10 ปี ศจย.คลังวิจัยเพื่อลดนักสูบ
เป็นเวลาถึง 10 ปี ที่ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการวิจัยเพื่อนำมาสู่การกำหนดนโยบายที่จะช่วยป้องกันประชาชนจากพิษภัยของบุหรี่
สถานการณ์อัตราการบริโภคยาสูบมีแนวโน้มลดลงในช่วง 10 ปี คือ จาก 23% เป็น 20% ในกลุ่มประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งถือว่า เป็นตัวเลขที่น่าชื่นชมจากความพยายามของทุกภาคส่วน แต่ในขณะเดียวกัน งานวิจัยเพื่อการหยุดยั้งและเฝ้าระวังเรื่องยาสูบ ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพราะกลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบนั้นไม่เคยหยุดและพยายามดึงดูดลูกค้านักสูบอยู่ตลอดเวลา
ตลอดระยะเวลาการทำงาน ศจย. ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน ข้อมูลข่าวสาร พัฒนาระบบการเฝ้าระวังการควบคุมยาสูบ และได้ ผลิตงานวิจัย/สังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อสนับสนุนและประเมินนโยบาย ควบคุมการบริโภคยาสูบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น องค์ความรู้เรื่องสมุนไพรหญ้าดอกขาวช่วยเลิกบุหรี่ ที่ใช้ขึ้นทะเบียนในบัญชี ยาหลักแห่งชาติ ข้อเสนอการขึ้นภาษีบุหรี่และยาเส้น การห้ามสูบบุหรี่ ในสถานบันเทิง การห้ามโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์ยาสูบทางอินเทอร์เน็ต การควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และการขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ รวมทั้งสนับสนุนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบยาสูบฉบับใหม่ ต่อผู้กำหนดนโยบายและสาธารณะ
โดยข้อเท็จจริงเหล่านี้มีประโยชน์ในการเอื้อให้การกำหนดนโยบายของรัฐอยู่บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์และสมเหตุสมผล การกระตุ้นให้หน่วยงานหลักออกนโยบาย และสร้างมาตรการขึ้นมาป้องกันประชาชน จึงเป็นภารกิจสำคัญที่นักวิจัยด้านยาสูบต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อนำไปสู่การออกนโยบายต่างๆ
เช่น การสร้างกฎหมายเรื่องภาพคำเตือนที่ประเทศไทย ถือว่า ประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างของอีกหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันไทยสามารถขยายขนาดภาพคำเตือนเป็น 85% ของพื้นที่ซอง ซึ่งเป็นผลมาจากการรวบรวมงานวิจัยจากต่างประเทศ และการสร้างงานวิจัยภายในประเทศ โดยผลการวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2547-2548 พบว่า เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนคำเตือนสุขภาพเป็นภาพสี่สีและคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่ ความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ของผู้ที่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้นจาก 44.6% เป็น 58.2% และสำหรับกลุ่มที่พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่กลับไปสูบใหม่ มีจำนวนลดลงจาก 20% เป็น 5.9%
ในโอกาสครบ 10 ปี การทำงานของ ศจย. ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศจย. มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ให้ เห็นว่า สสส. ให้การสนับสนุนเรื่องการควบคุมการบริโภคยาสูบจนให้เกิดกระบวนการทำงานวิจัยที่เป็นรูปธรรม มีความมั่นคง ถือเป็น การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ทำให้เกิดเครื่องมือการทำงานที่เหมาะสมต่อสภาพปัจจุบัน การมีแหล่งทุนที่ชัดเจนถือว่า มีส่วนช่วยให้ ชุมชนนักวิจัยเกิดความเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก มีความสนใจเข้ามาร่วมทำงานเพื่อวิจัยด้านยาสูบอย่างต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งช่วยให้เกิดมาตรการ และนโยบายที่เข้มแข็งตามมา
หนึ่งในนักวิจัยที่ทำงานด้านยาสูบมาอย่างต่อเนื่อง คือ รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า นักวิจัย ศจย. ซึ่งงานวิชาการได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ เช่น การทำวิจัยตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก สำหรับประเมินผู้ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งได้พบหลักฐานเชิงประจักษ์ จนทำให้เกิดการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ และพนักงาน ผู้ทำงานในสถานบันเทิง และการออกประกาศพื้นที่ปลอดบุหรี่ในท่าอากาศยาน เป็นต้น
รศ.ดร.เนาวรัตน์ เปิดเผยว่า งานวิจัยด้านยาสูบในช่วงเริ่มต้นนั้น ถือว่าเป็นเรื่องยากมาก นักวิจัยแทบไม่มีอุปกรณ์ในการวิจัย ก็ต้องหยิบยืม จากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งแหล่งทุนถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนางานด้าน การวิจัย เพราะงานวิจัยแต่ละเรื่องจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เช่น การตรวจวัด ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ การตรวจวัดปริมาณนิโคตินในปัสสาวะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการทดสอบเพื่อให้ได้รับทราบถึงปัญหาที่ชัดเจน
การมี สสส.มาสนับสนุนและเป็นแหล่งทุน จึงถือว่า ช่วยพัฒนางานวิจัย ช่วยเพิ่มนักวิจัยในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ทำให้ปัจจุบันนักวิจัยเริ่มมี เครื่องมือและจำนวนนักวิจัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถสร้างงานวิจัยใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างมาตรการที่สำคัญในการปกป้องประชาชนจากยาสูบ
คุณค่าของงานวิจัย อาจใช้เวลาก่อร่างสร้างตัว แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อมีข้อมูล และหลักฐานที่ชัดเจน ก็จะสามารถทำให้เดินไปสู่เป้าหมายในการ ปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนให้ไม่ตกเป็นเหยื่อ กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ ได้ในที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ