1 วันใน “เรือนจำกลางอุดรธานี”

เรื่องโดย : นายพิทักษ์ โงมสันเทียะ นักศึกษาฝึกงาน คณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ภาพโดย สสส.


1 วันใน


ในฐานะนักศึกษาฝึกงาน ของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีโอกาส 1 วัน (3 ก.ค. 2562) ในการลงพื้นที่เรือนจำกลางอุดรธานี พร้อมกับหน่วยให้บริการทันตกรรมเชิงรุกแก่ผู้ต้องขัง ภายใต้โครงการเรือนจำสุขภาวะ โดยการสนับสนุนของสสส. เพื่อเรียนรู้การดำเนินชีวิตและศึกษาประเด็นปัญหาทางสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ ผ่านการสัมภาษณ์ผู้บัญชาการเรือนจำ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำ พยาบาลประจำเรือนจำ และผู้ต้องขังชายและหญิง


การเรียนรู้การดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ต้องทั้งชายและหญิงพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันมากนักในส่วนของกิจวัตรประจำวัน เว้นแต่งานที่ถูกจำแนกในแต่ละคนที่จะกระจายไปตามกองงาน ซึ่งจะถูกจำแนกไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันในช่วงเวลาและกิจกรรมในแต่ละวัน โดยผู้ต้องขังจะเริ่มตื่นนอนในช่วงเวลา 04.00-05.00 น. หลังจากนั้นจะเริ่มสวดมนต์ไหว้พระที่เรือนนอนและทยอยอาบน้ำจนถึงเวลา 06.30 น. ทุกคนจะลงมาจากเรือนนอนเพื่อมารับประทานอาหารเช้าที่โรงเลี้ยงจนถึงเวลา 07.30 น. หลังจากนั้นผู้ต้องขังจะมีเวลาได้ทำภารกิจส่วนตัว 30 นาที ก่อนที่จะรวมตัวกันเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์ร่วมกันอีกครั้งในเวลา 08.00 น. เมื่อถึงเวลา 09.00 น.ทุกคนจะถูกแยกไปตามกองงานตามที่ถูกจำแนก


1 วันใน


กองงานที่จำแนกโดยคณะกรรมการในเรือนจำนั้น ในแต่ละกองงานจะแบ่งหน้าที่ไปตามเพศสภาพของแต่ละคนและผู้ต้องขังทุกคนจะต้องมีกองงานเป็นของตนเอง สำหรับในกลุ่มเพศสภาพที่เป็นหญิงจะมีกองงานให้เลือก คือ งานฝึกโยคะ งานเบเกอรี่ งานดอกไม้ งานพานพุ่ม งานเสริมสวย งานเย็บปักถักร้อย และงานประกอบอาหาร ในกลุ่มเพศสภาพที่เป็นชายจะมีกองงานให้เลือก คือ งานช่างไม้ งานทาสี งานช่างเชื่อม งานปั้น งานผลิตไม้กวาดพลาสติก/ไม้ไผ่ งานผลิตภัณฑ์ซักล้าง และกองงานการศึกษา สำหรับกลุ่มสุดท้ายกลุ่มที่เพศสภาพเป็นเพศทางเลือกจะถูกให้อยู่ในกองงานซักล้างเพียงเท่านั้น


ในกองงานแต่ละกองงานก็จะได้รับการสั่งการผลิตมาจากทั้งในและนอกเรือนจำ เพื่อตอบสนองความต้องการ โดยงานที่ได้รับการสั่งการผลิตในเรือนจำมากที่สุดคงจะไม่พ้นเรื่องอาหารการกินที่มีทั้งอาหารคาวและหวาน ซึ่งส่วนมากจะมียอดสั่งการผลิตมาจากแดนชาย โดยผู้ต้องขังชายจะต้องสั่งล่วงหน้าหนึ่งวันถึงจะได้รับอาหารในวันถัดไป ส่วนอาหารที่เป็นประเภทของหวานจำพวกเบเกอรี่จะมียอดสั่งผลิตมาจากองค์กรภายนอกเรือนจำจำนวนมากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปเป็นอาหารว่างและจัดเลี้ยงในโอกาสต่างๆ


กองงานเย็บปักถักร้อย งานดอกไม้ งานพานพุ่ม งานช่างไม้ งานปั้น งานผลิตไม้กวาดพลาสติก/ไม้ไผ่ และงานผลิตภัณฑ์ซักล้าง จะถูกนำไปขายที่ร้านผลิตภัณฑ์ของเรือนจำกลางอุดรธานีเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์จากเรือนจำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่บางกองงานก็มีการนำผลิตภัณฑ์มาแบ่งใช้ภายในเรือนจำเอง เช่น งานผลิตไม้กวาดพลาสติก/ไม้ไผ่ และงานผลิตภัณฑ์ซักล้าง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในเรือนจำลง ในกองงานซักล้างที่ดำเนินงานโดยกลุ่มที่มีเพศสภาพเป็นเพศทางเลือก จะนำผลิตภัณฑ์ซักล้างที่ผลิตในเรือนจำมาใช้งาน โดยกองงานนี้จะต้องนำผ้าห่มจากทุกแดนมาซักเดือนละ 1 ครั้ง สลับกันไปในแต่ละแดนจนครบทุกแดนแล้วจึงจะวนรอบใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ ผ้าห่มแต่ละผืนจะมีการระบุเลขประจำตัวผู้ต้องไว้จำนวน 6 หลัก ในแต่ละหลักจะให้นิยามแตกต่างกันไป เช่น หลักที่ 1 คือ แดน หลักที่ 2 คือ เรือนนอน หลักที่ 3 คือ ห้อง และ 3 หลักสุดท้าย คือ เลขที่นอน กองงานนี้เรือนจำต้องการให้เป็นสวัสดิการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้ต้องขัง แต่ถ้าหากกลุ่มผู้ต้องขังอยากซักผ้าห่มหลายรอบต่อเดือนผู้ต้องขังต้องนำมาซักด้วยตนเอง


1 วันใน


หลังจากที่กลุ่มผู้ต้องขังเข้ากองงานแล้ว จนกระทั่งถึงเวลา 12.00 น. ผู้ต้องขังจะออกมารับประทานอาหารที่โรงเลี้ยงก่อนที่จะเข้าเช็คยอดตอนเวลา 12.45 น. และกลับเข้ากองงานอีกครั้งในเวลา 13.00 น. จนถึงเวลาเลิกจากกองงานในเวลา 15.00 น. แล้วจะกลับไปที่โรงเลี้ยงอีกครั้งเพื่อรับประทานอาหารเย็น ก่อนที่จะไปทำภารกิจส่วนตัวและขึ้นเรือนนอนในเวลา 16.00 น. หลังจากนี้ชีวิตผู้ต้องขังก็จะเข้าสู่ช่วงพักผ่อนจากที่เหนื่อยมาทั้งวัน ภายในเรือนนอนก็จะมีโทรทัศน์ให้ดูและจะปิดลงเมื่อถึงเวลา 21.00 น. แล้วผู้ต้องขังก็จะนอนหลับและตื่นนอนกลับมาทำกิจวัตรประจำวันเช่นเดิมอีกครั้ง เว้นแต่ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผู้ต้องขังทุกคนจะไม่ได้เข้ากองงาน


จากที่ผู้ต้องขังมีชีวิตประจำวันที่หมุนเวียนอยู่ซ้ำ ๆ แล้ว ยังจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี ทั้งสภาพแออัดภายในเรือนจำที่มีคนอยู่ภายในเรือนจำกว่า 5,000 คน การใส่เสื้อผ้าที่อับชื้นตลอดทั้งวัน ทำให้ผู้ต้องขังเกิดโรคผิวหนังจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ต้องขังที่น่าสนใจจากการให้สัมภาษณ์ของพยาบาลและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ระบุว่า สถานการณ์สุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำปัจจุบันมีการระบาดของโรคหิดในกลุ่มผู้ต้องขังชายเนื่องจากอยู่ในที่แออัดและไม่ชอบอาบน้ำ และในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้มีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก และสำหรับโรคต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเรือนจำก็จะมีผู้ป่วยทางจิต 90 คน ผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs 200 กว่าคน (รวมชายหญิง) ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV 70 คน (รวมชายหญิง) และมีผู้ต้องขังที่มีอาการปวดเมื่อยอีกจำนวนมาก


1 วันใน


ประเด็นที่น่ากังวลของพยาบาลในเรือนจำ คือ การตรวจพบเชื้อมะเร็งในกลุ่มผู้ชายและมีอายุน้อยลงทุกปี ทั้งมะเร็งลำไส้และมะเร็งทวารหนัก ซึ่งส่วนใหญ่ถูกตรวจพบในเรือนจำ กลุ่มที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานในกองงานต่าง ๆ เนื่องจากสถานที่ทำงานมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัย และในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทางเรือนจำยังไม่มีโครงการลงไปแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมถึงแม้ว่าจะมีกองงานโยคะหรือโครงการเต้นบาสโลบ แต่ก็ไม่ได้เจาะจงไปในกลุ่มเป้าหมายมุ่งไปเพียงแค่กลุ่มคนที่สมัครใจเท่านั้น บางโครงการก็เป็นเพียงโครงการระยะสั้นจึงขาดความสม่ำเสมอ


ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้สอบถามเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังในด้านการสร้างเสริมสุขภาพผู้ต้องขังมีเพียงกิจกรรมโยคะ กิจกรรมเต้นบาสโลบ และกิจกรรม 10 ท่าพญายม ซึ่งมีข้อจำกัดที่ไม่เหมาะกับคนอีกหลายกลุ่มทั้งผู้ชาย ผู้สูงวัย และผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย บางกิจกรรมก็มีระยะเวลาสั้นจนเกินไป เช่น 10 ท่าพญายมใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วควรทำนาน 10 นาทีขึ้นไปจึงจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย และในกลุ่มผู้สูงอายุจะถูกละเว้นและไม่ต้องเข้ากองงานทำให้มีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากกว่าคนอื่น ๆ


1 วันใน


จากการสัมภาษณ์ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนเรือนจำสุขภาวะ ได้กล่าวว่า ส่วนใหญ่ทางเรือนจำจะมีพื้นที่ให้ผู้ต้องขังชายได้ออกกำลังกายประเภทกีฬา ทั้งตะกร้อ ฟุตบอล วอลเลย์บอล และบาสเกตบอล ทำให้ผู้ต้องขังชายในเรือนจำมีรูปร่างแข็งแรง แต่ในเรือนจำกลางอุดรธานีกลับถูกจำกัดในข้อนี้ เนื่องจากมีพื้นที่ในเรือนจำน้อยจึงไม่มีพื้นที่ออกกำลังกายประเภทกีฬาในเรือนจำ แต่ก็สามารถพบผู้ต้องขังชายในเรือนจำที่มีรูปร่างแข็งแรงได้บ้าง จึงเป็นข้อสงสัยให้ไปหาคำตอบกับเจ้าที่หน้าในเรือนจำจึงพบว่า ผู้ต้องขังชายหลังจากถูกฝึกระเบียบ 15 วัน (ตั้งแต่แรกเข้าเรือนจำ) และถูกจำแนกไปตามกองงานต่าง ๆ ก็ได้ใช้เวลาช่วงที่ไม่มีงานหันมาออกกำลังกาย เช่น ลุกนั่ง ดันพื้น และโหนบาร์ด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่ในเรือนจำยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ทางเรือนจำไม่สามารถที่จะอำนวยความสะดวกอุปกรณ์และทำให้เป็นกิจลักษณะได้ เนื่องจากมีความกังวลกับความปลอดภัยภายในเรือนจำ


จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดจะมุ่งแก้ไขปัญหาสุขภาพกลุ่มผู้สูงอายุในประเด็นกิจกรรมทางกายและภาวะซึมเศร้า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีกิจกรรมระหว่างวัน ทำให้มีเวลาคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ จนเกิดความกังวลและเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า


ในฐานะที่ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตผู้คนในเรือนจำแม้เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ แต่ก็มีข้อเสนอในการแก้ไข้ปัญหาดังนี้ 1) ให้ญาติเข้าเยี่ยมได้มากขึ้นเพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้อายุอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป 2) จัดกิจกรรม “บอกกล่าวเล่าเรื่อง” ให้กลุ่มผู้สูงอายุได้พูดคุยกันเองในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันเองหรือผู้สูงอายุกับคนอื่นๆก็ได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ระบายความรู้สึกและให้คนอื่นได้รับฟังเรื่องเล่าของเขา 3) สร้างแกนนำในการออกกำลังกาย 5 วันต่ออาทิตย์ วันละ 30 นาทีผ่าน “โครงการสูง (เดิน) วัย” โดยโครงการนี้จะให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายด้วยการเดินไว 10 นาทีต่อครั้ง ทำ 3 ครั้งต่อวัน จะช่วยให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวาน ไม่เกิดภาวะน้ำหนักเกิน ส่งผลให้กล้ามเนื้อ ข้อ เอ็น กระดูก และสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงกว่าคนทั่วไป

Shares:
QR Code :
QR Code