10 จังหวัดบุหรี่มือสอง ในบ้าน-ตลาดสดมากสุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กรุงเทพธุรกิจ เปิด 10 จังหวัดพื้นที่แดง คนรับควันบุหรี่มือสองภายในบ้านมากที่สุด ขณะที่ตลาดสด ตลาดนัดสถานที่ขายอาหารแหล่งสิงห์อมควัน สธ.ชี้รอบ 26 ปีแนวโน้มคนสูบลดลง เผยปัจจุบันคนไทยสูบ 10.7 ล้านคน แพทย์เตือนเลิกสูบ ลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง 30-50% เดินหน้าลดนักสูบหน้าใหม่-บุหรี่มือสอง
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด "บุหรี่ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือดสมอง" จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ศจย.นำเสนอรายงานสถิติการบริโภคยาสูบของประเทศไทย พ.ศ.2561 ที่เป็นการรายงานข้อมูลของปี 2560 โดยในปี 2560 ประชากรใน 10 จังหวัดที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านอย่างน้อยเดือนละครั้งสูงสุด ได้แก่ 1.สตูล 2.นครศรีธรรมราช 3.ชุมพร 4.ปัตตานี 5.หนองบัวลำภู 6.ชัยนาท 7.กระบี่ 8.ยะลา 9.นราธิวาส และ10. สกลนคร ขณะที่การได้รับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ พบว่า ตลาดสดหรือตลาดนัด มากที่สุด 61.8% และรองลงมาเป็นร้านอาหาร ภัตตาคาร สถานที่จำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม 37.7%
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า แม้สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า ยังมีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองทั่วประเทศถึง 33.2% มีการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ โดยพบเห็นการสูบบุหรี่ที่ตลาดสดสูงที่สุด 61.8% รองลงมาคือร้านอาหาร 37.7% และสถานีขนส่ง 25.5%
โดย 2 ใน 5 ของผู้สูบบุหรี่ สูบในบ้าน ทำให้มีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงถึง 17.3 ล้านคน เมื่อพ่อแม่สูบบุหรี่ จะทำให้ ลูกหลานหรือสมาชิกในบ้านมีพฤติกรรมเลียนแบบสูบตาม ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งของ สสส.จึงเน้นย้ำการทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการลด ละเลิกพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพอันเกิดจากการสูบบุหรี่ อาทิ โครงการพัฒนาต้นแบบบ้านปลอดบุหรี่ โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม. ช่วยเลิกบุหรี่ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน และโครงการจังหวัดควบคุมยาสูบ-สุรา เป็นต้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากรายงานผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อพิจารณาแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประชากรไทยในรอบ 26 ปี ตั้งแต่ปี 2534-2560 พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่าง ต่อเนื่อง จากปี 2534 มีผู้บริโภคยาสูบ 12.26 ล้านคน คิดเป็น 32% ลดลงเป็น 10.7 ล้านคน หรือ 19.1% ในปี 2560 ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการทำงานควบคุมยาสูบจึงมุ่งเน้นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี และทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เดิมเลิกสูบ เพราะการไม่สูบบุหรี่จะลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบตัน สูงถึงปีละ 1 แสนคน และ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมีสารนิโคตินและสารพิษอื่นๆ ที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดหัวใจวายกะทันหัน หลอดเลือดสมองตีบตัน และทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
การสูบบุหรี่เพียงวันละ 1-2 มวน ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนที่ไม่สูบ และผู้ได้รับควันมือสองก็มีความเสี่ยงเพิ่มด้วยเช่นกัน คนที่เลิกสูบบุหรี่ได้จะลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ถึง 30-50%
รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการ สมาพันธ์เครือข่ายโรคไม่ติดต่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดหลอดเลือดสมองโป่งพอง ถ้าเกิดการแตกจะทำให้เสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วนได้ มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอุดกั้นเพิ่มมากกว่า 2 เท่า และในผู้หญิง สูบบุหรี่ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด อัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองจะสูงถึง 7.2 เท่า
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยก่อโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญ แต่สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ โดยการหยุดสูบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถลดอัตราการกลับ เป็นโรคซ้ำ นอกจากนี้ งานวิจัยล่าสุดจากประเทศจีนระบุว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว หากยังไม่หยุดสูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองซ้ำมากกว่า ผู้ป่วยที่หยุดสูบ