1 เม.ย. คนไร้สถานะ เริ่มรักษาแล้ว

เบิกจ่ายย้อนหลังได้

 

1 เม.ย. คนไร้สถานะ เริ่มรักษาแล้ว 

 

       “จุรินทร์”ยัน ผู้ไร้สถานใช้สิทธิรักษาสุขภาพได้ตั้งแต่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป พร้อมเร่งคลอดเกณฑ์การจัดสรรงบ ระบุระหว่างรอจัดสรรงบฯ ให้โรงพยาบาลสำรองจ่ายก่อนเบิกย้อนหลัง ด้านผอ.รพ.ชายแดน ชี้ สัดส่วนงบประมาณพื้นที่มีภาระหนี้ได้น้อย เหตุกลุ่มผู้รับสิทธิไม่เข้าข่ายมติครม. ยังต้องแก้ปัญหาต่อ

 

       นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการจัดทำแนวทางการดำเนินการเพื่อจัดสรรงบประมาณสำหรับคนรอพิสูจน์สถานะกองทุนฯ จำนวน 472 ล้านบาท ได้ประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัสรรงบประมาณ และการบริหารงานกองทุน เพื่อดูแลผู้รอพิสูจน์สถานะบุคคลซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด จากนั้นจะประกาศหลักเกณฑ์ให้ทราบโดยทั่วกัน อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลต่างๆสามารถดำเนินการให้สิทธิโดยใช้งบของโรงพยาบาลไปก่อน ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ โดยเบิกจ่ายย้อนหลังได้ เนื่องจากกลุ่มบุคคลผู้รอพิสูจน์สถานะมีอยู่ชัดเจนแล้ว ตามมติครม.ที่เคยมีมติไว้

 

       ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่มีการตั้งข้อสังเกตว่างบบริหารในกองทุนมีสัดส่วนสูงกว่าปกติ ในเรื่องดังกล่าว ในวันที่29 มีนาคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการครั้งแรก ทุกฝ่ายพอใจ ซึ่งงบบริหารทั้งหมด อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 และไม่ได้มากกว่าที่อื่น ได้มาตรฐานเหมือนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยทุกฝ่ายอยากให้เงินงบประมาณไปที่โรงพยาบาลที่รับผิดชอบมากที่สุด ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่อยากให้ประชาชนที่ขาดสิทธิกลุ่มนี้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลกลับคืนมา ขณะเดียวกันโรงพยาบาลที่มีปัญหาอยู่ขอบชายแดนจะได้รับเงินเพิ่มเติมขึ้น

 

       นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับคณะกรรมการจัดทำแนวทางฯ ได้หารือแนวทางการจัดสรรงบประมาณ โดยอาจจะมีการแบ่งสัดส่วนเป็นงบประมาณผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในงบประมาณส่งเสริมสุขภาพ งบส่งต่อ และงบบริหารจัดการ ซึ่งงบผู้ป่วยนอกและส่งเสริมสุขภาพ อาจจะส่งไปที่โรงพยาบาลโดยตรง แต่ผู้ป่วยในใช้ระบบนิจฉัยโรครวม (drg) โดยเก็บงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม พบว่าการจัดสรรงบประมาณรายหัวตามจำนวนประชากร พื้นที่ที่มีปัญหาหนี้สินกลับมีจำนวนประชากรที่ผ่านตามมติครม.น้อย แต่มีประชากรกลุ่มอื่นที่ไม่มีสิทธิมากกว่า ทำให้ในระยะยาวต้องหาวิธีแก้ปัญหาในส่วนดังกล่าวต่อไป

 

       พบว่าพื้นที่ที่มีประชากรตามคำนิยามมากที่สุด คือ เชียงใหม่ 88,883 คน เชียงราย 70,549 คน กาญจนบุรี 64,319 คน กทม. 45,954 คน ตาก 39,929 คน แม่ฮ่องสอน 22,366 คน ระนอง 16,685 คน ราชบุรี 9,806 คน ตราด 8,012 คน สระบุรี 5,130 คน เป็นต้น ซึ่งพื้นที่ชายแดนที่มีปัญหาบางพื้นที่ก็ได้รับงบเพียงพอ แต่บางพื้นที่พบว่าประชากรไม่เข้าคำนิยาม เช่น หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งทำให้ต้องหาวิธีแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป เช่น การเร่งพิสูจน์สถานะนพ.วรวิทย์ กล่าว

 

       นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาในอนาคตจำเป็นต้องเร่งการพิสูจน์สถานะ เพื่อให้ผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิเข้าไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะการบริหารกองทุนสุขภาพ ถ้ามีผู้ใช้บริการน้อยต้นทุนจะสูง แต่ถ้ามีสัดส่วนผู้ใช้บริการสูงขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลง อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาบุคคลกลุ่มดังกล่าวครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปิดประตูให้ขึ้นบันไดขั้นแรก ยังมีอีกหลายขั้นที่ต้องดำเนินการต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือ จะต้องสร้างให้ระบบเกิดความเป็นธรรมที่สุด

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astvผู้จัดการ

 

 

update:31-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

Shares:
QR Code :
QR Code