16 ปีงดเหล้าเข้าพรรษาสู้ต่อออกพรรษาลาเหล้า

 ที่มา : ไทยโพสต์


ภาพประกอบจาก สสส.


16 ปีงดเหล้าเข้าพรรษาสู้ต่อ'ออกพรรษาลาเหล้า' thaihealth


16 ปีงดเหล้าเข้าพรรษาสู้ต่อ'ออกพรรษาลาเหล้า'


ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสทองที่ชวนให้คนลึกขึ้นมาสู้เหล้าได้ ชี้ชวนให้คนในสังคมตระหนักถึงชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิมจากการวางขวดเหล้า การทำงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา 16 ปีที่ผ่านมา เกิดผลรูปธรรม แต่การจัดการแก้ปัญหาเหล้าคงวางมือไม่ได้ แนวทางทำงานในช่วงออกพรรษาอีก 9 เดือน จึงเป็นห้วงเวลาที่ไม่ควรละเลยสื่อสารขับเคลื่อนรณรงค์เลิกเหล้า นำมาสู่การรุกรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด "ออกพรรษาลาเหล้าปี 2562"


16 ปีงดเหล้าเข้าพรรษาสู้ต่อ'ออกพรรษาลาเหล้า' thaihealth


ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  กล่าวว่า "งดเหล้าเข้าพรรษา" เป็นโครงการตั้งต้นงดเหล้าของ สสส. และเป็นงานชิ้นสำคัญที่ทำเรื่องปัจจัยเสี่ยง เพราะมีการศึกษาสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย มีคนไทยดื่มมากขึ้นและแนวโน้มน่ากลัว เส้นกราฟพุ่งสูง ยุคนั้นคนหรือองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้น้อยมาก กำลังทางสังคมแผ่วเบา เมื่อเทียบกับบุหรี่ซึ่งตั้งหลักได้แล้ว จนกระทั่งปี 2546 เริ่มงานงดเหล้าเข้าพรรษา ลั่นระฆังชวนคนกลุ่มหนึ่งมาล้อมวงปักธงและนำมาสู่งดเหล้าเข้าพรรษา สองปีต่อมา จากการประเมินผลแบรนด์ สรุปว่า งดเหล้าเข้าพรรษาเป็นแบรนด์ที่คนรู้จัก เข้าใจและรู้ความหมาย กระแสลงตัว ควรเดินหน้ารณรงค์ต่อ "เดิมเข้าพรรษา ชาวพุทธจะงดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลิกอบายมุข แต่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป แนวปฏิบัตินี้ก็ลดลง สสส.มารื้อฟื้นจากการที่สังคมไทยมีทุนตั้งต้น ทุนทางศาสนา อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม มีวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุด ไม่ใช่แค่ 1 วัน เราใช้ 3 เดือนนี้เป็นห้วงเวลาสำคัญควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นปล่อยแคมเปญแรก "เลิกเหล้าเพื่อแม่ ชวนทุกคนให้เห็นแก่ครอบครัว พ่อ แม่ ต่อมาปี 2549 มีแคมเปญ "จน เครียด กินเหล้า" และ "เลิกเหล้า เลิกจน" เชื่อมโยงพิษภัยทางเศรษฐกิจ ตามด้วยเมาแล้วขับ เติมความเข้าใจสังคมต่อปัญหาอุบัติเหตุ กระทบผู้อื่น ทั้งหมดนี้นำไปสู่การขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับแรกของประเทศไทย การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาสร้างบรรยากาศให้สังคมพร้อมรับกติกาใหม่ และสร้างแคมเปญอีกมากมายออกมา รวมถึงเข้าพรรษาพักตับ รวมถึงลดบทบาทของเหล้าในสังคม ปรับเปลี่ยนค่านิยม" ดร.สุปรีดาเปิดปูมสำคัญงดเหล้าเข้าพรรษา


เส้นทางการขับเคลื่อนงดเหล้าเข้าพรรษา เดินหน้าไม่หยุด ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวต่อว่า แนวทางต่อมาลงระดับพื้นที่กระตุ้นชุมชน ลด ละ เลิกดื่ม สร้างคนหัวใจหิน คนหัวใจเหล็ก และคนหัวใจเพชร เลิกเหล้าตลอดชีวิต เกิดฐานชุมชนตลอด 16 ปี มีผู้ร่วมทางมากมาย ปัจจุบันมีกว่า 300 องค์กรให้ความร่วมมือ และขยายผลแตกตัวออกไป จากการประเมินผล ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระดับครัวเรือนชัดเจน และ 3 เดือนสถิติอุบัติเหตุทางถนนลดลง 3% ถ้าเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลงถึง 25% ส่วนความสุขของครอบครัวและความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นในสังคมอาจไม่มีตัวเลขวัดได้ แต่เห็นชัดจากสังคมโดยรวมดีขึ้น การลดลงของนักดื่ม ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ก้าวต่อไป สสส.และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจะร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดอนุสัญญาโลกในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แอลกอฮอล์จะไม่ได้หมดไปจากโลก แต่ลดลงอย่างแน่นอน ต้องเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อสังคมไทยปลอดแอลกอฮอล์

งานนี้ มีการเผยแพร่การประเมินผลการรณรงค์ "งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562" โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และ สสส. พบว่า มีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 53.5% แบ่งเป็น ผู้ที่งดเหล้าตลอดพรรษา 31% และผู้ที่งดบางช่วงและลดการดื่มลง 22.5% สัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา กลุ่มที่ลด ละ เลิกดื่ม ส่วนใหญ่ระบุว่าทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยรายละ 1,284 บาท ประเทศประหยัดได้เป็นเงิน 8,251 ล้านบาท กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมี 5% ตั้งใจจะเลิกดื่มตลอดชีวิต สำหรับเข้าพรรษาปีหน้า ยังคงมีผู้ดื่มเกือบ 2 ใน 3 มีความตั้งใจจะลด ละ เลิกเช่นเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าในเดือนที่รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ช่วยลดผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุลง 9% การเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลง 25% และยังส่งผลให้การดื่มลดลง 10% อีกด้วย ช่วงเข้าพรรษาสามเดือนนี้มีข้อดีมากมาย เป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ดูแลครอบครัว และเศรษฐกิจในครอบครัว สสส.และภาคีเครือข่ายลุยต่อ ไม่ใช่เฉพาะช่วงเข้าพรรษา แต่กระตุ้นงดเหล้าตลอดชีวิต มาสร้างความสุขให้สังคม


16 ปีงดเหล้าเข้าพรรษาสู้ต่อ'ออกพรรษาลาเหล้า' thaihealth


ธีระ  วัชรปราณี  ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)  กล่าวว่า  เข้าพรรษา 3 เดือน เป็นโอกาสเริ่มต้น อีก 9 เดือนที่เหลือ จะต้องทำงานต่อเนื่อง ผลจากการงดเหล้า เข้าพรรษา ทำงานลงลึกระดับชุมชนตั้งแต่ปี 2557 ค้นหาคนเลิกเหล้าต้นแบบ รวบรวมเป็นชมรม ใช้เวลากว่า 5 ปี ปัจจุบันเกิด 116 ชมรมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ปัจจุบันมี 892 ชุมชนเป็นต้นแบบ และยังขอความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ นำเด็กร่วมกิจกรรมเปลี่ยนแปลงสังคม ทำจดหมายสื่อรัก ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ลูกขอบคุณพ่อไม่ดื่ม จากนี้จะขับเคลื่อนทั้งชุมชนและโรงเรียนตลอด 9 เดือน รวมถึงมีชมรมคนหัวใจเพชร ชวนคนในชุมชนเลิกเหล้าต่อหลังออกพรรษา สนับสนุนความรู้และทักษะ โดยจะขยายชมรมต่อไป และทำต่อเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม ทั้งร้านค้า งานวัฒนธรรมประเพณี เข้าพรรษาเป็นโอกาสทอง แต่หลังออกพรรษาให้ลาเหล้า ทำให้การดื่มไม่ใช่เรื่องปกติที่คุ้นชินกัน


ออกพรรษาลาเหล้า เป็นการชวนชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาประเด็นเหล้า เวลานี้มีกองทัพจิตอาสาชวนคนงดเหล้าตลอดทั้งปีกระจายทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือ สุมาลี โพธิ์สิทธิพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต. หายโศก จ.บุรีรัมย์ งานนี้มาพร้อม สมทรง ชุบไธสง คนหัวใจหิน เลิกเหล้าได้ 6 เดือนแล้ว


สุมาลีบอกว่า ใช้สติบำบัดช่วยเหลือคนติดเหล้า เดิมในชุมชนมีปัญหาสุขภาพ คนในชุมชนติดเหล้าตายด้วยมะเร็งตับ การทำงานจะบอกคนติดเหล้า ถ้าเลิกได้จะลดผลกระทบต่อตัวเองและผู้อื่น ทำให้คนรอบข้างภาคภูมิใจ และได้คนหัวใจเพชรเข้ามาช่วยทำงาน มีการชวน ช่วย ชม เชียร์ ให้กำลังใจ และสิ่งสำคัญทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตั้งเป้าโมเดลหายโศก สร้างสุข ทำให้ชุมชนขับเคลื่อนต่อไป มีการพัฒนาหลักสูตรเลิกเหล้าในพื้นที่ ไม่ใช่แค่สติบำบัด อยากสื่อสารเลิกเหล้ามาสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้การทำงานในท้องถิ่นจะทำต่อเนื่องถึงจะประสบผลสำเร็จ.


16 ปีงดเหล้าเข้าพรรษาสู้ต่อ'ออกพรรษาลาเหล้า' thaihealth


16 ปีงดเหล้าเข้าพรรษาสู้ต่อ'ออกพรรษาลาเหล้า' thaihealth

Shares:
QR Code :
QR Code