เยาวชนรวมพลังตั้ง ‘แก๊งปากดี’ จับตาเหล้าบุหรี่โฆษณาออนไลน์
ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อเด็ก และเยาวชนไทยเป็นอย่างมาก และเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญของธุรกิจต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่หันมาทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก และทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว
http://www.facebook.com/gangpakdee
ดังนั้น เครือข่ายเยาวชนออนไลน์รู้ทันกลยุทธ์การตลาดเหล้า-บุหรี่ ในนาม “แก๊งปากดี” จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเด็กและเยาวชนที่สนใจกว่า 15 สถาบัน อาทิ โรงเรียนศึกษานารี วิทยาลัยราชพฤกษ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารราชกระบัง มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เยาวชนเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังสื่อโฆษณาเหล้า-บุหรี่ ในสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ รวมทั้งรู้เท่าทันสื่อที่เป็นพิษภัยกับตนเองและเพื่อน นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรมสร้างกระแส ในแนวทางที่เยาวชนเป็นผู้คิดโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจดังกล่าว
ลองมาฟังเสียงของเยาวชน ที่เข้ามาอยู่ในค่ายแก๊งปากดี คนแรก “น้องเน็ต” หรือนายศรัญ ราชสิงโห นักศึกษาวิทยาลัยราชพฤกษ์ บอกว่า จากสภาพแวดล้อมทางบ้าน ตลอดจนคนในชุมชน ส่วนใหญ่มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ แทบทั้งสิ้น เยาวชนที่อายุยังน้อยก็ต้องกลายเป็นนักดื่มและนักสูบหน้าใหม่ จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ตนตัดสินใจที่จะเข้าร่วมโครงการแก๊งปากดี เพราะเชื่อว่าจะสามารถนำสิ่งที่ได้จากการร่วมกิจกรรมไปต่อยอดในการแก้ปัญหา หรือชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพื่อที่จะช่วยกันบอกต่อถึงพิษภัยและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ให้กับคนทั่วไปได้รับรู้
ด้าน นายณัฐพงษ์ สุขเกษม หรือน้องณัฐ อายุ 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (abac) เล่าว่า เมื่อเดือนที่แล้วน้องของตนเพิ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก และไม่คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดกับคนใกล้ตัว ดังนั้นการสร้างความตระหนักในเรื่องของผลกระทบจากการดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ให้ แก่เยาวชน จึงควรมีการปลูกฝังตั้งแต่อนุบาล หรือในระบบการเรียนการสอนอาจจะสอดแทรกความรู้ลงไปให้เด็กได้เรียนรู้และซึม ซับตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อจะได้เป็นเกราะป้องกันในอนาคต นอกจากนี้ เยาวชนเองก็ควรมีจิตสำนึกและควรทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเอง ส่วนรวม และสังคม เพราะอย่างน้อยคำว่าเยาวชนก็หมายถึงอนาคตของประเทศชาติ การที่ประเทศจะไปในทิศทางใดก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา
ขณะที่ นายศรัณย์ แซ่เตียว หรือน้องโอเว่น อายุ 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (abac) เล่าว่า ในฐานะที่ตนเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นประจำทุกวัน จึงทำให้พบเห็นการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบต่างๆ ของธุรกิจเหล้า-บุหรี่ ที่พยายามหลอกล่อให้คล้อยตาม ที่ผ่านมามีเพื่อนหลายคนหลงเชื่อและลิ้มลองจนติด จนทำให้เสียสุขภาพและการเรียน ดังนั้น จึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ลดละเลิก เหล้า-บุหรี่ เพราะอยากนำความรู้ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ไปบอกต่อเพื่อนๆ ตลอดจนชวนมาร่วมทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกัน
“อย่างไรก็ตาม อยากเชิญชวนเพื่อนหรือคนที่สูบบุหรี่ให้ลดละเลิก หันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะทั้งเหล้าและบุหรี่ไม่ได้ให้ประโยชน์ มีแต่จะให้โทษ และอยากฝากถึงธุรกิจแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ว่าให้มีจิตสำนึกในการทำธุรกิจ อย่าหวังเพียงผลกำไรหรือเม็ดเงินที่จะเข้ามาเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึง ผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กเยาวชนซึ่งเปรียบเสมือนอนาคตของชาติ เปิดโอกาสให้เราได้โตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ใช่โตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนติดเหล้าบุหรี่” โอเว่น กล่าว
และนี่ก็คือเสียงสะท้อนของเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีดีแค่ปาก แต่ยังมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมอีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง