14 ปีผู้บริโภค’ยังไม่ท้อ’ดันตั้ง’องค์กรคุ้มครอง’

ความพยายามผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค” ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานเกือบ “ทศวรรษครึ่ง” แม้ว่าล่าสุดจะถูกบรรจุเป็นวาระที่ 5 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎร์แล้ว หลังผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา แต่ต้องยังรอลุ้นใจรัฐบาล ในการผ่านกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2550

14 ปีผู้บริโภค'ยังไม่ท้อ'ดันตั้ง'องค์กรคุ้มครอง'การจัดตั้ง “องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค” มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ในฐานะผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากทั้งนโยบายภาครัฐและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอกชน

คงต้องยอมรับว่าหัวขบวนหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคคงหนีไม่พ้น น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่พยายามมานานกว่า 14 ปีแม้จะยังไม่บรรลุเป้าหมาย แต่ก็ยังไม่ท้อและมีความหวังในการผลักดันร่างกฎหมายนี้

เนื่องจากผู้บริโภคไทยยังขาดกลไกเพื่อสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดความเข้มแข็งอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงก่อนผลักดันร่างกฎหมาย พบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ประสบปัญหา ถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจสินค้าและบริการ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกลับไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ แม้ว่าจะมีหน่วยงานรัฐและองค์กรที่ถูกจัดตั้งอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำหน้าที่อยู่ แต่ก็มีปัญหาการเข้าถึง ทั้งยังล่าช้า

องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่จัดตั้งตามร่างกฎหมายนี้ แตกต่างจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ เนื่องจากไม่ได้มีหน้าที่จัดการกับผู้ประกอบการที่สร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยตรง แต่จะคอยสนับสนุนเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะการเข้าตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค และยังมีบทบาทกระตุ้นให้ประชาชนรู้จักสิทธิผู้บริโภคและช่องทางการร้องเรียนให้มากขึ้นเมื่อเกิดปัญหา ไม่เพียงแต่เป็นการปกป้องสิทธิ แต่ยังทำให้เกิดการพัฒนาของสินค้าและบริการที่ดี ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเอง

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญคือการให้ความเห็น ท้วงติงรัฐบาลในนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าหลายๆ นโยบายของภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและกลุ่มทุน อย่างกรณีการขึ้นราคาก๊าซของ ปตท., การปรับค่าเอฟทีในการจัดเก็บค่าไฟ ของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย และการลดภาษีรถยนต์คันแรกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถยนต์  เป็นต้น เห็นได้ว่าล้วนแต่มีผลกับธุรกิจและผู้บริโภคทั้งสิ้น

14 ปีผู้บริโภค'ยังไม่ท้อ'ดันตั้ง'องค์กรคุ้มครอง'“หากไม่ใช่หน่วยงานอิสระและอยู่ภายใต้รัฐ คงไม่กล้าแสดงความเห็นที่ขัดแย้ง แต่องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคจะให้ความเห็นที่ยึดประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก”

แม้จะเป็นกฎหมายเสนอโดยประชาชนจากการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ แต่ก็ผลักดันกันมาหลายรัฐบาลแต่ยังไม่สำเร็จ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนถึงรัฐบาลชุดนี้ อุปสรรคสำคัญยังคงเป็นข้อกังวลและเป็นข้อครหาว่าใช้เงินมาก ตรวจสอบไม่ได้ รวมไปถึงปัจจุบันมีหน่วยงานอิสระมากเกินไป

ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายได้ออกแบบการตรวจสอบองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคไว้ถึง 4 ชั้น คือ 1.องค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดร่วม 300 องค์กร ซึ่งมีการจัดประชุมในทุกปีเพื่อดูว่าการทำงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ 2.คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา มีการรายงานผลการทำงานในทุกๆ ปี 3.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ต้องส่งรายงานการใช้งบประมาณ และ 4.หน่วยงานอิสระที่เป็นสถาบันวิชาการ ที่ต้องเข้าตรวจสอบทุก 3 ปี

ส่วนประเด็นอำนาจการเข้าตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐจึงทำให้เกิดความกังวลจนเกิดเสียงคัดค้าน รวมไปถึงการกำหนดให้หน่วยงานรัฐใดที่ดำเนินนโยบายมีผลต่อผู้บริโภคต้องขอความเห็นจากองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคนี้ก่อน อาทิ กรณีการติดฉลากจีดีเอบนบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่ร่างกฎหมายไม่ได้บังคับว่าหน่วยงานดังกล่าวต้องทำตามคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภค เพียงแต่ให้รับฟังความเห็น

“องค์กรนี้ไม่ได้มีอำนาจอะไร ไม่เข้าใจทำไมรัฐบาลถึงกลัว ไม่ยอมให้มีการจัดตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นแค่องค์กรให้ความเห็น และงบดำเนินการก็ขี้ประติวเมื่อเปรียบเทียบกับงบ 2.2 แสนล้านของประเทศ สนับสนุน 5 บาทต่อหัวประชากร หรือราว 180 ล้านบาทต่อปี แต่ผลที่ได้จะทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง”

น.ส.สารี ยังบอกแบบติดตลกอีกว่า รัฐบาลอาจรู้สึกว่าปัจจุบันขนาดยังไม่มีองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ยังเรียกร้องสิทธิและก่อให้เกิดความรำคาญมากขนาดนี้ หากองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคถูกจัดตั้งมาจะหนักขนาดไหน

หากเปรียบเทียบกับการคุ้มครองผู้บริโภคประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างประเทศอินโดนีเซียมีการเรียกเก็บคืนสินค้าทั้งหมดเพียงเพราะไม่มีฉลากภาษาบาฮาซา (ภาษาท้องถิ่น) หรือประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามที่เรียกคืนรถยนต์รุ่นที่มีปัญหา ซึ่งเข้มแข็งกว่าประเทศไทยมาก บ้านเราไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเลย

น.ส.สารี บอกว่า  ที่ผ่านมาร่างกฎหมายมีความคืบหน้าไปมาก ถูกปรับแก้ในประเด็นที่หลากหลายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ในชั้นวุฒิสภามีการแก้ไข 3 ประเด็น คือ 1.การเพิ่มเงินสนับสนุนจาก 3 บาท เป็น 5 บาทต่อหัวประชากร เนื่องจากมองว่า 3 บาทนั้นไม่เพียงพอ เพราะแค่ส่งไปรษณีย์เพื่อแจ้งไปยังประชาชนก็หมดแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับการฟ้องร้องคดีที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คดี ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคก็คงไม่เพียงพอ 2.การแก้ไขจำนวนคณะกรรมการชุดสรรหากรรมการองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค จาก 8 คนเป็น 9 คน เพิ่มตัวแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเข้ามา และ 3.กำหนดให้มีการลงโทษกรรมการองค์กรอิสระผู้บริโภค

หากมีปัญหาความโปร่งใส หรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ โดยให้มีปรับไม่เกิน 200,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับและจำ ส่วนจะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร์หรือไม่ยังต้องรอดู แต่ต้องย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคผ่านการกลั่นกรองมายาวนานจึงไม่ต้องกังวล

อย่างไรก็ตามช่วงระหว่างที่ยังรอคอยการผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการจำลองตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อทดลองระบบ ดูกระบวนการทำงาน พร้อมกันนี้ยังชวนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศเข้าร่วม และได้มีการเดินหน้าคัดเลือกกรรมการไปแล้ว

จากตลอดระยะเวลาของการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประชาชนที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิในการปกป้องตนเองในสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงขณะนี้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเฉพาะที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 800 ราย ซึ่งหากรวมจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมีประมาณ 3,000 ราย ขณะที่ฝ่ายผู้ประกอบการก็ตื่นตัวให้ความสำคัญต่อผู้บริโภคเช่นกัน มีการรับฟังเสียงผู้บริโภคมากขึ้น

งานคุ้มครองผู้บริโภคไม่สามารถทำโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องช่วยกัน ซึ่งองค์กรที่จัดใหม่นี้จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงต้องร่วมผลักดันเพื่อดูแลประชาชน
         

เรื่อง: ดวงกมล สจิรวัฒนากุล
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code