2 ครูภูมิปัญญา ครูสอนดีผู้สร้างเด็กขาดโอกาสเมืองกระบี่

 

สสค.หนุนครูสอนดีแห่งเมืองกระบี่ ครูหีด เอียดภิรมภ์ ครูศิลปะแม่ไม้มวยไทย และครูเคล้า โรจเมธากุล ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2555 สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง เปิดศูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้แก่เยาวชนขาดโอกาส พร้อมต่อยอดจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเปิดสอนในโรงเรียน

สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชน (สสค.) ภายใต้การสนับสนุนจาก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่องครูสอนดี จากความร่วมมือของจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ร่วมกันคัดเลือกครูสอนดีทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน พร้อมกับสนับสนุนทุนครูสอนดีที่สอนเด็กด้อยโอกาส เพื่อขยายผลการทำงานสร้างการเรียนรู้แก่เด็กขาดโอกาสทางสังคม

ครูหีด เอียดภิรมภ์ ครูศิลปะแม่ไม้มวยไทย แห่งชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูสอนดีของจ.กระบี่ และได้รับทุนครูสอนดีเพื่อสร้างการเรียนรู้แก่เด็กผู้ขาดโอกาสทางสังคมโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ รวบรวมเด็กในชุมชนที่มีฐานะยากจนและเด็กที่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ มาฝึกวิชาศิลปะชกมวยไทย โดยใช้สถานที่บ้านของครูเป็นโรงเรียนฝึกสอนมาอย่างยาวนานและไม่เก็บค่าเล่าเรียน โดยเริ่มจากการฝึกสอนลูกของครูหีดเองร่วมกับเด็กๆในชุมชน จนบางคนสามารถชกมวยเป็นอาชีพและหารายได้ส่งตัวเองเรียน มีรายได้ส่งให้ครอบครัว สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอปลายพระยา ทำให้ค่ายมวย ว.รุ่งนิรันดร์ เป็นที่รู้จักกันในภาคใต้และในเวทีมวยระดับประเทศ

ขณะเดียวกันเทศบาลตำบลปลายพระยา ได้เข้ามาช่วยเหลือจัดตั้งเป็นศูนย์ส่งเสริมศิลปะแม่ไม้มวยไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาทักษะด้านกีฬามวยไทย เน้นการอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้ของชาติ และส่งเสริมให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สามารถนำทักษะ เทคนิค ประสบการณ์จากการฝึกฝนไปประกอบอาชีพได้ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นใช้สอนในสถานศึกษาอีกด้วย

ครูหีด เล่าให้ฟังว่าเดิมเคยเป็นนักมวยมาก่อน เคยขึ้นชกมวยคาดเชือกมาหลายครั้ง ต่อมาเมื่ออายุราว 30 ปี ได้เริ่มสอนมวยให้แก่ลูกๆและเด็กๆในละแวกบ้าน หวังให้สืบสานศิลปะแม่ไม้มวยไทย และมีอาชีพติดตัว โดยได้นำวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาทำเป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกซ้อมมวย

ทางด้านนายไกรชิต เอียดภิรมภ์ บุตรชายครูหีดและเป็นอดีตนักมวยในชื่อ รุ่งเพชร ว.รุ่งนิรันดร์ เปิดเผยว่า เริ่มชกมวยมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปัจจุบันเป็นครูฝึกประจำค่าย ว.รุ่งนิรันดร์ ดูแลฝึกสอนเยาวชน 10 กว่าคน ตั้งแต่เวลา 17.00-19.00 น. หลังเลิกเรียนของทุกวัน และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กให้ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ ห่างไกลจากยาเสพติด เป็นการออกกำลังกายและยังสามารถสร้างรายได้ในภายหน้าอีกด้วย

“ที่นี่เป็นค่ายมวยแห่งเดียวในปลายพระยา ผมรู้สึกภูมิใจที่ค่ายของเราสร้างนักมวยได้แชมป์หลายคน และเรามีการสอนอย่างต่อเนื่องถ้าจะไปชกในกรุงเทพฯเราก็มีที่เก็บตัวรองรับ ผมอยากให้เด็กๆหันมาสนใจมวยไทยกันมากๆ เพราะต่างชาติลงทุนข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียน และเราก็เปิดสอนให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย” นายไกรชิต กล่าว

ดร. ประสงค์ สังขะไชย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่าครูหีด เป็นครูภูมิปัญญาสะสมภูมิปัญญามาด้วยตัวเอง และท้องถิ่นก็เห็นว่าถ้าส่งเสริมให้ถ่ายทอดศิลปะแม่ไม้มวยไทยให้แก่เด็กๆได้ จะช่วยลดปัญหาเยาวชนลงได้ ทั้งปัญหาความรุนแรง ปัญหายาเสพติด และที่กระบี่เป็นจังหวัดเดียวที่เป็นการเรียนการสอนนอกโรงเรียน ไม่ใช่ระบบโรงเรียนเหมือนที่อื่น ในด้านงานวิชาการนั้นนอกจากการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ทางเทศบาลได้จัดนักวิชาการเข้ามาช่วยด้วย

 “ในแง่ความยั่งยืน ลำพังทุนครูสอนดีนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งทางนายกเทศมนตรีตำบลปลายพระยาได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยอีกแรง และลูกชายครูหีดเองก็สามารถสร้างนักมวยได้ เชื่อว่าในภายหน้าอาจสร้างนักมวยดีๆขึ้นมาได้หลายคน” ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าว

ในขณะที่ครูเคล้า โรจนเมธากุล ครูศิลปะการแสดงหนังตะลุง เจ้าของรางวัลครูสอนดี และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง ประจำปี พ.ศ. 2555 ซึ่งได้ใช้พื้นที่บริเวณบ้านปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เป็นที่ฝึกสอนศิลปะการแสดงหนังตะลุงแก่เด็กและเยาวชนผู้สนใจมาช้านาน และในปัจจุบันนี้ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงและมโนราห์ เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และสามารถนำวิชาความรู้ทั้งการแสดงหนังตะลุงและการแสดงมโนราห์สร้างรายได้เป็นอาชีพอีกด้วย

“หลังจากได้รับคัดเลือกเป็นครูสอนดีและได้รับคัดเลือกให้ได้ทุนครูสอนดีจากสสค. เพื่อทำงานกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส จึงได้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงและมโนราห์ เพื่อสอนศิลปะการแสดงให้เด็กเยาวชนให้เรียนรู้วัฒนธรรมภาคใต้ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่เข้าเรียนมาจากครอบครัวยากจน การเรียนมโนราห์และหนังตะลุงจะช่วยให้เด็กมีรายได้ และยังช่วยขัดเกลาจิตใจแก่ทั้งตัวเด็กเองและผู้รับชม เพราะเนื้อหาจะสอดแทรกธรรมะคติสอนใจในการดำเนินชีวิต” ครูเคล้ากล่าว

น.ส.พรปวีย์ ชนะกุล หลานสาวครูเคล้า และเป็นครูอาสาฝึกมโนราห์ ประจำศูนย์การเรียนรู้ฯ เปิดเผยว่า ที่ศูนย์แห่งนี้ครูเคล้าจะสอนการแสดงหนังตะลุงด้วยตัวเอง และจะพาคณะศิษย์ออกไปแสดงในงานต่างๆ ซึ่งจะมีนักดนตรี และผู้ทำหน้าที่ต่างๆ ส่วนตนและแม่นั้นจะมีหน้าที่สอนมโนราห์ให้แก่เด็กๆ ตั้งแต่เด็กเล็กระดับอนุบาล จนถึงระดับมัธยม ปัจจุบันที่มีเด็กเล็กที่เข้ามาเรียน 50 กว่าคน ระดับชั้นมัธยม 20-30 คน และมีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา 10 กว่าคน

ด.ช.ธนกร พูลเกลี้ยง หรือน้องต่อ อายุ 12 ปี ที่มีปัญหาเรื่องขาต้องเข้ารับการรักษาทุกเดือน กล่าวว่า ได้เริ่มเรียนมโนราห์ตั้งแต่อยู่ป.1 ปัจจุบันอยู่ป.5 ผมมักได้รับบทแสดงเป็นนายพรานในเรื่องมโนราห์ และได้แสดงมาแล้วหลายเวที พอได้เงินก็จะเอาไปให้แม่เพื่อใช้เป็นเงินจุนเจือครอบครัว และใช้รักษาขาของผม โดยผมเคยได้เงินตั้งแต่ 3,000-10,000 บาท ในการแสดงแต่ละครั้ง ซึ่งช่วยให้ครอบครัวสามารถอยู่ได้

นายสมโภช บุตรเผียน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า เนื่องจากศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงและมโนราห์ ของครูเคล้า อยู่ในพื้นที่ของ อบต.ปกาสัย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่เด็กในชุมชนได้เรียนรู้การแสดงหนังตะลุงจากศิลปินแห่งชาติ อบต.ปกาสัย จึงพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของศูนย์ดังกล่าว โดยจะลงไปสอบถามถึงความต้องการของครูเคล้า เพื่อเสนอเป็นแผนสนับสนุนของ อบต.ปกาสัย ขณะเดียวกันก็จะมีโครงการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น บรรจุไว้ตั้งแต่ปี 2557

ด้าน ดร. ประสงค์ สังขไชย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า ครูเคล้า เป็นครูที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียน ได้รับการถ่ายทอดหนังตะลุง จากการปฏิบัติด้วยตัวเอง จนกระทั่งเป็นครูหนังตะลุง ทางสสค.ก็ให้การสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้ ร่วมกับอบต.ปกาสัย ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้สามารถดึงดูดเยาวชนและผู้ปกครองเห็นคุณค่า ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง

 “ต่อไปต้องคุยกับทางจังหวัด เพราะทำให้จังหวัดกระบี่มีศูนย์การเรียนรู้ศิลปะการแสดงหนังตะลุงฯ และถ้าหากคุยกับสมาคมการท่องเที่ยวได้ ให้นักท่องเที่ยวมาทัศนศึกษา ก็จะสามารถทำให้ศูนย์มีรายได้นำไปต่อยอดได้อีก คงต้องระดมกำลังช่วยกัน ทั้งลูกศิษย์ที่จบไปแล้วก็อาจเข้ามาช่วยสืบทอดสอนกันต่อๆ ไป”ดร. ประสงค์ กล่าว

 

 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

 

Shares:
QR Code :
QR Code