10 เคล็ดลับ สังเกตข่าวปลอม รู้เท่าทันสื่อ

ที่มา : หนังสือจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


10 เคล็ดลับ สังเกตข่าวปลอม รู้เท่าทันสื่อ thaihealth


แฟ้มภาพ


ข่าวลวง คือข่าวที่มีข้อมูลเป็นเท็จ ซึ่งมีทั้งการส่งต่อความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ก่อให้เกิดการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ เป็นเครื่องมือทางการเมือง เกิดการสร้างวาจาเกลียดชังตลอดจนถึงการโฆษณาเกินจริง ส่งต่อความเชื่อที่ผิด การเปิดรับสื่อของคนไทย ท่ามกลางความมหาศาลของข้อมูลที่เกิดขึ้นทุกๆ เสี้ยววินาที ปรากฏการณ์ข่าวลวง ข่าวหลอก หรือ Fake News จึงปะปนอยู่ในคลื่นมหาศาลของข้อมูล ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อข่าวลวง หรือเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข่าวลวงโดยไม่รู้ตัว


วันนี้เรามี 10 เคล็ดลับสังเกตข่าวปลอม โดยศูนย์ช่วยเหลือ Facebook มาฝาก ดังนี้


1. สงสัยข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และเครื่องหมายอัศเจรีย์


2. สังเกตที่ URL หาก URL หลอกลวงหรือดูคล้าย อาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซด์ข่าวปลอมจำนวนมากมักเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง


3. สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ และมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากมีเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน "เกี่ยวกับ" เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม


4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ เว็บไซด์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาต์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้


5. การพิจารณารูปภาพ ข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริงแต่ไม่เกี่ยวกับบริบทของเรื่องราว คุณสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากไหน


6. ตรวจสอบวันที่ เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์


 7. ตรวจสอบหลักฐาน  ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจจะระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม


8. ดูรายงานอื่นๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมหากมีรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง


9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่


10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่คุณอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น

Shares:
QR Code :
QR Code