1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่


ปัญหาสังคมที่เราได้เคยพบเห็นและคุ้นเคยกันมาแต่เดิม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ปัญหาวิกฤติจากสิ่งแวดล้อมหรือแม้กระทั่ง  ปัญหาข้าวยากหมากแพง  ตลอดจนปัญหาความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม


ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาแก้ไขอยู่แล้ว แต่ก็มีคำถามจากสังคมว่า สถาบันอุดมศึกษาจะมีบทบาทที่จะพาชาติออกจากวิกฤติเหล่านี้ได้อย่างไร


โครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด จึงเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะให้ มหาวิทยาลัย มีบทบาทในการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ โดยการพัฒนาวิชาการเพื่อรับใช้สังคม สร้างกระบวนการให้เกิดการยอมรับในวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ร่วมดูแลพื้นที่กับจังหวัด ส่งเสริมขบวนการนักศึกษาให้มีอุดมการณ์ มีความเป็นพลเมืองเพื่อส่วนรวม และมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อแก้วิกฤติชาติ


แผนงานพัฒนาสถาบันการศึกษาสาธารณสุขให้เป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ (สอส.) ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการพัฒนาเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาธารณสุขทั้ง 17 แห่ง ทั่วประเทศให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาสร้างเสริมสุขภาพ หนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือ การวิจัยชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ใกล้มหาวิทยาลัยหรือชุมชนที่ประสบภัยวิกฤติ


มหาวิทยาลัยหลายแห่งภายใต้การสนับสนุนของแผนงาน สอส.ได้ดำเนินงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ และได้ขยายบทบาทของมหาวิทยาลัยจากการรับผิดชอบ 1ชุมชน เป็น 1ตำบล/ 1เทศบาล จนเกิดเป็น 1มหาวิทยาลัย 1จังหวัด ดังเช่นมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ลงนามร่วมกับจังหวัดพะเยาเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวพะเยาในทุกมิติ และได้เพิ่มบทบาทให้ทุกคณะมีส่วนร่วมจนเกิดเป็น โครงการ 1คณะ 1อำเภอ”


เป้าหมาย สอส. คือ ปรับสภาพให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีคณะด้านสาธารณสุข ให้เป็นห้องตรวจสุขภาพ นำความรู้ความชำนาญของนิสิตนักศึกษาที่มีอยู่ มาพัฒนาสุขภาพบุคลากร นิสิตนักศึกษา เป็นอันดับแรก แล้วจึงลงพื้นที่ไปดูแลชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่รอบสถานศึกษา


4ปี ของการดำเนินโครงการ เห็นความก้าวหน้าหลายที่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งส่งนักศึกษาและคณาจารย์ ไปสัมผัสกับปัญหาด้านสาธารณสุขชุมชนจนประสบผลสำเร็จ จนถึงขั้นที่ได้รับความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือเทศบาลตำบลแม่กา และได้จับมือพัฒนาสุขภาพของชุมชนใน ต.แม่กา จนสามารถขยายความร่วมมือนี้ไปจนถึงองค์กรปกครองระดับจังหวัด


เมื่อผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ก็เกิดเป้าหมายใหม่ขึ้น ด้วยการปฏิรูปการเรียนการสอนอุดมศึกษา แบบเข้าถึงชุมชน จึงเกิดโครงการ 1มหาวิทยาลัย 1จังหวัดตามมา ด้วยหลักการง่าย ๆ คือ  ปรับระบบอุดมศึกษาใหม่ จากที่เรียนแบบ “วิชา เป็นตัวตั้ง” มาเป็นการเรียนแบบ “ชุมชนท้องถิ่น เป็นตัวตั้ง” แทน


นพ.ประเวศ ให้นิยามโครงการนี้ว่า “พื้นที่ คือความจริงของชีวิต และการอยู่ร่วมกันทั้งระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่มีคน องค์กร สถาบันต่างๆ มากมาย ถ้าคน องค์กร สถาบันต่างๆ เหล่านี้เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ชุมชนท้องถิ่นก็จะเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการไปพร้อมกัน อย่างน้อย 8 เรื่อง คือ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคมวัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย


“แต่ทุกวันนี้มีสถาบันอุดมศึกษาถึงกว่า 180แห่งกระจายไปครอบคลุมทั่วทุกจังหวัด แล้ว แต่ทำไมความรู้มาก อาจารย์มากขนาดนี้ ทำไมเราถึงแก้ปัญหาอะไรให้กับประเทศไม่ได้เลย”ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ปริญญาตั้งข้อสังเกต ในการเสวนาเรื่อง 1มหาวิทยาลัย 1จังหวัดเริ่มต้นจากวิกฤติสุขภาพ ซึ่งจัดโดย สอส.


ไม่เพียงแต่คณะด้านสาธารณสุข ทุกคณะสามารถเริ่มแนวทางนี้ได้ เช่นผู้ที่เรียนนิติศาสตร์ก็สามารถนำปัญหาชุมชนนั้นหาทางแก้ไขตามหลักกฎหมาย ที่สำคัญนักศึกษาต้องสามารถเชื่อมโยงได้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป้าหมายอีกประการนั้นคือ ให้ชุมชนแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการพึ่งตัวเองเป็นหลัก


นพ.วิชัย เทียนถาวร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งล้วนแต่มีบุคลากรที่มีความรู้สูง มหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนประเทศ เช่น สถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข ก็เปรียบเหมือนมีกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในมหาวิทยาลัย สถาบันที่มีคณะรัฐศาสตร์ก็เหมือนมีมหาดไทยอยู่ด้วย


พลังคนรุ่นใหม่ ปัญญาชนในสถานศึกษาก็มีบทบาทจะเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไทย เชื่อว่าทำได้


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code