โพลล์ชี้เด็กไทยเสพสื่อไร้ผู้ปกครองดูแล

เอแบคโพลล์ ชี้ เด็กไทยน่าเป็นห่วงเสพสื่อไร้ผู้ปกครองดูแล

เอแบคโพลล์ชี้ เด็กไทยน่าเป็นห่วงเสพสื่อไร้ผู้ปกครองดูแล

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยถึงงานวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “อิทธิพลของสื่อต่อเด็กและเยาวชนไทย ในยุคโลกไร้พรมแดน” โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กอายุ 12 – 24 ปี จำนวน 1,815 ตัวอย่าง โดยพบ 30 วันที่ผ่านมา เด็ก 90.5%  ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านโทรทัศน์ นอกจากนี้  “อินเทอร์เน็ต” ยังเป็นสื่อที่เด็กและเยาวชนติดตามมากเป็นอันดับสองคือ 81.4% ในขณะที่ 42.5% ติดตามจากหนังสือพิมพ์ 30.9% ติดตามจากโทรศัพท์มือถือ / sms 23.1% ติดตามจากวิทยุ และ 18.7% ติดตามจากนิตยสาร

ส่วนประเภทรายการที่ติดตามเป็นประจำ พบว่า 66.3% ระบุว่าเป็นเพลง / เอ็มวี รองลงมาคือ 49.8%  ระบุเป็นละคร 43.6% ระบุเป็นข่าว 42.3% ระบุเป็นเกม และ 40.0% ระบุเป็นการ์ตูน

เมื่อถามถึงการรับชมโทรทัศน์ที่บ้าน พบว่า 53.2% ระบุมีคนอื่นดูด้วย ในขณะที่ 46.8% ดูตามลำพัง และเมื่อสอบถามว่า ทำอย่างไรในการชมโทรทัศน์เมื่อเห็นรายการแสดงเรตติ้ง “น” และ/หรือ “ฉ” พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 85.3% ดูต่อ (ตั้งแต่ต้นจนจบ / ดูเป็นบางช่วงบางตอน) โดยมีเพียง 14.7% ที่เปลี่ยนช่อง

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ดูอยู่กับพ่อแม่และผู้ปกครอง ระบุว่า เมื่อเห็นรายการโทรทัศน์ที่แสดงเรตติ้ง “น” และ/หรือ “ฉ” ส่วนใหญ่ 56.2% ระบุว่าดูต่อ โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองให้คำแนะนำ ในขณะที่ 20.9% ดูต่อโดยพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ให้คำแนะนำ และร้อยละ 22.9 เปลี่ยนช่อง

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ 94.0% เคยดูละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหารุนแรงหรือการมีเพศสัมพันธ์เกินเลย ในขณะที่เพียง  6.0% ไม่เคยดู นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อชมละครโทรทัศน์นี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 98.9% ของคนที่ดูแล้ว เกิดความรู้สึกร่วม เช่น โกรธ เศร้า เกิดความต้องการ เป็นต้น

เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า 39.1% เริ่มเล่นตอนอายุน้อยกว่า 10 ปี  54.5%  เริ่มเล่นตอนอายุระหว่าง 10 – 15 ปี ในขณะที่  6.2% เริ่มตอนอายุ 16 – 20 ปี มีเพียง  0.2% เท่านั้น ที่เริ่มตอนอายุ 21 – 24 ปี โดยอายุน้อยสุดที่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตคือ 3 ปี และอายุเฉลี่ยที่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกคือ 11 ปี

สำหรับสถานที่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ พบว่า ส่วนใหญ่ 78.3% ใช้ที่บ้าน รองลงมาคือ 38.7% ใช้ที่โรงเรียน / สถานศึกษา  31.7% ที่ร้านเกม โดยส่วนใหญ่ 70.0% ใช้อินเทอร์เน็ตตามลำพัง ในขณะที่ 30.0% มีผู้ปกครองอยู่ด้วย

ขณะที่วัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า โดยส่วนใหญ่ 69.6% ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลที่เป็นความรู้ 68.1% ใช้แชทผ่าน twitter, facebook, msn, yahoo, icq   63.6% ดาวน์โหลดเพลง / ภาพยนตร์  58.6% เล่นเกม  48.1% รับ-ส่ง อีเมล 44.3% ติดตามข่าวสาร  35.4% ดาวน์โหลดโปรแกรม 19.1% อ่านกระทู้ ตั้งกระทู้ 12.4% ซื้อของ/ ช็อปปิ้ง 12.2% แชทในห้องแชทรวม และ 8.3% ดู/โหลดภาพ/คลิปโป๊

เมื่อสอบถามถึงการนัดเจอกับคนที่เพิ่งรู้จักทางอินเทอร์เน็ต พบว่า 4.1% เคยบ่อย/เกือบทุกครั้ง19.6% เป็นบางครั้ง ในขณะที่ 76.3% ไม่เคยเลย

แต่ที่น่าพิจารณาคือ 12.4% โกหกหรือให้ข้อมูลเท็จกับคนที่เพิ่งรู้จักทางอินเทอร์เน็ตบ่อยๆ หรือเกือบทุกครั้ง ในขณะที่ 46.3% โกหกเป็นบางครั้ง และ 41.3% เกินครึ่ง 55.3% เคยดูภาพโป๊ เว็บโป๊ทางอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ 44.7% ไม่เคยเลย

เมื่อถามถึงการเล่นเกมออนไลน์ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่56.9% เคยเล่น ในขณะที่ร้อยละ 43.1% ไม่เคยเล่น

นอกจากนี้ 37.1% มองว่าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น การทำระเบิด ฆาตกรรม ยาเสพติด ความรุนแรงทางเพศ เป็นเรื่องปกติธรรมดา / น่าสนใจ  27.2% รู้สึกตกใจ อันตราย / สะเทือนใจ 34.8% ระบุว่าไม่น่าสนใจ และ 0.9% ไม่เคยเข้าไปดูเว็บไซต์ลักษณะดังกล่าว

ผลสำรวจพบด้วยว่า ครึ่งหนึ่งหรือ 50.1% เกิดความรู้สึกอยากเลียนแบบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหารุนแรง  ในขณะที่  49.9% ไม่คิดลอกเลียนแบบเลย

 

 

 

ที่มา:  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code