเป็นยาหยอดตาที่มีสารสเตียรอยด์ มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อหินได้มากเช่นกัน โดยปรากฏได้ในคนทุกวัย แม้กระทั่งวัยเด็ก ดังนั้นการใช้ยาก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ในการควบคุมของแพทย์
ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์