“เหยื่อ..สงครามน้ำเมา” เสียงสะท้อนจากผู้สูญเสีย
เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก กิจกรรมรณรงค์ เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ 2568 เสวนาถอดประสบการณ์ “เหยื่อ…สงครามน้ำเมา”
ภาพโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
จากข้อมูล ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ช่วงปี 2562–2566 พบว่า มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กว่า 284,000 ราย ความสูญเสียเหล่านี้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 370,000 ล้านบาท และ คนไทยเกือบ 80% ได้รับผลจากการดื่มของผู้อื่นอย่างประมาณค่ามิได้
นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 ที่เชื่อมโยงกับมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งช่องปาก กล่องเสียง ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก เต้านม ตับ และตับอ่อน จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการ ลด ละ เลิกการดื่ม เพื่อปกป้องสุขภาพ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน
รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ม.สงขลานครินทร์ กล่าวถึงที่มาของปัญหาบนเวทีกิจกรรม เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ 2568 ซึ่งวันนั้น เราได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายชีวิตที่เคยล้มลงเพราะ ‘น้ำเมา’ ได้ดังขึ้นอีกครั้ง บนเวทีเสวนา ที่มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชน และครอบครัว ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ พร้อมเสวนาถอดประสบการณ์ ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพมหานคร
วันนั้น ‘เหยื่อ…สงครามน้ำเมา’ เรื่องจริงที่ได้ฟัง ไม่ใช่เพียงคำบอกเล่า แต่เป็นเรื่องจริงจากเสียงหัวใจที่หนักแน่นและจริงแท้ ที่กลายเป็นบาดแผลจากประสบการณ์ตรงยากจะลบเลือนของบางคนเกินกว่าจะเพิกเฉย
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. บอกว่า วันที่ 11 ก.ค. 2568 ปีนี้ ตรงกับวันเข้าพรรษา ชวนตัวเองเลิกดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา ให้เป็นศูนย์ “Zero drink Zero death” เป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางชีวิตใหม่ เริ่มวันนี้ ดีตั้งแต่วันนี้ โดยเลือกที่จะฟังเสียงจากใจของเราเอง เพื่อชีวิตที่มั่นคง สุขภาพและครอบครัวที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงจริงจึงขอเชิญชวนร่วมลงชื่อปฏิญาณตนออนไลน์ ได้ที่ noalcohol.ddc.moph.go.th
อีกทั้งได้นำเรื่องราวผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มมาแบ่งปันประสบการณ์จริง 4 มุม 4 คน จากคุณพ่อที่สูญเสียลูกชายจากพิษสุรา ผู้หญิงที่ต้องหนีจากสามีที่ติดเหล้าเพื่อความปลอดภัยของลูก อดีตเยาวชนที่ชีวิตพลิกผันเพราะเลือกดื่มตามเพื่อน และนักกีฬาผู้พิการที่ประสบอุบัติเหตุจากผู้อื่นเมาแล้วขับ ล้วนเป็นเสียงเตือนใจ ให้ผู้ไม่ยอมละ เลิกดื่ม ย้อนกลับมาดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนรอบตัว ก่อนจะสายเกินไป
บาดแผลจากเหล้าของพ่อผู้เสียลูกชายที่ไม่มีวันลืม
“ผมเสียลูกชายไปตอนเขาอายุแค่ 30 ปี ด้วยตับวายจากการดื่มเหล้ามาหลายปี” เสียงสั่น ๆ ของ ลุงไสว ไพรศาล อายุ 65 ปี คนขับรถสามล้อรับจ้างย่านหัวลำโพง ด้วยเสียงสั่นเครือสะกดทุกความเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง
เล่าว่า ลูกชายเริ่มดื่มตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ดื่มกับเพื่อนสนุก ๆ จนกลายเป็นติดเหล้าในระดับที่ต้องพกขวดติดตัว แม้รู้ตัวว่ามีโรคประจำตัวอย่างลมชัก แต่ก็ยังไม่หยุด เตือนทุกวันด้วยความรัก ห่วงใย จนท้ายที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายลูกเริ่มเหนื่อยง่าย กินข้าวไม่ได้ ตัวซีด เหลืองลงเรื่อย ๆ จนพาเขาไปโรงพยาบาล
หมอบอกว่าเขาตับวายและปอดติดเชื้อ ทรุดหนักจากผลของการดื่มต่อเนื่องมาหลายปี รักษาได้แค่ประคอง และในเวลาไม่นาน ลูกชายก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ
“ถ้าเลิกได้… เลิกเถอะ อย่ารอให้เหล้ามาพรากชีวิต” คือ คำฝากจากพ่อคนหนึ่ง ที่กลายเป็น “เหยื่อทางอ้อม” ของน้ำเมาด้วยน้ำตา
อีกด้านของเหยื่อในสงครามนี้…คือ “ผู้หญิง” คนหนึ่ง เมื่อความรักพ่ายแพ้ต่อสุรา
“เขาเคยเป็นคนดี มีงานทำ แต่พอเริ่มดื่มหนัก ชีวิตก็เปลี่ยนไปหมด” นางสาวตวิษา ปานแม้น ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว เล่าด้วยสีหน้าเศร้า ๆ ถึงอดีตแฟน ผู้เคยเป็นความหวังของครอบครัว แต่กลับกลายเป็นฝันร้ายจากฤทธิ์สุราเข้าครอบงำ การทำงาน การดูแลครอบครัว และแม้แต่ความเป็นพ่อ ก็ถูกละทิ้ง สุดท้ายเราต้องเลือกพาลูกหนีออกมา เพื่อรักษาชีวิตของลูกไว้ แม้วันนี้ชายคนนั้นจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่บาดแผลในใจยังคงอยู่
จากเด็กซื้อเหล้าให้รุ่นพี่ สู่ผู้ต้องหาพยายามฆ่า
นายชัยพฤกษ์ มีแท่ง อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เขาโตมาในชุมชนแออัด ชีวิตวัยรุ่นผูกติดกับสนามบอลข้างบ้าน รุ่นพี่ที่นั่นไม่ได้ส่งต่อแค่ลูกบอล…แต่ส่งเหล้า และเพื่อจะเป็นที่ยอมรับในกลุ่ม สุดท้ายกลายเป็น “ผู้กระทำ” การดื่มทุกวัน พาเขาไปสู่แก๊งอันธพาล เมาแล้วใช้ความรุนแรง และจบลงที่ “บ้านกาญจนาภิเษก” ตอนนี้เขาเปลี่ยนแล้ว เด็กคนนั้นไม่อยู่ในตัวเขาอีกต่อไป และเขาตั้งใจเล่าเรื่องนี้…เพื่อไม่ให้ใครต้องก้าวเดินซ้ำรอย” นายขัยพฤกษ์ กล่าว
ฝันของนักกีฬาผู้พิการ…ที่ถูกแอลกอฮอล์ขโมยไป
“จากการเมาแล้วขับเพียงคืนเดียว ผมพิการตลอดชีวิต เพื่อนคอหักตายคาที่…” นายธีรภัทร์ กุลพิศาล นักกีฬาผู้พิการทีมชาติไทย และเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ
“ผมมีความฝันอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ ตั้งแต่ห้าขวบด้วยความมุ่งมั่น แต่วัยรุ่นที่เที่ยวบ้านเพื่อน ดื่มในรถ ขับไปด้วยดื่มไปด้วย กลายเป็นจุดพลิกผันของชีวิต หลังจากปาร์ตี้ข้ามคืนรถกระบะที่เพื่อนเป็นคนขับ พุ่งชนเสาไฟฟ้าเต็มแรง เพราะเมาและพักผ่อนไม่พอ เพื่อนคนหนึ่งเสียชีวิตทันที ส่วนเขานอนอยู่ท้ายกลายเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว ณ ตรงนั้น
ธีรภัทร์ ใช้บาดแผลเป็นแรงผลัก กลับมาจับดาบในฐานะนักกีฬาผู้พิการทีมชาติ “อย่าดื่มแล้วขับเลยครับ ไม่ใช่แค่คุณที่เสี่ยง คนในรถข้างทาง ครอบครัว…จะเจ็บไปด้วยหมด” เสียงหนักแน่นของธีรภัทร์ จากคนที่เคยสูญเสียความฝัน และได้ชีวิตใหม่จากการไม่ยอมแพ้ยังก้องเตือนใจ ณ ที่นั่นทุกคน
สสส. ขอร่วมเป็นกำลังใจเล็ก ๆ ที่ช่วยให้ทุกหัวใจที่กำลังเริ่มต้นใหม่ เข้าพรรษานี้ งดเหล้า วางแก้ว แล้วเราจะได้เห็นความสุขของคนที่คุณรักท่ามกลางชีวิตที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ก็มีความสุขได้มากกว่าที่เคยเป็น ได้กอดลูก กอดพ่อ กอดความหวังได้อีกนาน