10 องค์กร ร่วมหาแนวทางการจัดโครงการมหกรรมปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา

 

10 องค์กร ประชุมเข้มคืนข้อมูลและหารือแนวทางการจัดโครงการมหกรรมปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา ประจำปี 2556 หวังพลังทางสังคมร่วมเป็นเจ้าภาพมากขึ้น

คณะผู้แทนเครือข่ายองค์กร 10 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการชวน 2,600 องค์กร 2,600 ครอบครัวและ 2,600 คนต้นแบบ งดเหล้าเข้าพรรษาเพื่อเฉลิมฉลองพุทธชยันตีครบรอบ 2,600  ปี การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ,สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.),เครือข่ายแม่ชีไทย,กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ, กรมการปกครอง, สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, สำนักอนามัย กทม. อนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก, กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ, ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน, กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.ตร. และเครือข่ายประชาคมงดเหล้ากรุงเทพฯ

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการรายงานผลการดำเนินงานงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2556 จาก 12 กลุ่มเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้แก่ งดเหล้าในสื่อมัลติมีเดียและอินเตอร์เนต,เครือข่ายเกสรชุมชนกรุงเทพมหานคร,กลุ่มโรงเรียน/สถานศึกษา,เครือข่ายศาสนาและภาคี,หน่วยงานราชการส่วนกลางและท้องถิ่น,กลุ่มทหาร,กลุ่มโรงงานและสถานประกอบการ,การพีอาร์และร่วมมือกับองค์กรภาคสื่อและเอกชนรูปแบบสื่อ ป้ายและการจัดส่ง,งานเด่นระดับพื้นที่ 8 ภาค

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผอ.หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวเปิดเรื่อง เชื้อเชิญในฐานะเจ้าของสถานที่ประชุมว่า “ที่สวนโมกข์นี้ มีฟูลมูน เมดิเตชั่น ไนท์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ประชาคมงดเหล้ากรุงเทพฯสามารถมาเชื่อมต่องานได้ ตามมาด้วย งานวัดลอยฟ้าในเดือนมิถุนายนนี้ ถ้าวางร่างๆดีก็สามารถมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ตามความเหมาะสม และสุดท้ายเฟซบุ๊คสวนโมกข์ มีการแชร์ปีละประมาณ 10 ล้าน ช่องนี้ก็น่าจะมีการลิงค์กันให้แน่นมากขึ้น”

ด้านแม่ชีพัฒน์ศรา พูลเกิด เครือข่ายแม่ชีไทย กล่าวว่า “แนวคิดที่แม่ชีทำ คือการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงชายขอบได้มีโอกาสเข้ามาบวชเพื่อพัฒนาชีวิตและความรู้ โดยในระหว่างบวชก็สามารถที่จะพัฒนาตนเองเป็นนักรณรงค์งดเหล้า หรือ ชักชวนพ่อแม่ให้งดเหล้าในระหว่างที่ตัวเองบวชชีน้อยได้”

นายพนมเทียน เส้งวั่น ผอ.ส่วนส่งเสริมด้านสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เสนอว่า “สื่อและการรณรงค์ต้องทำให้เห็นว่า เป็นโครงการหรืองานที่ทำทั้งปี นอกจากนั้น จะมีการขยายขอบเขตงานไปยังอปท.ต่างๆได้ในลักษณะของการเชื่อมต่องานกัน หรือแม้แต่จังหวะจัดการอบรมต่างๆของกระทรวงมหาดไทย ก็น่าจะสามารถแทรกหรือนำเรื่องงดเหล้าไปเป็นการจั่วหัวหรือเปิดประเด็นงานได้ ทั้งนี้ ในการทำหนังสือขอความร่วมมือ ควรมีการแบบคู่มือหรือแนวทางการทำงานงดเหล้าเป็นตัวอย่าง”

นายสาโรจน์ กาลศิริศิลป์ ผอ.ส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า “โครงการยกย่องคนดีปีนี้ ทางสำนักงานพระพุทธฯ จะนำประเด็นงดเหล้าเป็นตัวชี้วัดด้วย”

ด้านนายปิยะพงษ์ บุญส่ง หน.กลุ่มอำนวยการโครงการ กรมการปกครอง กล่าวถึงแนวทางไว้ว่า “สามารถนำเรื่องงดเหล้าเข้าไปสู่โรงเรียนนายอำเภอ, ปลัด, ผญบ.ได้ และการมีรางวัลหรือแบบฟอร์มตัวอย่างงานงดเหล้าเพื่อให้กรมฯขยายไปในอำเภอต่างๆได้”

สำหรับนางพัชรา ฉวีภักดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายฯ สำนักนโยบายและแผน สป.มท. แสดงถึงแนวคิดในการทำงานงดเหล้าไว้ว่า “ประเด็นหรือลักษณะในการรณรงค์งดเหล้า ไม่ควรกระด้าง แข็ง ก้าวร้าว เหมือนที่ทำมา ควรเน้นความเป็นครอบครัว เติมเรื่องศิลปะให้นุ่มนวลมากขึ้น ที่สำคัญในเรื่องรูปแบบหรือกิจกรรม ควรเป็นงานที่ใครๆก็มาร่วมงานได้ ไม่ว่าเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ที่สำคัญสถานที่ก็ต้องเหมาะสมด้วย”

ที่น่าสนใจคือ พ.ท.บุญเรือง จันทรวิมล หัวหน้าพิธีกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “อยากหยิบงานด้านศีล ๕ ให้เป็นองค์รวมที่ประกอบด้วยศีล สมาธิและปัญญา ในหน่วยทหาร ถ้าสามารถเสนอกิจกรรมนำทหารเข้าวัดครึ่งวัน โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดราชการ จะทำให้น่าสนใจมากขึ้น ปีนี้ สิ่งคาดหวังคือ น่าจะได้ยกงานที่ทำในระดับกรมฯนี้ให้เป็นของกองทัพบก เพื่อขยายขอบเขตงานไปยังค่ายอื่น และมีหลายกิจกรรมที่จะไปทำต่อ เช่นการอบรมอาสาสมัครสืบงานบุญประเพณี ให้เยาวชนเป็นแกนในการเคลื่อนงานกับชุมชนรอบค่าย”

ในการประชุมได้สรุปการหารือไว้ดังนี้

 1. ควรออกแบบกิจกรรมที่เข้าร่วมได้ทั้งครอบครัว

2. ระยะเวลาในการส่งจดหมายขอความร่วมมือ ควรส่งล่วงหน้า 2 เดือน เพื่อให้เวลาดำเนินการต่อเนื่อง

3. ควรแนบตัวอย่างกิจกรรมแนะนำไปพร้อมกับจดหมายขอความร่วมมือ เพื่อให้พื้นที่ที่อาจอยากทำมีโอกาสได้เลือกทำตามตัวอย่างที่แนบให้

4. ควรเสนอตัวอย่างกิจกรรม มีการส่งชื่อคนที่ตั้งใจจะงดเหล้า โดยมีพระรับรอง เพื่อมอบรางวัล จับฉลาก

5. ควรเอาแนวคิดรณรงค์งดเหล้าไปประยุกต์กับงานอบรม เช่น โรงเรียนนายอำเภอ ปลัด กำนันผู้ใหญ่ , การบวชสามเณรี

6. ควรให้ความสำคัญกับ ศีล 5 ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ความปลอดภัย การอยู่ร่วมกัน ครอบครัวอบอุ่น ไม่ใช่การห้าม แต่เพื่อทำให้สังคมอยู่เป็นปกติ และทำอย่างต่อเนื่อง

7. การออกแบบงาน ไม่ใช่แค่รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา แต่ต้องมองกว้างเพื่อสร้างชุมชนชาวพุทธที่เข้มแข็ง

8. ควรใช้แนวคิดการตั้งชมรมคนเลิกเหล้า และมีการสำรวจว่าทำอะไรได้บ้าง ไปทำงานด้านจิตอาสาต่อ

9. ควรใช้พื้นที่ที่รณรงค์ให้ครอบคลุม บ้าน วัด โรงเรียน เช่น ในอำเภอ ตำบล เพื่อให้สอดคล้องกัน ไม่ให้เกิดสถานที่หนึ่งทำ อีกที่หนึ่งไม่ทำ ทำเป็นต้นแบบที่ทำพร้อมกันในระดับตำบลหรืออำเภอ

“ผมอยากให้เทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษา เป็นเหมือนเทศกาลกินเจ ที่ใครๆก็ลุกขึ้นมาทำกัน แต่เวลาก็มากหน่อยคือ ๓ เดือนไม่เหมือนกินเจแค่ ๑๐ วัน อันนี้ก็ต้องมาร่วมกันเป็นเจ้าภาพและขยายไปให้เพื่อนร่วมงานหรือหน่วยงานที่เราเกี่ยวข้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมให้มากขึ้น” ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวทิ้งท้าย เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสดังกล่าวอย่างน่าสนใจ

 

 

ที่มา : สำนักงานเครืข่ายองค์กรงดเหล้า โดย นายประญัติ เกรัมย์ ทีมประสานงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและประเด็นศาสนา

Shares:
QR Code :
QR Code